
สัมภาษณ์พิเศษ
อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เป็นอุตสาหกรรมอันดับ 3 ที่ส่งออกและสร้างรายได้สูงสุดให้กับประเทศ และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันผู้ประกอบการและผู้ส่งออกจะมีความกังวลในเรื่องสงครามการค้า จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปในตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นตลาดสำคัญของไทย โดยภาพรวมการส่งออกในปี 2567 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 18,424 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาท 626,000 ล้านบาท ขยายตัว 24.60% จ้างแรงงานในอุตสาหกรรมถึง 1 ล้านคน
ประชาชาติธุรกิจได้สัมภาษณ์พิเศษ นายวิบูลย์ หงษ์ศรีจินดา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ การส่งออกในปี 2568 รวมไปถึงภายใต้ปัจจัยเศรษฐกิจโลก ปัญหาสงครามการค้าและการแข่งขันที่เกิดขึ้น
ราคาขาขึ้นคาดปีนี้โตน้อย
สําหรับแนวโน้มส่งออกในปี 2568 ผมมองว่ามีโอกาสเติบโต 5% ซึ่งถือเป็นการประเมินที่ค่อนข้างตํ่า หากดูภาพการส่งออกในปีที่ผ่านมา แต่เป็นเพราะโลหะมีค่าอย่างทองและเงินกําลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ส่งผลให้ราคามีความผันผวนสูง อาจทําให้ผู้ซื้อชะลอคําสั่งซื้อหรือปรับลดปริมาณการนําเข้าเพื่อลดความเสี่ยงด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น โลหะเงิน ตอนนี้ราคา 31 เหรียญสหรัฐต่อทรอยออนซ์
แต่อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยยังมีศักยภาพสูง และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสําคัญที่สร้างมูลค่าส่งออกให้กับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากจะรักษาการเติบโตไว้ได้ ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างพันธมิตรทางการค้ากับตลาดโลก รวมถึงผลักดันมาตรการส่งเสริมการส่งออกที่ชัดเจน
“อยากให้ภาครัฐ โดยภายใต้การนําของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสําคัญกับการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยให้อยู่ในระดับสากลมากขึ้น เรามีช่างฝีมือที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับในระดับโลก และเรายังเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมส่งออกหลักของประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน เรายังขาดการสนับสนุนที่ต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาวได้
อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไม่ควรถูกมองข้าม เพราะหากไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจนและเหมาะสม อาจทําให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับแรงกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้น และอาจจะนําไปสู่การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าจ้างแรงงานตํ่ากว่า และได้รับสิทธิพิเศษทางการค้ามากกว่า ทําให้ไทยสูญเสียโอกาสสําคัญในตลาดโลกได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าพฤติกรรมการบริโภคมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องก้าวให้ทัน”
หวังไทยขึ้นชั้นผู้นำเทรนด์โลก
ประเทศไทยถือว่าเป็นฐานการผลิตอัญมณีที่สําคัญของโลก สิ่งที่อยากเห็นคือ ประเทศไทยเป็นผู้นําในการกําหนดเทรนด์ของโลก ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ (Design) หรือการกําหนด Color of the Year สําหรับอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อสร้างอิทธิพลต่อวงการเหมือนที่ยุโรปเคยทํามา โดยไทยเองมีนักออกแบบที่มีศักยภาพจำนวนมาก และการผลิตที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะกระบวนการเผาพลอยของไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลก ความรู้นี้ควรได้รับการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นและต้องได้รับการปกป้องไม่ให้รั่วไหลออกนอกประเทศ
เราจึงจำเป็นต้องสร้างดีไซน์ จุดเด่นสินค้า ให้เป็นที่รองรับ และดึงดูดลูกค้า ผู้ซื้อใหม่ ๆ เพิ่มเติม อุตสาหกรรมอัญมณีไทยมีจุดแข็งที่คู่แข่งยากจะเลียนแบบ และเรามีช่างฝีมือที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานระดับมาสเตอร์พีซ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดระดับไฮเอนด์ได้ จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นําในการกําหนดทิศทางของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับโลกในปี 2026
แนะหนีทรัมป์ขาย ตอ.กลาง
นโยบายทรัมป์ 2.0 เป็นประเด็นที่น่ากังวล โดยเฉพาะการปรับขึ้นภาษีขาเข้าสําหรับอัญมณีและเครื่องประดับไทย ที่อาจเกิดขึ้นหากสหรัฐมองว่าไทยถูกใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งผ่านไปยังสหรัฐ ซึ่งจากการติดตาม โอกาสจะโดนภาษีก็มี เพราะอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สหรัฐเสียดุลการค้า ปัจจุบันภาษีนำเข้าอยู่ที่เฉลี่ย 5-5.5% อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรพึ่งพาตลาดสหรัฐเพียงอย่างเดียว แม้ว่าจะเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีกําลังซื้อสูง
แต่การขยายตลาดไปยังภูมิภาคอื่นก็เป็นสิ่งจําเป็น โดยเฉพาะตลาดยุโรปและเอเชีย อาเซียน รวมถึงตลาดอาหรับที่กําลังเติบโต ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าหลายประเทศเริ่มหันไปลงทุนในตะวันออกกลางมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ากําลังซื้อและความต้องการบริโภคสินค้าหรูหราก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
สิ่งสำคัญที่อยากเน้นยํ้าคือ การแข่งขันภายในประเทศเอง ผู้ประกอบการไทยไม่ควรเน้นการแข่งขันด้วยการตัดราคาเพียงอย่างเดียว เข้าใจดีว่าทุกคนต้องการความอยู่รอด แต่หากมองในระยะยาว การแข่งขันแบบนี้อาจส่งผลเสียต่อทั้งอุตสาหกรรม เนื่องจากค่าแรงและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ซึ่งอาจจะทำให้คู่แข่งของไทยมีโอกาสเข้ามามีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นได้ ดังนั้น ควรแข่งขันที่การออกแบบ ศักยภาพของสินค้า การเพิ่มมูลค่ามากกว่า
แนวทางที่เราควรมุ่งเน้นคือ การยกระดับคุณภาพงาน พัฒนามาตรฐานสินค้า และสร้างความแตกต่าง หากไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้มีคุณภาพสูงขึ้น รักษาจุดแข็งด้านฝีมือช่าง และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ เราจะสามารถยืนหยัดในตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่ง แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าระหว่างประเทศก็ตาม
งานบางกอกเจมส์ 22-26 ก.พ.นี้
งานแสดงสินค้า Bangkok Gems and Jewelry ครั้งที่ 71 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 22-26 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นงานแสดงสินค้าอัญมณี 1 ใน 3 ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รองจากอิตาลี โดยงานนี้ยังคงได้รับการตอบรับจากทั้งผู้ประกอบการ ผู้ซื้อจากทั่วโลกและคาดว่าจะมีเงินสะพัดประมาณ 4,000 ล้านบาท ภายในงานจะมีการจัดนิทรรศการงานแสดงทั้งของผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ และสินค้าไทยที่มีความประณีต เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เพราะอุตสาหกรรมของเรามีศักยภาพที่สามารถแข่งขันกับแบรนด์ชั้นนําระดับโลกได้
แต่ที่ผ่านมา เรามักเป็นเพียงผู้ผลิตที่อยู่เบื้องหลัง ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้และฝีมือของเราไปสร้างแบรนด์ให้โดดเด่น เพราะสิ่งที่เราขาดหายไปคือการประชาสัมพันธ์การเป็นศูนย์กลาง Gems and Jewelry Hub อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้การยกระดับและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืนจะช่วยลดอุปสรรคในการส่งออก สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน
ลุ้นส่งออกแตะ 1 ล้านล้าน
และที่สำคัญคือ จะช่วยกระตุ้น GDP ของไทย สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศมากขึ้น รวมถึงเพิ่มรายได้ภาษีให้ภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จําเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนในการรวมตัวกันสะท้อนปัญหาและนําเสนอแนวทางแก้ไขต่อภาครัฐ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและนําไปสู่การแก้ไขที่ตรงจุดต่ออุตสาหกรรมโดยรวม ทั้งในแง่ของนโยบาย สิทธิประโยชน์ทางการค้า และการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในตลาดโลก
เพื่อผลักดันไทยให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นําด้านอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้ได้ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถขยายมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้เป็น 1 ล้านล้านบาท ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า