ปตท.หาพาร์ตเนอร์เสริมแกร่ง พลิกแผนรับมือปิโตรฯ-โรงกลั่นขาลง

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

มีการวิเคราะห์จากหลายผู้เชี่ยวชาญในแวดวงพลังงานว่า ปี 2568 อาจจะเป็นวิกฤตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งก็น่าจะเป็นผลพวงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitic) รวมถึงนโยบายของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกผันผวน

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ภายในงานแถลงข่าวทิศทาง และกลยุทธ์เครือ ปตท. ในปี 2568 รวมไปถึงความท้าทายของอุตสาหกรรมพลังงานที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ และยังคงต้องจับตามองถึงแผนการหาพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับเครือ ปตท.

ลงทุนท่อก๊าซ ท่าเรือ Trading

แผนการดำเนินงาน 5 ปี (2568-2572) บริษัทได้วางงบฯลงทุนวงเงิน 55,000 ล้านบาท โดยในปี 2568 กำหนดงบฯลงทุนไว้ที่ 25,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานกลุ่มธุรกิจก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติ เช่น ท่อก๊าซ ท่าเรือ และธุรกิจ Trading เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับบริษัทในการประกอบธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้และผลกำไรและผู้ถือหุ้น

เราได้วางโครงสร้างในปีนี้ 3 ระยะ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของ EBITDA คือ ระยะสั้นเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจ Nonhydrocarbon ตามแผน บริษัทจะปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยเอาธุรกิจที่ไม่ทำกำไรออก แต่ในปีนี้จะยังไม่มีการสร้างธุรกิจใหม่เพิ่มเติม ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าโครงการ 3,300 ล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 3 ปี

ขณะเดียวกัน บริษัทได้วางแผนไปสู่ Digital Transformation เพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต (Productivity Improvement) ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2569 เราวางกลยุทธ์การลงทุนที่ไม่สูงมาก แต่เน้นการสร้างผลกำไรในระดับ และคุ้มค่า ไม่ต้องใช้เงินจำนวนมาก เน้นเพิ่มประสิทธิภาพและทำกำไรจากธุรกิจเดิมเป็นหลัก

หาพาร์ตเนอร์ปิโตรฯ-โรงกลั่น

แผนระยะกลางในปีนี้ เราจะปรับโครงสร้างธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น โดยบริษัทจะนำพาร์ตเนอร์เข้ามา ตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพาร์ตเนอร์หลายรายที่มีทิศทางธุรกิจสอดคล้องกัน ส่วนแผนระยะยาว ปตท.จะเน้นการลงทุนที่ลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ผ่านการลงทุนเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage) และไฮโดรเจน

ADVERTISMENT

ซึ่งบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ก็ได้มีสร้าง Sandbox ซึ่งเป็นการศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ที่โครงการอาทิตย์ในอ่าวไทย สามารถเก็บคาร์บอนได้ 1 ล้านตันต่อปี เป็นการนำมาใช้ภายในกลุ่ม ปตท. และกลุ่มบริษัทอื่น ๆ

ส่วนกระแสข่าวว่าได้มีการศึกษาแผนควบรวมธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นในกลุ่ม ปตท. ทั้ง 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC นั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง แต่ยอมรับว่าได้มีการเจรจาหาพันธมิตรหลายรายเพื่อเข้ามาร่วมลงทุนในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น

ADVERTISMENT

ยืนยันว่า ปตท.จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเป็นผู้ควบคุมตามบทบาท เพื่อให้เกิด Synergy และเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลักของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจกลุ่ม Downstream เราก็มีพาร์ตเนอร์เยอะ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งยุโรป หรือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ยังคงต้องการพาร์ตเนอร์เพื่อร่วมลงทุนในโครงการต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูง

ลดหุ้น Horizon Plus เหลือ 40%

สำหรับปี 2567 ที่ผ่านมายอมรับว่า กลุ่มธุรกิจ Dowstream เช่น ไทยออยล์, GC, IRPC, OR ทิศทางไม่ค่อยดีนัก มีทั้ง Over Supply, คู่แข่งทางการตลาด ขณะที่กลุ่มธุรกิจ Upstream เช่น ปตท.สผ. มีทิศทางค่อนข้างดี เนื่องจากมีการลงทุนในต่างประเทศเยอะ ก็ได้รับกำไรจากต่างประเทศกลับมา ขณะเดียวกัน กลุ่มธุรกิจ Nonhydrocarbon ก็ได้มีการทบทวนกลยุทธ์ ยุติธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อให้การลงทุนสอดรับกับความเชี่ยวชาญของ ปตท.อย่างแท้จริง และเน้นเรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้าและหัวชาร์จร่วมกับ OR เป็นหลัก

สำหรับความคืบหน้าการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัท Horizon Plus ซึ่งลงทุนด้านโรงงานฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ปตท.ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท อรุณ พลัส บริษัทย่อยของ ปตท. จาก 60% เหลือ 40% คาดว่าจะได้เงินกลับมาประมาณ 4,000 ล้านบาท ส่วนกลุ่มธุรกิจ Life Sciences ผ่านการลงทุนในบริษัท อินโนบิก (Innobic) จะต้องเติบโตและขับเคลื่อนธุรกิจด้วยตัวเอง เรากำลังหาพันธมิตรใหม่เข้ามาร่วมทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจให้เติบโต เพราะ ปตท.ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้

ยังไม่ได้คุยเรื่องช่วยลดค่าไฟ

ในปีนี้เรายังต้องเผชิญกับความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนและตั้งกำแพงภาษีที่สูงขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ในวัฏจักรขาลง รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในองค์กร รวมถึงนโยบายพลังงานของภาครัฐ

ขณะที่นโยบายของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในการปรับโครงสร้างการลดค่าก๊าซ หรือ Pool Gas เพื่อลดค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. 68 ลงอีก 40 สตางค์นั้น ปตท.ยังไม่ได้รับการประสานหรือพูดคุยจากกระทรวงพลังงาน แต่ในปี 2567 ปตท.ได้เข้าสนับสนุนราคาก๊าซในการลดค่าไฟ พร้อมสนับสนุนราคาพลังงาน เช่น LNG, NGV เป็นวงเงิน 28,000 ล้านบาท

ปี’67 ยอดขายเพิ่มแต่รายได้ลด

สำหรับผลการดำเนินงานของปี 2567 ปตท.และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขาย 3,090,453 ล้านบาท ลดลง 54,431 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7 จากปี 2566 โดยกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศมีรายได้จากการขายลดลง จากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันที่อ้างอิง แม้ว่าปริมาณขายเพิ่มขึ้น โดยหลักจากปริมาณการค้าน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีรายได้จากการขายลดลง โดยหลักจากธุรกิจจัดหาและค้าส่งก๊าซ จากราคาขายเฉลี่ยปรับลดลงตามราคา Pool Gas รวมทั้งปริมาณขายก๊าซเฉลี่ยที่ลดลง

ขณะที่ธุรกิจโรงแยกก๊าซ มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจากปริมาณขายและราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจระบบท่อส่งก๊าซมีรายได้เพิ่มขึ้นตามปริมาณการจองใช้ท่อของลูกค้าโรงแยกก๊าซ และโรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น กลุ่มธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก มีรายได้จากการขายลดลงจากทั้งราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจากปริมาณขายเฉลี่ยที่ปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่าราคาขายเฉลี่ยปรับลดลง

ทั้งนี้ ปี 2567 ปตท.และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 90,072 ล้านบาท ลดลง 21,952 ล้านบาท หรือ 19.6% จากปี 2566 จำนวน 112,024 ล้านบาท โดยหลักจาก EBITDA ที่ลดลง ประกอบกับค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลง อีกทั้งในปี 2567 มีการรับรู้รายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำ (Nonrecurring Items) ยึดตามสัดส่วนของ ปตท. เป็นขาดทุนประมาณ 4,500 ล้านบาท

โดยหลักจากการด้อยค่าและประมาณภาระค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตของกลุ่มบริษัท Vencorex และบริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด (PTTAC) ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) ประมาณ 10,500 ล้านบาท