
เลขาฯ EEC ฉายภาพอาเซียนแข่งกันดึงต่างชาติเข้าลงทุน ชี้ไทยเจอเวียดนาม อินโดฯ ฟิลิปปินส์บี้หนัก งัดกลยุทธ์จีบรายตัว ให้สิทธิประโยชน์ไม่เท่ากัน โชว์ผลงาน 7 ปีกวาดเงินแล้ว 1.8 ล้านล้าน มั่นใจกลางปีนี้ได้ขึ้นแน่โครงการสร้างรันเวย์ที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา และรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC กล่าวภายในงานสัมมนา Matichon Leadership Forum 2025 : Trust Thailand เชื่อมั่นประเทศไทย หัวข้อ “เชื่อมั่น ลงทุนไทย” ว่า แนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในกลุ่มอาเซียน จะเห็นว่าการเติบโตการลงทุนมีมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังโควิดเป็นต้นมา
ขณะนี้แต่ละประเทศต่างเร่งมือที่จะนำเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้ดึงดูดการลงทุนเพื่อดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าในกลุ่มอาเซียนนั้น สิงคโปร์เป็นประเทศที่ใช้กลยุทธ์ดึงดูดการลงทุนได้เก่งและดีที่สุด รองลงมาคือ อินโดนีเซีย และเวียดนามกับฟิลิปปินส์ เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวและพยายามจะชนะไทย

เล็งคุยให้สิทธิประโยชน์รายตัว
ดังนั้น ไทยจำเป็นที่ต้องใช้เครื่องมือเข้ามาช่วยเช่นกัน คือ การเจรจากับนักลงทุนเป็นรายบริษัท รายโครงการ และต้องผ่านการตอบคำถาม 13 ข้อหลัก เพื่อที่จะให้รู้ถึงเป้าหมายการลงทุน การใช้ทรัพยากรในประเทศ วัตถุดิบจากแหล่งใด ซัพพลายเชนคือใคร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงทำให้แผนการลงทุนมีความชัดเจน แต่ยังทำให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้เชื่อมโยงหรือหาพาร์ตเนอร์ ซัพพลายเออร์รายเล็ก เพื่อเข้าไปสู่การเป็นซัพพลายเชนของโครงการนั้น ๆ ได้ด้วย
เมื่อเห็นความชัดเจนจะนำมาด้วยการแลกกับเงื่อนไขที่จะได้ตามที่สิทธิประโยชน์ของ EEC กำหนดไว้ ดังนั้น นักลงทุนแต่ละรายแม้ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเดียวกันแต่ได้สิทธิประโยชน์ไม่เหมือนกัน
“เราดูจากประเทศที่เก่ง ๆ ส่วนใหญ่มีรัฐบาลกลางดูแลการลงทุนทั้งประเทศ และจะเป็นหน่วยเฉพาะไว้เจรจากับนักลงทุนแต่ละรายคล้ายกับ EEC และรัฐบาลประกาศโซนพิเศษ เตรียมปัจจัยเพื่อดึงดูดนักลงทุน ตอนนี้มีนักลงทุนที่คุยและรอสิทธิประโยชน์จากเราเหลือ 11 ราย จาก 12 ราย เงินลงทุน 135,000 ล้านบาท หายไป 1 ราย มูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท เป็นอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จากไต้หวัน เขารอไม่ไหวจึงต้องไปขอรับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แทน”
นอกจากสิทธิประโยชน์ที่ดึงการลงทุนใหม่แล้ว EEC ยังเตรียมแพ็กเกจที่เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนรายเก่าที่ตั้งฐานการผลิตในไทยมานาน 20-30 ปี ซึ่งนักลงทุนกลุ่มนี้จำเป็นต้องลงทุนซ้ำครั้งใหญ่เพื่อให้สอดรับกับสังคมสมัยใหม่ เช่น ความยั่งยืน และ Green ซึ่งแพ็กเกจดังกล่าวจะเป็นการดึงให้รายเก่ายังคงปักหลักลงทุนไทยต่อรีบตัดสินใจลงทุนใหม่ และย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น
รถไฟเชื่อม 3 สนามบินเริ่ม เม.ย.
สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายปี 2568 จะยังคงมุ่งที่ 12 อุตสาหกรรม (S-Curve) ซึ่งก็อาจจะเห็นมากที่สุดตามเทรนด์ของปี 2567 ที่ผ่านมา คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ยานยนต์สมัยใหม่ โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้มียอดขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอมากที่สุด ในอนาคตจะมีกลุ่มการแพทย์และสุขภาพ โดยเฉพาะการบริการเกี่ยวข้องกับสังคมผู้สูงวัย BCG รีโซเคิล และพลังงานสะอาดจะเข้ามามากขึ้น
นอกจากอุตสาหกรรมที่พร้อมจะเห็นการลงทุนแล้ว สำหรับโครงการใหญ่ที่จะเริ่มก่อสร้างใน EEC ช่วงกลางปี 2568 จำนวน 2 โครงการคือ 1.การก่อสร้างโครงการสนามบินอู่ตะเภา ในส่วนของรันเวย์ที่ 2 และ 2.การก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเทรน ซึ่งคาดว่าทั้ง 2 โครงการนี้จะสามารถออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) ในช่วงเดือนเมษายน 2568
โชว์ 7 ปีดึงเม็ดเงิน 1.8 ล้าน ล.
ทั้งนี้ ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา (2561-2568) EEC สามารถดึงเงินลงทุนเข้ามาในพื้นที่ได้สูงถึง 1,823,805 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของการลงทุนทั้งประเทศ โดยจีนขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ตามด้วยญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง สหรัฐ
“สิ่งที่เราต้องเตรียมตอนนี้คือ สิทธิประโยชน์ คนที่ใช้ในอุตสาหกรรมขั้นสูง โดยเฉพาะวิศวกรไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ คนที่ใช้สกิลมาบังคับหุ่นยนต์ คนด้านบริการ เตรียมพื้นที่ที่เป็นเขตส่งเสริม เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ไม่จำเป็นต้องเป็นนิคมอุตสาหกรรม เช่น การแปลงสนามกอล์ฟทำเวลเนส เตรียมเรื่องน้ำและพลังงานสะอาด ช่วง 1-2 ปีนี้ เราจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์หนักเพื่อดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ เพราะหมดรอบ 1-2 ปีนี้แล้ว การลงทุนเราจะหายไป 20 ปี เพราะในแง่ของการลงทุนเมื่อใครตัดสินใจลงทุนในที่ใดที่หนึ่งแล้วจะอยู่ยาว หากรอบนี้เราไม่เร่งดึงเขาเข้ามา เราก็จะไม่ทัน”