กพร.ไฟเขียวสำรวจแร่ลิเทียม “พังงา-กาญจน์” ชี้ยากแต่คุ้มค่า

Aditat
อดิทัต วะสีนนท์

กรมเหมืองฯอนุมัติออกอาชญาบัตรสำรวจแร่ลิเทียมที่พังงา ชี้ “แพนเอเชีย 2” มีเวลา 5 ปี แต่ยังต้องขออนุญาตผู้ว่าฯอีกที ส่วนที่กาญจนบุรีเป็นพื้นที่ทหาร ต้องขอกองทัพ-ธนารักษ์อีกรอบ ระบุเอกชนมั่นใจมีแร่มากพอตอบรับโจทย์ประเทศสู่ EV

นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากข้อมูลทางธรณีวิทยาเมื่อต้นปี 2567 ได้มีการพบแหล่งแร่ลิเทียมในพื้นที่จังหวัดพังงา ซึ่งขณะนั้นมีผู้ประกอบการบริษัท แพนเอเชีย 2 เมทัล (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นขออาชญาบัตรสำรวจ 2 แปลง พื้นที่รวม 11,587 ไร่ ได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 โดยจะสิ้นสุดอายุวันที่ 28 มีนาคม 2572 (ระยะเวลาสำรวจ 5 ปี)

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้เอกชนยังไม่สามารถขุดแร่ได้ เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวติดประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการควบคุมสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกาศนี้แม้จะหมดอายุไปแล้ว แต่ยังคงมีผลอยู่ เพื่อที่จะรอประกาศฉบับใหม่ที่ปรับปรุงในถ้อยคำข้อความว่า ห้ามทำเหมือง ยกเว้นเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง และต้องผ่านความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวถือว่าเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ดังนั้น ประกาศฉบับใหม่ หลังจากได้ผ่านคณะทำงานกฤษฎีกาแล้ว จะประกาศใช้และทางเอกชนก็สามารถยื่นคำขอประทานบัตรขุดเจาะได้

“ที่ผ่านมาเราได้พิจารณาอนุญาตให้อาชญาบัตรสำรวจแร่ลิเทียมในจังหวัดพังงา และเราก็รู้ข้อมูลจากผู้ประกอบการพบว่ามีแร่ลิเทียมอยู่ในไทยทางใต้ และทางตะวันตกคือ จังหวัดราชบุรี และกาญจนบุรี ซึ่งมีความเข้มข้นและมีปริมาณลิเทียมมากกว่าทางใต้ แต่ตรงกาญจนบุรี ติดเงื่อนไขว่าพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เขตความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งตามกฎหมายแร่ ห้ามอนุญาตให้ทำเหมือง แต่ไม่ได้ห้ามทำการสำรวจ

ดังนั้นจึงสามารถสำรวจได้ แต่ทำเหมืองไม่ได้ ซึ่งกระบวนการที่ผ่านมากว่าจะขออนุญาตพื้นที่ให้สำรวจได้ต้องอธิบายให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าใจหลายรอบ โดยเอกชนที่ได้อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจ คือ บริษัท ไทยเวสท์ นิว เมทัลส์ จำกัด ได้ใบอนุญาต 5 กันยายน 2567 จะสิ้นอายุ 4 กันยายน 2569 ขนาด1,090 ไร่ และบริษัท เรืองสินทวี จำกัด ได้อนุญาต 23 กุมภาพันธ์ 2567 สิ้นอายุ 22 กุมภาพันธ์ 2569 ขนาด 2,258 ไร่”

นายอดิทัตกล่าวว่า ตอนนี้กาญจนบุรีทางกองทัพบกโอเคแล้ว แต่มีความซับซ้อนขึ้นไปอีก คือ เจ้าของพื้นที่ คือ กรมธนารักษ์ ซึ่งแม้ทหารโอเค แต่ก็ต้องให้ธนารักษ์เห็นชอบด้วย หรือบางส่วนเป็นพื้นที่ป่าไม้ ก็ต้องขออนุญาตกรมป่าไม้เพื่อขอเข้าสำรวจอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสำรวจได้ แต่มีข้อห้ามทำเหมืองนั้น ทางเอกชนเชื่อว่าหากผลสำรวจพบแร่ลิเทียมในปริมาณที่คุ้มค่า มากเพียงพอต่อการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย EV 3.0-3.5 ของประเทศไทยได้ ก็เป็นไปได้ที่จะขอยกเว้นเป็นรายแปลง อีกทั้งข้อเท็จจริงพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่ถูกบุกรุกจากประชาชนทำเป็นที่อยู่อาศัยหมดแล้ว ดังนั้น เชื่อว่าถ้าสำรวจพบแร่ ก็มีโอกาสขอเจรจาและชี้แจงต่อทหารได้

ADVERTISMENT

“ช่วงนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐบาลสนับสนุนเต็มที่ ออกหน้าช่วยพูดคุยกับกองทัพจนสามารถสำรวจได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล ขณะนี้ทาง กพร.ได้อนุญาตอาชญาบัตรไปแล้ว การเข้าสำรวจที่ต้องขออนุญาตเจ้าของพื้นที่เป็นหน้าที่ของเอกชน”

สำหรับพื้นที่ภาคตะวันตก 1 แปลงผ่านกระบวนการทั้งหมดแล้ว ได้อนุญาตป่าไม้แล้ว 1-2 เดือนที่ผ่านมา น่าจะอยู่ระหว่างการสำรวจ ยอมรับว่ากระบวนการทำเหมืองแร่ในประเทศไทยมีความยากและต้องใช้เวลา ในมุมมองของนักอนุรักษ์ มองว่านี่คือสมบัติของชาติ ควรสงวนรักษาไว้ แต่ในมุมของภาคอุตสาหกรรม เห็นว่าถ้านำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ เป็นต้นทางให้กับภาคอุตสาหกรรมได้ โดยที่สามารถควบคุมลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ก็จะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

ADVERTISMENT