ส่องผลงาน 4 กระทรวง อุตลุดแก้ของแพง-อีอีซีและรากหญ้า

ผ่านการทำงานมาถึงกลางปี 2561 หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงผลงานด้านเศรษฐกิจว่าช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตกระจุก แต่ยังจนกระจาย ถึงเวลาต้องมารีเช็กการทำงาน 4 กระทรวงเศรษฐกิจ คือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการเศรษฐกิจสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก อย่างไรบ้าง

3 งานเด่นพาณิชย์

เริ่มจาก “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้แถลงผลการทำงาน 6 เดือน ถึงภารกิจหลักมุ่งเน้นขับเคลื่อน “เศรษฐกิจฐานราก” ให้เข้มแข็ง ตามแนวทางการทำงานของรัฐบาล ภาพที่เห็นจากการลงพื้นที่แก้ปัญหาเชิงรุก จนทำให้ “ราคาสินค้าเกษตร” ในความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งราคาข้าวเปลือกหอมมะลิเพิ่มขึ้นตันละ 18,700 บาท สูงกว่าในช่วงโครงการรับจำนำข้าวในอดีต ราคาข้าวโพดสูงกว่า กก.ละ 10 บาท ราคามันสำปะหลัง กก.ละ 3 บาท และราคาผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน ทะลุเกินกว่า กก.ละ 170 บาท

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์วางนโยบายใช้การตลาดนำการผลิต โดยจะเห็นชัดจากการดึงอาลีบาบา เจ้าตลาดอีคอมเมิร์ซระดับโลกเข้ามาเชื่อมโยงกับผู้ผลิตทุเรียน วางเป้าหมายขยายไปสู่สินค้าอื่น เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นมหานครผลไม้โลก

งานชิ้นโบแดงที่ไม่พูดไม่ได้ คือ “โครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ” เพื่อให้บริการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้กับประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11 ล้านคน ซึ่งขณะนี้กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าสู่เฟส 2 ติดตั้งเครื่อง EDC จาก 20,000 แห่งเป็น 40,000 ร้านค้า

ภายในเดือนนี้ โครงการนี้สร้างเงินหมุนเวียนให้เศรษฐกิจลดค่าครองชีพประชาชนได้ 15-20% และทางอ้อมยัง “สร้างมุมสำหรับสินค้าชุมชน” เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้ผลิตท้องถิ่นได้มีช่องทางจำหน่ายด้วย

สุดท้ายภารกิจผลักดันการส่งออกถือว่าโดดเด่น เพราะขณะนี้ 4 เดือนแรกส่งออกได้ 11.53% สูงสุดในรอบ 7 ปี ครึ่งปีหลังมีแผนจะอัพเกรด “ไทยเทรดดอทคอม” ให้กลายเป็นของดีทั่วไทย

ดอทคอม เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงสินค้ากับผู้บริโภคขยายไปจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กขนาดกลาง ซึ่งจะช่วยผลักดันการส่งออกให้ได้ตามเป้าหมาย 8% และเจรจาการค้ากับหลายประเทศเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย “Strategic Partnership” เดินหน้าหาข้อสรุปการเข้าร่วม CPTPP ซึ่งเป็นความตกลงที่แปลงมาจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก TPP เพื่อสร้างโอกาสการค้าเพิ่มขึ้น

ดึงนักลงทุนเข้า EEC

ขณะที่ “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผลงานโบแดงชิ้นสำคัญ คือ การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นโครงการระดับประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่3 จังหวัด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ใน10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมทั้งเชื่อมโยงหน่วยงานรัฐจากต่างประเทศ เช่น กระทรวง METI, Unido JTECS, SMRJ เข้ามาช่วยลงทุนพัฒนาผู้ประกอบการไทย

อีกด้านหนึ่งมุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อยกระดับไปสู่ 4.0 ที่มีศักยภาพให้เป็นรูปธรรมให้ได้ ซึ่งมี 4 แผนงานใหญ่ ภายใต้ (9+1) หรือ9 มาตรการด้านการส่งเสริมพัฒนา ด้วยการให้ผู้ประกอบการเข้าถึงเทคโนโลยี การเพิ่มศักยภาพปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อการส่งออก การดูแลพื้นที่และสิ่งแวดล้อม การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ/ยื่นขอใบอนุญาต และยังใช้อีก 1 มาตรการด้านการเงิน (กองทุน) โดยผ่านกองทุนสนับสนุนช่วยผู้ประกอบการ ทั้งในส่วนของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีผู้ยื่นกู้มาแล้ว 2,062 ราย วงเงิน 10,143.86 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติ 1,898 ราย วงเงิน 7,874.5 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายเงินกู้ 930 ราย จำนวนเงิน 2,688.59 ล้านบาท และกองทุนเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs-คนตัวเล็ก วงเงิน 8,000 ล้านบาท ยื่นกู้ 879 ราย จำนวนเงิน 816.07 ล้านบาท อนุมัติ 436 ราย จำนวนเงิน 388 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายเงินกู้ 50 ราย จำนวนเงิน 43.5 ล้านบาท

อุ้มรากหญ้าฝ่าพลังงานแพง

ขณะที่กระทรวงพลังงานภายใต้การนำของ “ศิริ จิระพงษ์พันธ์” ถือว่ามีบทบาทโดดเด่นในขณะนี้จากระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับขึ้นไปสูงถึง 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากช่วงก่อนหน้านี้ที่อยู่ที่ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล กระทรวงพลังงานได้มีนโยบายในการช่วยเหลือประชาชนทั้งโครงการตรึงราคาจำหน่าย LPG ในราคา 363 บาทต่อถังขนาด 15 กก.

และทางคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ยังมีมติต่ออายุโครงการลดราคา LPG ให้ผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็ก ลดจาก 363 บาทต่อถัง คงเหลือ 325 บาทต่อถัง ไปจนสิ้นปี ทำให้มีผู้ได้รับประโยชน์มากกว่า 7,569,867 ครัวเรือน ร้านค้าหาบเร่ 395,544 ร้าน เป็นเงินเดือนละ 49 ล้านบาท โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชดเชยในส่วนนี้

นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของกลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ โดยใช้กลไกปรับลดการชดเชยควบคู่กับการปรับลดค่าการตลาดสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และแก๊สโซฮอล์ E85 รวมทั้งการลดชดเชยเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ทั้งกลุ่ม ให้มีค่าใกล้เคียงศูนย์ เพื่อให้เกิดสภาพคล่องแก่กองทุนน้ำมันฯ และเพื่อรองรับความผันผวนของราคาน้ำมันได้อย่างมั่นคงในอนาคต

ขับเคลื่อนไทยเข้มแข็ง 

ขณะที่ “กฤษฎา บุญราช” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รวบรวมปัญหาของเกษตรกร เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะยาว พร้อมทั้งวางแผนงานหลักของกระทรวง 15 แผน เพื่อขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมยั่งยืน ด้วยงบฯ 24,993 ล้านบาท ที่เข้ามาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร โดยล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) สรุปงบประมาณครึ่งปี 20,947 ล้านบาท หรือ 42.26% ของงบประมาณที่จัดสรร 49,567 ล้านบาท

ขณะเดียวกันได้วางแนวทางแก้ปัญหาสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรไทยอายุมากประสบปัญหาความยากจน และต้องการลงทุนเพาะปลูกในต้นทุนที่สูง เกิดภาระหนี้สินมากมาย ขณะที่ผลผลิตก็ไม่มีความแน่นอนขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน ดังนั้นจึงได้นำ พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ. 2554 ซึ่งมีทุน 2,900 กว่าล้านบาท เข้ามาอัดฉีดเพิ่ม เพื่อช่วยให้อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่มั่นคงมีสวัสดิการรองรับ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง