Trust Thailand Matichon Leadership Forum 2025 อุตสาหกรรมใหม่-ท่องเที่ยวเติบโตแรง

ดนุชา พิชยนันท์-จุฬา สุขมานพ-นิธี สีแพร
ดนุชา พิชยนันท์-จุฬา สุขมานพ-นิธี สีแพร

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 หนังสือพิมพ์มติชน-มติชนออนไลน์ จัดสัมมนาหัวข้อ “Matichon Leadership Forum 2025 Trust Thailand : เชื่อมั่นประเทศไทย” ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีกูรูระดับประเทศร่วมเป็นวิทยากร “ประชาชาติธุรกิจ” ขอสรุปประเด็นที่น่าสนใจทั้งทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนในการขับเคลื่อนประเทศไทย

สศช.ชี้พัฒนาสินค้าดันส่งออก

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ที่มองเศรษฐกิจไทยอาจจะโตได้ไม่มากนั้น เพราะมีข้อจำกัด ทั้งอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลง และเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง หากแก้ไขได้ 1-2 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเดิมไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ

ดนุชา พิชยนันท์
ดนุชา พิชยนันท์

ขณะที่ภาคการส่งออกของไทยมีมูลค่าโต 10.6% ในไตรมาส 4 ปี 2567 เติบโตสูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส เห็นว่าโอกาสการส่งออกมีมากขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจไทยผูกพันกับภาคการส่งออกค่อนข้างมาก ดังนั้น ต้องพัฒนาหาสินค้าใหม่ ๆ ให้แข่งขันได้ในตลาดโลก

ประเทศไทยนำอุตสาหกรรมที่เป็นเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงเข้ามาลงทุนหลายบริษัทแล้ว ในปีถัดไปเมื่อบริษัทก่อสร้างและผลิตได้แล้วจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปข้างหน้าบนฐานเทคโนโลยีที่สูงขึ้น

“ปัจจุบันเรานำอุตสาหกรรมชิปขั้นต้นเข้ามาสร้างซัพพลายเชนให้มีความมั่นคงขึ้น ลดปัญหาหากต้องแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น ไทยจะยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง สามารถผลิตและส่งออกได้ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่รัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้ความสำคัญ”

ในปี 2568 สศช.ยังคงประมาณการจีดีพีจะขยายตัว 2.3-3.3% ค่ากลาง 2.8% มองว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมั่นคงพอที่จะผ่านภาวะความผันผวนนี้ได้ เครื่องยนต์สำคัญที่จะช่วยเศรษฐกิจไทยเดินหน้ามี 3 ตัว ได้แก่ การลงทุนของภาครัฐ การเร่งของภาคท่องเที่ยว และภาคส่งออก

ADVERTISMENT

แต่ยังกังวลผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของประเทศคู่ค้า ซึ่งความเสี่ยงที่สำคัญสุดในขณะนี้ เป็นเรื่องความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐ

“ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงพาณิชย์เตรียมการรับมือไว้แล้ว จะเห็นว่ามาตรการสหรัฐเป็นการกดดันให้เกิดการเจรจา ซึ่งภาครัฐได้เตรียมการเรื่องนี้ไว้แล้ว” เลขาธิการ สศช.กล่าว

ADVERTISMENT

สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคปีนี้ ควรให้ความสำคัญ 1) เตรียมการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของประเทศคู่ค้า โดยให้ความสำคัญกับการเจรจากับสหรัฐ และเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการกีดกันทางการค้า ปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาด และใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม

พร้อมเร่งรัดการส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ควบคู่กับการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวกับการส่งออก

2) เร่งรัดส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนให้กลับมาขยายตัว ให้ความสำคัญกับการเร่งสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินโดยตรงจากต่างประเทศ พร้อมเร่งรัดนักลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนช่วงปี 2565-2567 ให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็ว

3) เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนไม่ให้ต่ำกว่า 75% ของกรอบงบฯลงทุนรวม

4) สร้างการตระหนักรู้ถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เพื่อให้ลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ SMEs ได้รับความช่วยเหลือเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้และสามารถชำระหนี้ได้ตามศักยภาพ

และ 5) การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับการเร่งรัดแก้ปัญหามลพิษ PM 2.5 อย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการรักษามาตรฐานความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว เตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมด้านท่องเที่ยว อาทิ สนามบิน/เที่ยวบิน กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง โครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวก

จุฬา สุขมานพ
จุฬา สุขมานพ

ต่างชาติแห่ลงทุน EEC

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC กล่าวว่า 7 ปีที่ผ่านมา (2561-2568) สามารถดึงเงินลงทุนเข้าพื้นที่ได้สูงถึง 1,823,805 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 50% ของการลงทุนทั้งประเทศ เป็นสัดส่วนนักลงทุนไทย 37% อีก 63% เป็นต่างชาติ โดยจีนขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ตามด้วยญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง สหรัฐ

จากการพบปะนักลงทุนพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนในไทยนั้น นักลงทุนจะพิจารณาจากความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ โลเกชั่น สิทธิประโยชน์ โครงสร้างระบบ 5G แรงงานคน โครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค การถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน กฎหมาย รวมถึงบุคลากรที่มาทำงานต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งการอยู่อาศัยและการบริโภค

“สิ่งที่เราต้องเตรียมคือ สิทธิประโยชน์ คนที่ใช้ในอุตสาหกรรมขั้นสูงโดยเฉพาะวิศวกรไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ คนที่ใช้สกิลมาบังคับหุ่นยนต์ คนด้านบริการ เตรียมพื้นที่ที่เป็นเขตส่งเสริม เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ไม่จำเป็นต้องเป็นนิคมอุตสาหกรรม

เช่น การแปลงสนามกอล์ฟทำเวลเนส เตรียมเรื่องน้ำ พลังงานสะอาด ช่วง 1-2 ปีนี้ เราต้องใช้กลยุทธ์หนักเพื่อดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ ไม่เช่นนั้นการลงทุนเราจะหายไป 20 ปี เพราะในแง่การลงทุนเมื่อใครตัดสินใจลงทุนในที่ใดที่หนึ่งแล้วจะอยู่ยาว หากรอบนี้เราไม่เร่งดึงเขาเข้ามา เราจะไม่ทัน”

ไทยจำเป็นต้องใช้เครื่องมือเข้ามาช่วย คือ การเจรจากับนักลงทุนเป็นรายบริษัท รายโครงการ เพื่อให้รู้ถึงเป้าหมาย การใช้ทรัพยากรในประเทศ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ไทยใช้ประโยชน์ในการเชื่อมโยงหรือหาพาร์ตเนอร์ ซัพพลายเออร์รายเล็ก เพื่อเข้าไปสู่การเป็นซัพพลายเชนของโครงการนั้น ๆ

“เราดูจากประเทศที่เก่ง ๆ ส่วนใหญ่มีรัฐบาลกลางดูแลการลงทุนทั้งประเทศและเป็นหน่วยเฉพาะไว้เจรจากับนักลงทุนแต่ละราย คล้ายกับ EEC ซึ่งรัฐบาลประกาศโซนพิเศษ เตรียมปัจจัยเพื่อดึงดูดนักลงทุน ดูอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ สามารถให้สิทธิพิเศษได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย”

นอกจากสิทธิประโยชน์ที่ดึงการลงทุนใหม่แล้ว EEC ยังเตรียมแพ็กเกจที่เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนรายเก่าที่ตั้งฐานการผลิตในไทยมานาน 20-30 ปีด้วย ซึ่งกลุ่มนี้ต้องลงทุนซ้ำครั้งใหญ่เพื่อให้สอดรับกับสังคมสมัยใหม่ เช่น ความยั่งยืน และ Green โดยดึงให้รายเก่าปักหลักลงทุนไทยต่อด้วยการขยายการลงทุน รีบตัดสินใจลงทุนใหม่ และไม่ให้ตัดสินใจย้ายฐานไปที่อื่น

อุตสาหกรรมเป้าหมายปี 2568 ยังคงมุ่งที่ 12 อุตสาหกรรม (S-Curve) อาจเห็นมากที่สุดตามเทรนด์ของปีที่ผ่านมา คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมเหล่านี้มียอดขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอมากที่สุด ในอนาคตจะมีกลุ่มการแพทย์และสุขภาพโดยเฉพาะการบริการที่เกี่ยวข้องกับสังคมผู้สูงวัย BCG รีไซเคิล และพลังงานสะอาด จะเข้ามามากขึ้น

นิธี สีแพร

ชูเป้าท่องเที่ยว 3.4 ล้านล้าน

นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอีกภาคส่วนที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย สร้างความเชื่อมั่นได้ โดยปีนี้คาดการณ์แนวโน้มการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติหลังโควิด

โดยตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน รายได้ 3.3 ล้านล้านบาท หรือมีเป้าหมายท้าทายที่ 3.4 ล้านล้านบาท เทียบกับปี 2562 ก่อนโควิดมีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 39.8 ล้านคน มีรายได้ 3 ล้านล้านบาท

ปัจจัยความเชื่อมั่นที่จะนำไปสู่เป้าหมาย ประกอบด้วย จีดีพีที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น 2.8-3.3% โดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการคิดเป็นสัดส่วน 15% ของจีดีพี แม้จะมีภาวะสงครามการค้า ปัญหาความขัดแย้งทั่วโลก ภัยธรรมชาติต่าง ๆ แต่ถือว่าไม่ได้มีผลกระทบรุนแรง นักท่องเที่ยวปรับตัวได้ ทำให้มีผลกระทบน้อยลง แต่เป็นสิ่งที่จับตามองอยู่ต่อเนื่อง

จุดแข็งการท่องเที่ยวไทยที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่น ได้แก่ 1.ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของต่างชาติจากการจัดลำดับของหลายสถาบัน 2.แหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย มีวัฒนธรรมประเพณีที่โดดเด่น ธรรมชาติที่สวยงาม 3.มีศักยภาพด้านคมนาคม สะดวก และรองรับผู้โดยสารเพียงพอ

4.มีพันธมิตรในต่างประเทศที่หลากหลาย และแข็งแกร่งระดับโลก ร่วมส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะ ททท.มีสำนักงานอยู่ทั่วโลก 29 แห่ง กำลังจะเปิดที่กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย อีก 1 แห่ง เพื่อเจาะตลาดตะวันออกกลาง เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ในเชิงพื้นที่มองตลาดใหม่ ๆ

เช่น ตะวันออกกลาง ตลาดยุโรปตะวันออก รัสเซีย ตลาดอเมริกา กลุ่มที่สนใจท่องเที่ยวเชิงกีฬา กลุ่มตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และกลุ่มท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ

ทิศทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวปีนี้มี 2 ส่วน คือ ตลาดในประเทศ ต้องส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวไทยก่อน มีแคมเปญ “สุขทันที ที่เที่ยวไทย” รวมถึงการกระจายไปเมืองน่าเที่ยวต่าง ๆ ไม่ให้กระจุกตัวในเมืองหลัก

ส่วนตลาดต่างประเทศ ปีนี้ไทยกลับมายิ่งใหญ่เทียบเท่าช่วงก่อนโควิด ททท.จึงทำแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบ “Amazing Thailand Grand Tourism and Sport Years 2025” โดยเน้นท่องเที่ยวเชิงกีฬา-สุขภาพ จัดกิจกรรมใหญ่ด้านกีฬา เช่น โมโตจีพี, แข่งกอล์ฟ และซีเกมส์ พร้อมส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการท่องเที่ยวทางทะเลด้วย