
ทรัมป์ 2.0 ใช้มาตรา 232 อ้างความมั่นคงขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก-อะลูมิเนียมทุกประเภท “ฟาดหาง” กระทบไทย หวั่นเหล็กจีนส่วนเกินความต้องการ “ทะลัก” เข้าประเทศ อะลูมิเนียมรอบนี้เจอหนักสุดจากเดิม 10% มารอบนี้เพิ่มเป็น 25% ด้านประธานกลุ่มเหล็ก ส.อ.ท.มองเป็นโอกาส ภาษี 25% “รีเซต” เก็บเท่ากันทุกประเทศ
หลังขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2 ได้เพียง 22 วัน “ทรัมป์” ก็ได้ทำตามนโยบายการค้าอเมริกาต้องมาก่อน หรือ America First Trade Policy ด้วยการอาศัยคำสั่งประธานาธิบดี (Excutive Order) ทยอยขึ้นกำแพงภาษีกับประเทศคู่ค้า ทั้งประเทศที่ “เกินดุล” การค้ากับสหรัฐและประเทศที่สหรัฐเห็นว่า ทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยมีแผนที่จะเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ภายในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้
ล่าสุดได้มีการลงนามในคำสั่งให้ใช้ มาตรา 232 (Section 232 Tariffs) ภายใต้กฎหมาย Trade Expansion Act of 1962 ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็ก (Steel) ร้อยละ 25 กับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าประเภทอะลูมิเนียม (Aluminum) จากทุกประเทศอีกร้อยละ 25 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มีนาคม 2568 จากข้ออ้างกระทำขึ้นเพื่อปกป้องความมั่นคงของสหรัฐ (National Security) จากการไหล่บ่าเข้ามาของสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในที่จะได้รับผลกระทบจากการค้าที่ไม่เป็นธรรมและกำลังการผลิตเหล็กที่ล้นเกินทั่วโลก
ทั้งนี้ กำลังการผลิตเหล็กในสหรัฐที่ผ่านมาได้ลดลงเหลือ 75.3-77.3% ขณะที่อะลูมิเนียมกำลังการผลิตลดลงระหว่าง 55-61% แม้ว่าจะมีการขึ้นภาษีนำเข้าภายใต้มาตรา 232 ในปี 2561 มาตั้งแต่สมัยทรัมป์ 1.0 แต่การขึ้นภาษีรอบนั้นมีการ “ยกเว้น” ให้เป็นรายประเทศ รวมทั้งการ “ยกเว้น” เป็นรายพิกัดกับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ มีผลทำให้การบังคับใช้ภาษีนำเข้าที่ผ่านมาไม่ได้ผล จนเป็นช่องโหว่ให้จีนที่มีกำลังการผลิตส่วนเกิน “ได้ประโยชน์” จากการส่งเหล็กเข้าไปในตลาดสหรัฐได้ ซึ่งจะแตกต่างจากทรัมป์ 2.0 ในขณะนี้ที่ประกาศใช้บังคับขึ้นภาษีร้อยละ 25 ทั้งเหล็กและอะลูมิเนียมกับทุกประเทศที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ
รีเซตภาษีนำเข้าเหล็ก
นายบัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การใช้มาตรา 232 เก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมในอัตราร้อยละ 25 จากทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทยในครั้งนี้ “ไม่ใช่ครั้งแรก” เนื่องจากในปี 2561 สมัยรัฐบาลทรัมป์ 1.0 ก็ได้ใช้มาตรานี้เรียกเก็บภาษีนำเข้าอยู่แล้ว เพียงแต่ครั้งนั้นแม้จะเก็บภาษีนำเข้าเหล็กร้อยละ 25 แต่เก็บภาษีนำเข้าอะลูมิเนียมเพียงร้อยละ 10 นั้นหมายความว่า รอบนี้ภาษีนำเข้าอะลูมิเนียมถูกเก็บเพิ่มขึ้นอีก 15% หรือ 10+15 เท่ากับภาษีเหล็ก 25%
“กลุ่มผู้ผลิตส่งออกสินค้าอะลูมิเนียมไปยังตลาดสหรัฐ น่าจะได้รับผลกระทบจากการที่ภาษีนำเข้าถูกปรับขึ้นไปอีกร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 25 ส่วนกลุ่มผู้ผลิตส่งออกสินค้าเหล็กมองว่า จะเป็นการ Reset การเก็บภาษีใหม่ จากเดิมในสมัยทรัมป์ 1.0 แม้จะเรียกเก็บภาษีร้อยละ 25 เท่ากับครั้งนี้ แต่มีการยกเว้นให้กับบางประเทศ มีการกำหนดโควตานำเข้าเหล็ก และเปิดให้มีการเจรจาขอนำเข้าแบบ Shipment by Shipment ได้ ทำให้มีบางประเทศได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น แคนาดา, เม็กซิโก, อาร์เจนตินา, ยูเครน, สหภาพยุโรป, เกาหลีใต้, อังกฤษ
ในขณะที่ไทยต้องเสียภาษีนำเข้าร้อยละ 25 เต็มตามจำนวน แต่ครั้งนี้สมัยทรัมป์ 2.0 ทุกประเทศถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 25 เท่ากันหมด โดยไม่มีการยกเว้น ส่งผลให้การแข่งขันส่งออกเหล็กไปยังตลาดสหรัฐอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบจากภาษีนำเข้า เป็นการเริ่มต้นใหม่ เท่ากับเป็นโอกาสที่โรงงานไทยจะแข่งขันได้ ขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตและการทำตลาดแข่งกับประเทศอื่น” นายบัณฑูรย์
ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กไทย จากการถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 25 “จึงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป” แต่สิ่งที่เป็นห่วงก็คือ การขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐจะทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น ดังนั้นจะมีเหล็กและอะลูมิเนียม “ส่วนที่ล้นเกิน” ความต้องการใช้ “ทะลัก” ออกมาสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย จะถูกเหล็กราคาถูกจากจีนดัมพ์เข้ามาขายในประเทศมากยิ่งขึ้น ขณะที่ไทยเองส่งออกเหล็กไปยังตลาดสหรัฐในปีที่ผ่านมา “น้อยมาก” คิดเป็นปริมาณไม่ถึง 200,000 ตัน หรือประมาณ 6,000 ล้านบาทเท่านั้น
ทั้งนี้ จากสถิติการส่งออกสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กและอะลูมิเนียมไปสหรัฐในปี 2567 เปรียบเทียบปี 2566 พบว่า เหล็กแผ่น (Flat Rolled) มีปริมาณ 44,112,648 กก. คิดเป็นมูลค่า 1,445.66 ล้านบาท หรือ 4.08%, เหล็กเส้นและลวดเหล็ก (Bars and Rods) 2,169,010 กก. มูลค่า 102.27 ล้านบาท หรือ -14.35%, หลอดและท่อเหล็ก (Tubes and Pipes) 136,053,868 กก. มูลค่า 4,747.32 ล้านบาท หรือ -72.24%, แท่งโลหะ (Ingots) 4 กก. มูลค่า 0.01 ล้านบาท หรือ -80.03% และสเตนเลส (Stainless) 10,286,111 กก. มูลค่า 933.15 ล้านบาท หรือ -10.93%
ผลิตภัณฑ์เหล็กประเภทตะปู ปริมาณ 74,292,287 กก. มูลค่า 2,749.47 ล้านบาท หรือ 22.05%, ลวดเกลียว เคเบิล 5,313 กก. มูลค่า 1.15 ล้านบาท หรือ -96%, แผ่นโลหะขึ้นรูปสำหรับตัวถังแทรกเตอร์ที่ทำจากเหล็ก 183,405,179 กก. มูลค่า 49,596.10 ล้านบาท หรือ 20.65%, ท่อนเหล็กและโพรไฟล์ทำด้วยอะลูมิเนียม 2,196,601 กก. มูลค่า 376.38 ล้านบาท หรือ 5.64%, แผ่น แผ่นบางและแถบทำด้วยอะลูมิเนียม 34,174,496 กก. มูลค่า 4,667.49 ล้านบาท หรือ 47.44%,
ฟอยล์อะลูมิเนียม 35,501,419 กก. มูลค่า 5,340.22 ล้านบาท หรือ 208.74%, หลอดและท่ออะลูมิเนียม 51,343 กก. มูลค่า 11.02 ล้านบาท หรือ 107.45%, อุปกรณ์ติดตั้งทำด้วยอะลูมิเนียมของหลอดและท่อ 133,894 กก. มูลค่า 97.60 ล้านบาท หรือ -3.80% และของอื่น ๆ ทำด้วยอะลูมิเนียม 11,420,698 กก. มูลค่า 2,394.30 ล้านบาท หรือ 147.91% รวมสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมไปตลาดสหรัฐตลอดปี 2567 มีปริมาณ 533,802,871 กก. คิดเป็นมูลค่า 72,462 ล้านบาท หรือ 4.45%
ท่อเหล็กยังไปได้ในตลาดสหรัฐ
รายงานข่าวจากกลุ่มผู้ผลิตท่อเหล็กข้อต่อเข้ามาว่า ที่ผ่านมาตลาดสหรัฐถือเป็นตลาดสำคัญของการส่งออกท่อเหล็กจากประเทศไทย จะเห็นได้ว่าในปี 2566 มีการส่งออก 383,545,571 กก. คิดเป็นมูลค่าถึง 17,101.86 ล้านบาท ในปี 2567 ส่งออกไป 136,053,868 กก. คิดเป็นมูลค่า 4,747.32 ล้านบาท แม้จะส่งออกลดลงจากปี 2566 แต่ก็ยังเป็นการส่งออกในปริมาณสูงสุดในกลุ่มผลิตภัณฑ์เหล็ก
ที่สำคัญในสมัยทรัมป์ 1.0 ก็มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 25 และยังมีการยกเว้นให้กับบางประเทศเสียภาษีนำเข้าต่ำกว่า “แต่ท่อเหล็กไทยก็ยังสามารถแข่งขันได้” มาครั้งนี้ (ทรัมป์ 2.0) ก็เชื่อว่าจะเป็นโอกาสของท่อเหล็กไทย เพราะแข่งขันกันในอัตราภาษีนำเข้า 25% เท่ากันทุกประเทศ
“เรื่องน่ากังวลของการส่งออกท่อเหล็กไปสหรัฐตอนนี้ก็คือ ภายใต้มาตรา 232 สมัยทรัมป์ 1.0 ที่เปิดฉากขึ้นกำแพงภาษีต่อต้านการส่งออกเหล็กของจีน ปรากฏมีโรงงานท่อเหล็กจากจีนบางส่วนย้ายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทยเพื่อส่งออกท่อเหล็กไปสหรัฐ ในส่วนนี้ต้องติดตามว่าสหรัฐจะตรวจสอบการย้ายฐานการผลิตเหล็กมายังประเทศอื่นหรือไม่
เนื่องจากครั้งนี้ในมาตรา 232 มีการกำหนดมาตรฐานอเมริกาเหนือใหม่ โดยการกำหนดให้การนำเข้าเหล็กต้อง “หลอมและเท” หรือ Melted and Poured และอะลูมิเนียมก็จะต้อง “หลอมและหล่อ” หรือ Smelted and Cast ภายในภูมิภาคเพื่อควบคุมการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมที่ไปตั้งโรงงานในประเทศอื่นทำการ “ตกแต่ง” ผลิตภัณฑ์เล็กน้อยเพื่อทำการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ เหมือนกับที่ดำเนินการในสมัยทรัมป์ 1.0” แหล่งข่าวกล่าว
หวั่นเหล็กจีนทะลักเข้าไทย
ด้านนายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กล่าวกับ ็ประชาชาติธุรกิจิ ว่า การใช้มาตรา 232 ครั้งนี้ถือว่าเป็น “วิกฤตหนักสุดในรอบ 30 ปี” ของอุตสาหกรรมเหล็กไทย ซึ่งอยู่ในสภาวะ Supply มากกว่า Demand อีกทั้งยังมีปัจจัยเรื่องของการโดนทุ่มตลาดเหล็กจากจีน การขึ้นภาษีเหล็กของทรัมป์ ขณะที่ไทยมีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Antidumping : AD) ซึ่งก็ช่วยได้ไม่ทั้งหมดเหมือนในอดีต
“ในอดีตพอเราโดนทุ่มตลาด พอมีการเรียกเก็บภาษีทุ่มตลาด หรือ AD คู่แข่งก็หายไป แต่มาตอนนี้เขาทุ่มตลาดเรา เราใช้มาตรการสกัดเขาก็ไม่หายไปไหน ยิ่งส่งสินค้าเหล็กเข้ามาทุ่มตลาดเรื่อย ๆ ไปกดราคาเหล็กในประเทศลงก็แข่งขันไม่ได้” นายวิโรจน์กล่าว
ส่วนเหล็กไทยทุกประเภทที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน 2567) 165,866 ตัน มูลค่า 6,644 ล้านบาท “นับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก” โดยสินค้าเหล็ก 5 อันดับแรกที่ส่งออกไปก็คือ ท่อเชื่อมมีตะเข็บประมาณ 40%, ท่อเชื่อมไร้ตะเข็บ 28%, เหล็กแผ่นรีดเย็น 17%, เหล็กแผ่นเคลือบสี 6.5%, เหล็กแผ่นหนา 4.9% และอื่น ๆ 3.6% ในทางกลับกัน ปี 2567 ประเทศไทยนำเข้าเหล็กจากประเทศต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 1) นำเข้าเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กจากประเทศจีน 42% 2) ประเทศญี่ปุ่น 33% 3) เกาหลี 22% ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ที่โดนมาตรการเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 25 จากสหรัฐ จึงมีแนวโน้มที่จะส่งออกเหล็กที่ล้นเกินไปยังประเทศอาเซียนและประเทศไทยมากขึ้น
สำหรับการบริโภคเหล็กของประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2567 มีการบริโภคอยู่ที่ 16.29 ล้านตัน ผลิตเองในประเทศ 6.29 ล้านตัน นำเข้า 11.4 ล้านตัน และส่งออก 1.39 ล้านตัน