
กระทรวงพาณิชย์ ไร้มาตรการเข้าดูแลเครื่องฟอกอากาศ หลังจากที่ประกาศเป็นสินค้าควบคุม ผู้ประกอบการ ห้าง ปรับราคาฉ่ำรับความต้องการเพิ่ม
รายงานข่าวระบุ เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม 2568 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะพิจารณานำสินค้า “เครื่องฟอกอากาศ และเครื่องดูดฝุ่น” เข้าเป็นสินค้าควบคุม เพื่อกำกับดูแลไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคา หรือปรับราคาสูงขึ้นเกินสมควร ในช่วงที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น จากการที่ประชาชนต้องซื้อไว้ใช้ป้องกันฝุ่น PM 2.5
ซึ่งจะมีการเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พิจารณา และเมื่อ กกร. พิจารณาแล้ว ก็จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป ขณะนี้ มีรายการสินค้าและบริการควบคุม จำนวน 57 รายการ (52 สินค้า 5 บริการ)
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่จะประกาศนำสินค้าเครื่องฟอกอากาศ และเครื่องดูดฝุ่น เข้าเป็นสินค้าควบคุม ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.2568 จนถึงปัจจุบัน ผ่านมาแล้วเกือบเดือน ภาครัฐยังไม่มีมาตรการใด ๆ ออกมา ในการเข้าไปดูแลสินค้าดังกล่าว ยังทำให้ผู้ผลิต ห้าง แพลตฟอร์มออนไลน์ ทำการขายสินค้า โปรโมชั่น ซึ่งมีทั้งขึ้นราคา ปรับราคาสินค้า ตามการทำตลาดปกติ ไม่ได้เข้าไปดูแลราคาสินค้าอย่างจริงจัง
ขณะที่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจราคาเครื่องฟอกอากาศที่จำหน่ายในห้าง พบว่า สินค้าแบรนด์ที่ผู้บริโภคนิยมซื้อในท้องตลาด ซึ่งเป็นสินค้ากลุ่มราคาที่ไม่แพงมาก ราคาตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท สินค้าขาดตลาด มีวางจำหน่ายเพียงไม่กี่รุ่น ส่วนรุ่นยอดนิยม สินค้าไม่มีขาย หรือถ้าต้องการซื้อ ต้องจอง หรือจ่ายเงินมัดจำ หรือจ่ายเต็มจำนวน เพื่อจองสินค้าไว้ แล้วมารับสินค้าภายหลัง
สำหรับรุ่นที่มีราคาแพง ราคาตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป ยังมีวางจำหน่าย และมีให้เลือกหลายยี่ห้อ แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อไม่ได้ ยกเว้นผู้บริโภคกลุ่มที่มีรายได้สูง
สำหรับสินค้ายอดนิยม ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น จากช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่เกิดฝุ่น PM 2.5 ราคาจำหน่ายส่วนใหญ่อยู่ประมาณ 4,000-5,000 กว่าบาท แล้วแต่การจัดโปรโมชัน แต่พอเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลฝุ่น ราคาได้ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ 5,990 บาท ขยับเป็น 6,990 บาท 7,990 บาท 8,990 บาท และล่าสุด 9,990 บาท
ขณะที่รุ่นนิยมรองลงมา ก่อนหน้านี้ ราคาประมาณ 2,000-3,000 บาท แต่ปัจจุบันราคา 4,690-4,990 บาท ส่วนรุ่นอื่น ๆ ราคาก็มีการปรับขึ้น-ลงตามโปรโมชั่นซึ่งบางรุ่งแพงขึ้นจากก่อนหน้ามาก ซึ่งราคาที่สูงขึ้น ที่จำหน่ายในห้าง จะไม่ปรับเพิ่มมาก แต่การขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่วนใหญ่จะขายในราคาที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ จากการสำรวจสินค้าที่จำหน่ายภายในห้าง ที่จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดัง พบว่า มีสินค้าให้เลือกซื้อน้อยมาก จากการสอบถาม ห้างแจ้งว่า ผู้ผลิตไม่ได้ส่งสินค้าให้ บางยี่ห้อหายไปเป็นเดือนแล้ว ยิ่งกลุ่มราคาต่ำ แทบไม่มีขาย มีแต่บางยี่ห้อที่คนไม่นิยม ส่วนยี่ห้อที่นิยม ไม่มี แต่กลับพบว่า สินค้ามีขายทางออนไลน์ ทั้งแพลตฟอร์มชื่อดัง หรือแพลตฟอร์มของผู้ผลิต หรือของห้าง โดยมีให้เลือกเกือบทุกยี่ห้อ ซึ่งราคาจำหน่ายก็สูงกว่าที่ขายในห้าง