ชาวไร่ร้องขอความเป็นธรรม อ้อยไฟไหม้ไม่ใช่ตัวการหลักฝุ่น PM 2.5

อ้อยไฟไหม้

โรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยเกินครึ่งทาง พบอ้อยไฟไหม้สะสม 10 ล้านตัน หรือ 124,640 ตัน/วัน คิดเป็น 11% ขณะที่สหพันธ์ชาวไร่อ้อยออกเอกสารแจงฝุ่น PM 2.5 เกิดจากอ้อยไฟไหม้แค่ 0.91% เท่านั้น

การแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ยังเป็นที่ถกเถียงกันต่อไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่า “อ้อยไฟไหม้” เป็นตัวการอันดับหนึ่งที่ก่อให้เกิดฝุ่นมลพิษ PM 2.5 จริงหรือไม่ ล่าสุดสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ได้ออกมาร้องขอความเป็นธรรมจากข้อกล่าวหาดังกล่าว ทว่าโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ในประเทศก็ยังรับซื้ออ้อยไฟไหม้เกินกว่าที่กำหนดไว้อยู่ดี ส่งผลให้สถานการณ์อ้อยไฟไหม้ในขณะนี้อยู่ที่ 11% แล้ว

ล่าสุด สำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย ได้รายงานตัวเลขอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิต 2567/2568 ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ปรากฏมีอ้อยเข้าหีบทั้งหมด 70,102,949.530 ตัน (ประมาณการณ์ผลผลิตอ้อย 92 ล้านตัน) คิดเป็นหีบอ้อย/วัน 1,069,496.305 ตัน ในจำนวนนี้เป็นการหีบอ้อยสด 944,855.770 ตัน/วัน % อ้อยสดต่อวัน 88.35% หีบอ้อยเผาไฟหรืออ้อยไฟไหม้ 124,640.535 ตัน/วัน หรือคิดเป็น % อ้อยเผาไฟ/วัน อยู่ที่ 11.65% รวมหีบอ้อยสดสะสม 59,851,282.735 ตัน และหีบอ้อยเผาไฟสะสม 10,251,666.795 ตัน

ด้าน สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ได้ออกเอกสารชี้แจงเรื่อง ปัญหาอ้อยไฟไหม้สร้างมลพิษ PM 2.5 อย่างมากมายจริงหรือไม่ จากในอดีตที่ประเทศไทยเคยมีอ้อยไฟไหม้อยู่ถึง 70% โดยชาวไร่อ้อยได้ช่วยกันลดการเผาอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลลงในปี 2565/2566 อยู่ที่ 30% และตั้งเป้าที่จะลดลงให้เหลือ 25% ให้ได้

พร้อมกับแจกแจงปัญหาอ้อยไฟไหม้เกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ เกิดจากการเผาโดยคึกคะนองจากผู้ติดยา การทิ้งก้นบุหรี่ การเผาขยะลามติดไร่อ้อย ถูกกันแกล้ง คนตัดอ้อยเผาโดยภาระการณ์ ไฟไหม้ไร่อ้อยก่อนที่จะเปิดหีบส่งเข้าโรงงานน้ำตาลเป็นเดือน ๆ และการเผาไร่อ้อยก่อนฝนตกหนักเพื่อให้ทันกับการตัดอ้อยเข้าโรงงาน

ในขณะที่การทำไร่อ้อยของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น บราซิล, ออสเตรเลีย ก็มีอ้อยไฟไหม้ส่งเข้าโรงงานน้ำตาล ทั้งไฟไหม้จากอากาศแล้ง ไปจนถึงการขออนุญาตเผาอ้อย นั้นหมายความว่าทุกประเทศที่ปลูกอ้อยก็มี “อ้อยไฟไหม้” ในขณะที่การเผาอ้อยในประเทศไทยทางสหพันธ์ชาวไร่อ้อยเชื่อว่า “มีสัดส่วนที่น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ” นอกจากนี้ยังมีการอ้างรายงานของกรุงเทพมหานครที่ว่าฝุ่นมลพิษ PM 2.5 เกิดจากภาคการเกษตรเพียง 1% (51% มาจากรถบรรทุก 21% มาจากโรงงานอุตสาหกรรม 10% มาจากครัวเรือน 6% มาจากการเผาในที่โล่ง)

ADVERTISMENT

โดยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาสามารถตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ได้สูงขึ้น ในขณะที่ช่วงเวลาดังกล่าวชาวไร่อ้อยยังไม่ได้ทำการตัดอ้อย และยังไม่มีการเผาอ้อยเกิดขึ้น

นอกจากนี้ สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ยังอ้างผลการศึกษาของกรรมาธิการวุฒิสภาในปี 2566 พบว่า ฝุ่น PM 2.5 เกิดจากการเผาในที่โล่งแจ้งเพียง 2% ในจำนวนนี้เป็นการเผาในไร่อ้อยเพียง 0.91% เท่านั้น

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม ชาวไร่อ้อยยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ลงให้เหลือน้อยที่สุด โดยขอมาตรการส่งเสริมปัจจัยการผลิตเมื่อราคาอ้อยต่ำกว่าต้นทุนการผลิตจากรัฐบาล

ล่าสุดมีบริษัทเอกชนหลายบริษัทสามารถผลิต “เครื่องตีใบอ้อย” เพื่อใช้ตีใบ/กากใบแห้งติดตามลำต้นได้ ส่งผลให้การตัดอ้อยสดไม่ว่า จะใช้แรงงานหรือใช้เครื่องตัดติดข้างรถไถสามารถทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ได้ โดยสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแสดงความต้องการที่จะให้รัฐบาลสนับสนุนการนำเครื่องตีใบอ้อยมาใช้ในไร่อ้อยต่อไป