
GPSC ปี 2567 กำไร 4,062 ล้านบาท โต 10% รับโรงไฟฟ้า SPP ที่เพิ่มขึ้น 3,057 ล้านบาท เหตุปริมาณความต้องการไฟฟ้าและไอน้ำลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่ม พร้อมบริหารต้นทุนมีประสิทธิภาพ
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในรอบ 12 เดือน ปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิมูลค่า 4,062 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 368 ล้านบาท หรือ 10% เมื่อเทียบกับปี 2566
โดยหลักจากกำไรขั้นต้น 20,984 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,122 ล้านบาท หรือร้อยละ 6 สาเหตุหลักมาจาก โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ที่เพิ่มขึ้น 3,057 ล้านบาท อันเนื่องมาจากปริมาณความต้องการไฟฟ้าและไอน้ำของลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น
รวมถึงบริษัทได้มีการบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิง ทั้งก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าค่า Ft ซึ่งเป็นองค์ประกอบบางส่วน เฉพาะผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าที่ส่งผลต่อราคาขายไฟฟ้าอุตสาหกรรมจะลดลงก็ตาม
แต่บริษัทยังคงมีโครงสร้างรายได้หลักในส่วนของไฟฟ้า ไอน้ำที่ส่งผ่านต้นทุนได้ โรงไฟฟ้าผู้ผลิตอิสระ (IPP) ลดลง 2,021 ล้านบาท เนื่องจากโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน มีค่าเชื้อเพลิงส่วนต่าง (Energymargin) ลดลง ซึ่งเป็นผลทางบัญชี ที่ราคาต้นทุนถ่านหินเฉลี่ยจากถ่านหินคงคลังสำหรับปี 2567 สูงกว่ารายได้ค่าถ่านหินที่สามารถเรียกเก็บจาก กฟผ.
ส่วนผลดำเนินงานไตรมาส 4/67 มีกำไรสุทธิจำนวน 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 230 ล้านาท หรือ 30% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/67 สาเหตุหลักจากเงินปันผลรับและส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม และการร่วมค้าจำนวน 473 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 429 ล้านบาท (ไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 44 ล้านบาท)
สาเหตุหลักมาจากโรงไฟฟ้า XPCL มีผลประกอบการดีขึ้น จากปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้น ขณะที่บริษัท นูออโว พลัสในไตรมาส 3/67 มีการบันทึกผลขาดทุนจากการขายทรัพย์สินโรงงานแบตเตอรี่ ซึ่งในไตรมาส 4/67 ไม่มีรายการดังกล่าว รวมถึง AEPL มีผลประกอบการดีขึ้นตามปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้นตามค่าความเข้มแสงที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล
แนวโน้มปี 2568
อัตราค่าไฟฟ้า : อัตราค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม-เมษายน 2568 อยู่ที่ 4.15 บาท/หน่วย ลดลงจากงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 ซึ่งอยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย อีกทั้งยังมีส่วนลดค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนในกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยคิดอัตราค่าไฟ 3.99 บาทต่อหน่วย
ซึ่งจะส่งผลให้สิ้นเดือน เม.ย. 2568 คาดว่าจะยังเหลือหนี้ที่ประชาชนต้องจ่ายคืน กฟผ.และรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ (กฟผ. และ ปตท.) ที่แบกรับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนในช่วงที่ผ่านมามากกว่า 85,226 ล้านบาท ซึ่งการลดค่าไฟฟ้าดังกล่าวเท่ากับเป็นการยืดภาระหนี้ดังกล่าวออกไป และอาจมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังได้ส่งสัญญาณถึงความพยายามลดค่าอัตราค่าไฟฟ้า ผ่านกลไกต่าง ๆ ซึ่งยังคงต้องรอดูความชัดเจน เนื่องจากมีประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาและพิจารณารายละเอียดการลดอัตราค่าไฟฟ้าว่าจะเกิดจากกลไกด้านต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติและจากผู้ผลิตไฟฟ้า หรือจากค่าใช้จ่ายด้านการรับซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ราคาก๊าซธรรมชาติ : คาดการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศ (Pool Gas) ในปี 2568 อยู่ที่ 303 บาทต่อล้านบีทียูใกล้เคียงกับปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 304 บาทต่อล้านบีทียู แต่ราคาก๊าซธรรมชาติยังอาจผันผวนจากความเสี่ยงของราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งประเทศไทยมีการนำเข้าประมาณร้อยละ 30 ของอุปทานก๊าซธรรมชาติประกอบกับสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านอุปทาน ภายหลังสัญญาข้อตกลงการส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียผ่านยูเครนสู่ยุโรปสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม 2567 โดยไม่มีการต่อสัญญา ประกอบกับความต้องการในช่วงฤดูหนาวซึ่งมีแนวโน้มอุณหภูมิต่ำกว่าปกติในยุโรป แม้ว่าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ จะมีนโยบายสนับสนุนการเพิ่มกำลังการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลก็ตาม แต่คาดว่ายังต้องใช้เวลาสักระยะจึงจะมีแหล่งอุปทานใหม่เข้ามาในตลาด
4 ปัจจัยสะท้อนการเติบโตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการดำเนินงานหรือการเติบโตในอนาคต ข้อแรก คือ “ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ” บนสมมุติฐานค่าเฉลี่ยความยืดหยุ่นของปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่อการเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอยู่ที่ประมาณ 0.9 เท่า และการคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ร้อยละ 2.9 ในปี 2568
โดยธนาคารแห่งประเทศไทยทำให้ประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.6 ในปี 2568 โดยการใช้ไฟฟ้าในประเทศที่สูงขึ้นจะมีผลต่อการเรียกเดินเครื่องโรงไฟฟ้าโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และรวมถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรม หากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเป็นไปได้ด้วยดี
ต่อมา คือ “ต้นทุนเชื้อเพลิงนำเข้า” โดยเฉพาะ LNG ที่มีการปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 ซึ่งอาจจะส่งผลให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น ขณะที่ค่า Ft มีแนวโน้มปรับตัวลดลง (อัตราค่าไฟฟ้างวดมกราคม-เมษายน 2568 เท่ากับ 4.15 บาท
ขณะที่งวดกันยายน-ธันวาคม 2567 เท่ากับ 4.18) ตามนโยบายของภาครัฐที่พยายามรักษาระดับค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่าต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่า Ft จะมีผลโดยตรงต่อรายได้การขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนหนึ่งมีโครงสร้างสัญญาเชื่อมโยงกับอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศ ทั้งนี้บริษัทคาดว่าจะมีผลกระทบในระดับที่จำกัดเนื่องจากสัญญาส่วนใหญ่สามารถส่งต่อต้นทุนพลังงานไปยังราคาขายได้
ข้อสาม คือ “การปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าในอนาคต” อาจส่งผลกระทบต่อราคาขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมที่อ้างอิงตามราคาขายปลีกของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
และ “การเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access : TPA)” เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดเสรีในธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด โดยผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับลูกค้านอกพื้นที่ได้โดยตรง (Direct PPA) ส่งผลให้การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนถูกขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนได้อย่างรวดเร็ว