“ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” ยอดขายไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 1.2% ดันกำไรสุทธิครึ่งปีแรกปี’60 เท่ากับ 2,880 ล้านบาท

“ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” ยอดขายไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 1.2% ดันกำไรสุทธิครึ่งปีแรกปี’60 เท่ากับ 2,880 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ผลจากเรด ล็อบสเตอร์ (Red Lobster) และมาตรการลดต้นทุน

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2560 ยอดขายรวม 34,811 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ถึงแม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนและสภาวะตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

ในส่วนของผลกำไร บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 1,411 ล้านบาท ลดลง 7.6% เมื่อเทียบจากระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา กำไรขั้นต้นลดลง 14.5% จากปีก่อน เท่ากับ 4,669 ล้านบาท ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น เท่ากับ 13.4% เมื่อเปรียบเทียบกับอัตรากำไรขั้นต้นในไตราส 1 ปี 2559 ที่ 15.9% ซึ่งอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงเป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจปลาทูน่า รวมถึงค่าเงินในยุโรปที่อ่อนค่าลงอีกด้วย

ในส่วนของธุรกิจหลักของไทยยูเนี่ยน ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า มียอดขายเติบโตสูงสุดที่ 12.9% จากปีที่แล้ว อยู่ที่ 4,502 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ต่างๆ และการรุกทำตลาดที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนยอดขายธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นของบริษัท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็น 12,914 ล้านบาท ในขณะที่ยอดขายธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป (ambient) ลดลง 2.8% จากปีที่แล้ว เนื่องจากความต้องการอาหารทะเลแปรรูปในทวีปยุโรปซบเซาและค่าเงินสกุลหลักอ่อนตัว รวมถึงราคาปลาทูน่าที่ยังสูงขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 ไทยยูเนี่ยน มีกำไรสุทธิ 2,880 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และยอดขายรวมสูงขึ้น 1 % เป็น 66,244 ล้านบาท จากปีก่อนหน้านี้

ยอดขายจากผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของไทยยูเนี่ยนยังคงอยู่ที่ 43% ในช่วงครึ่งปีแรก ที่เหลือมาจากธุรกิจการรับจ้างผลิตและธุรกิจบริการทางด้านอาหาร สำหรับยอดขายในตลาดสหรัฐอเมริกายังคงมีสัดส่วนที่มากที่สุดเท่ากับ 38% ของยอดขายทั้งหมดในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2560 ตามด้วยตลาดยุโรปเป็นอันดับรองลงมา ด้วยสัดส่วนยอดขายเท่ากับ 33% ตลาดในประเทศไทย มีสัดส่วนเท่ากับ 8% ตลาดญี่ปุ่นมีสัดส่วนเท่ากับ 6% และตลาดอื่นๆ มีสัดส่วนเท่ากับ 15%

ถึงแม้จะเป็นฤดูกาลของธุรกิจที่วุ่นวายน้อย ธุรกิจเรด ล็อบสเตอร์ ในอเมริกา ยังคงแข็งแกร่งและสร้างผลกำไรสุทธิ 235 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โดยส่วนใหญ่มาจากภาระภาษีที่ลดลงและดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้การควบคุมต้นทุนที่รัดกุม ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารในไตรมาสที่ 2 ลดลง 9.6% จากปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 3 พันล้านบาท และอัตราหนี้สินต่อทุนสุทธิในไตรมาสที่ 2 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 1.33 เท่า จาก 1.37 เมื่อต้นปี เนื่องจากการบริหารเงินสดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เรามีความพอใจในผลประกอบการที่มั่นคงนี้มาก ถึงแม้ว่าเราจะคงต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบ และสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนในหลายตลาดอยู่ในส่วนการลงทุนเชิงกลยุทธ์ใน เรด ล็อบสเตอร์และความพยายามในการควบคุมต้นทุนนั้น ได้ส่งผลเชิงบวกให้แก่บริษัท” นายธีรพงศ์กล่าวเพิ่มเติม

เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยนได้เผยแพร่รายงานความยั่งยืนประจำปี ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของไทยยูเนี่ยนในปี 2559 ที่สะท้อนตามตัวชี้วัดสำคัญ และเป้าหมายที่ได้ระบุไว้ใน SeaChange® กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน โดยรายงานดังกล่าวพูดถึงมาตรการความยั่งยืนที่บริษัทใช้ในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั่วโลก รวมถึงความก้าวหน้าในการดำเนินกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนในทุกภาคส่วนของการทำธุรกิจ ตั้งแต่การที่บริษัทดูแลท้องทะเล จัดการขยะและของเสีย จนถึงความรับผิดชอบที่มีให้แก่พนักงานในการสร้างอนาคตการทำงานที่ดี และสื่อสารให้สังคมได้รับรู้

สำหรับในการต่อยอดจาก SeaChange® บริษัทได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับกรีนพีซในเดือนกรกฎาคม ในการมีพันธกิจต่อธุรกิจอาหารทะเลที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น เป็นการสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อท้องทะเลที่สมบูรณ์ และเมื่อเดือนมิถุนายน ที่งานประชุม World Economic Forum (WEF) ในนครนิวยอร์ก ไทยยูเนี่ยนได้ให้พันธสัญญาต่อแถลงการณ์การตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของปลาทูน่าปี 2563 (Tuna 2020 Traceability Declaration) โดยพันธสัญญาดังกล่าวเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals – SDGs) นอกจากนี้เรายังได้ลงนามเป็นสมาชิกในโครงการ Seafood Business for Ocean Stewardship (SeaBOS) โดยจะมุ่งมั่นในการพัฒนาการดำเนินงาน รวมทั้งผลักดันให้ทั้งอุตสาหกรรมอาหารทะเลร่วมดำเนินตาม
นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังได้ร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมและหน่วยงานต่างๆ อาทิเช่น องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ด้านความร่วมมือทางท้องทะเลและการประมง (U.S. Agency for International Development’s Oceans and Fisheries Partnership) ในการใช้โปรแกรมนำร่องการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบแบบดิจิตอล บริษัทได้ติดตั้งระบบสื่อสาร “Fleet One” ของ Inmarsat บนเรือประมง ในขณะที่ลูกเรือ กัปตัน และเจ้าของเรือได้รับการอบรมการใช้งานแอพพลิเคชั่นการสื่อสาร “Fish Talk” ซึ่งพัฒนาโดย Xsense ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนได้ทั่วโลกในขณะที่อยู่ในทะเล นับเป็นครั้งแรกของวงการการประมงไทย

“ไทยยูเนี่ยน มีบทบาทในการเป็นผู้นำและสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก ในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดในโลก” นายธีรพงศ์กล่าว “เมื่อมองไปในอนาคตข้างหน้า บริษัทยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงและยึดมั่นในการเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง ที่จะไม่ยอมแพ้ต่อความท้าทายในการสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมนี้ต่อไป”