
“นภินทร” รมช.พาณิชย์ เร่งผลักดันไทยพ้นจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List) ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ในปี 2568 นี้ ขณะที่ลงพื้นที่ ครม.สัญจร จ.สงขลา ดัน “ทรัพย์สินทางปัญญา” ต่อยอดธุรกิจด้วยนวัตกรรมย้ำ สินค้าต้อง “ขึ้นห้าง ไม่ขึ้นหิ้ง” สร้างรายได้ทั้งในและต่างประเทศ
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยระหว่างการลงพื้นที่ในการประชุม ครม.สัญจรนอกสถานที่ จังหวัดสงขลา ว่ากระทรวงพาณิชย์เร่งเดินหน้ายกระดับระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วยการพัฒนาศักยภาพของคน นำเอาองค์ความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้ในการต่อยอดธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการทั่วทุกภูมิภาคของไทย ด้วยความร่วมมือทั้งรัฐและเอกชน
”ปัญหาที่กระทบเศรษฐกิจ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นส่วนสำคัญ ทั้งระบบเศรษฐกิจของไทยและความปลอดภัยของประชาชน เพราะการใช้สินค้าปลอมที่ไม่มีคุณภาพและไม่ได้มาตรฐาน”
โดยนอกจากนี้ยังพบว่าไทยยังถูกจัดอยู่ในบัญชี ประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List) ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (United States Trade Representative: USTR) ซึ่งจะมีการประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญทุกปีในช่วงเดือนเมษายน และในปี 2568 นี้ ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยถูกถอดออกจากบัญชีดังกล่วให้ได้
ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมดำเนินการปราบปรามสินค้าละเมิดอย่างเข้มข้นต่อไป รวมไปถึงการพัฒนาระบบการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้มีประสิทธิภาพ
“ผมเชื่อว่ามาตรการเหล่านี้จะมีประโยชน์ในการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามีผลโดยตรง และโดยอ้อมกับประเทศ สร้างประชาชนให้เป็นนักคิดนวัตกรรม ตลอดจนนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่น และดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก”
นายนภินทรกล่าวอีกว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ยังได้มอบกรมทรัพย์สินทางปัญญาผลักดันผลงานนวัตกรรมในเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างจริงจัง พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ประกอบการนวัตกรรมกว่า 12 ผลงาน อาทิ เจลบอลน้ำลายเทียม หมอนป้องกันแผลกดทับ เป็นต้น ซึ่งจะต้องเร่งส่งเสริมช่องทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ของไทยในกลุ่มพื้นที่ภาคใต้ผ่านเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์
รวมถึงการนำสินค้าไปในงานแสดงสินค้าต่าง ๆ เพื่อสร้างการตระหนักรับรู้ ช่วยส่งเสริมนำนวัตกรรมขึ้นห้างไม่ขึ้นหิ้ง โดยมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 200 ล้านบาท และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน
พร้อมมอบหนังสือสำคัญการจดทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรให้แก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และผู้ประกอบการเพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม และยังได้มอบแนวนโยบายและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแก่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ โดยบูรณาการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เดินหน้าปราบปรามการละเมิดอย่างจริงจัง ทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ต่อไป
พาณิชย์จับมือเจ้าของแพลตฟอร์มระงับขายของละเมิด
นางสาวนุสรา กาญจนกูล อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาจัดบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต ครั้งที่ 1/2568 ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและเจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ แพลตฟอร์ม ลาซาด้า ช้อปปี้ และติ๊กต๊อกช็อป เพื่อพิจารณาแนวทางความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สิน ทางปัญญาบนแพลตฟอร์มออนไลน์
ปัจจุบันมีผู้ลงนามบันทึกข้อตกลงเพิ่มขึ้นจากเดิม รวมทั้งสิ้น 39 ราย โดยมีเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาได้แจ้งขอให้ระงับการขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ จำนวน 1,670 รายการ และเจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ระงับการขายสินค้าละเมิดไปแล้ว จำนวน 1,670 รายการ (คิดเป็นร้อยละ 100)
ทั้งนี้ รายการสินค้าที่มีการแจ้งข้อมูลละเมิด เช่น ลิขสิทธิ์เพลง เสื้อผ้า อะไหล่ยนต์หรือเครื่องยนต์ เครื่องสำอาง เป็นต้น นอกจากนี้ การจับกุมปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ ในปี 2567 มีการจับกุม จำนวน 295 คดี ยึดของกลางได้ 219,512 ชิ้น มูลค่าความเสียหาย 73,365,855 บาท
ที่ผ่านมา กรมได้รับความร่วมมือจากแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นอย่างดี และจะใช้กลไกความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงในการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ รวมทั้งเสริมสร้างองค์ความรู้และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไม่ขายสินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อสร้างความไว้วางใจของผู้บริโภคต่อระบบการซื้อขายสินค้าออนไลน์ต่อไป
อย่างไรก็ดี การดำเนินการเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ และการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยตามกฎหมายการค้าของสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301)
ล่าสุด สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ได้ประกาศรายงานทบทวนรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงทั่วโลก (Notorious Markets) ประจำปี 2567 ประเทศไทยไม่ได้ถูกระบุชื่อตลาดออนไลน์ที่มีการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงโดยตรง
ปี’67 จับกุม “สินค้าก๊อปปี้” เสียหายกว่า 600 ล้านบาท
นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับกองอํานวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พร้อมหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมคณะทำงานปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ครั้งที่ 1/2568 เพื่อรวบรวมผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาและกำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
“การประชุมครั้งนี้คณะทำงานปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมศุลกากร และหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ มีการเน้นย้ำ ถึงความสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือในการปฏิบัติงาน เพื่อให้การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งการเฝ้าระวังในแหล่งพื้นที่เสี่ยงพบการขายของปลอมและพื้นที่ที่เป็นตลาด ที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูง (Notorious Markets) และการสกัดกั้นการลักลอบขนส่งสินค้าละเมิดบริเวณด่านชายแดนด้วย”
โดยปี 2567 มีการจับกุมและดำเนินคดีสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา 1,304 คดี ยึดของกลางได้ 2,788,489 ชิ้น มูลค่าความเสียหาย 686,465,320 บาท
ทั้งนี้ หากพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สามารถแจ้งเบาะแสมายังกองป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 0-2547-4702 หรือสายด่วน 1368