
ราคาน้ำมันปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน หลังตลาดกังวลต่ออุปทานที่เพิ่มขึ้น
หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคามีดังนี้ ราคาน้ำมันปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน หลังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน หากการเจรจาประสบความสำเร็จจะส่งผลให้มีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร และรัสเซียจะสามารถกลับมาผลิตและส่งออกน้ำมันมากขึ้น
โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 26 ก.พ. 68 อยู่ที่ 68.62 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -0.31 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 72.53 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -0.49 เหรียญสหรัฐ
นักลงทุนจับตาการใช้มาตรการภาษีของสหรัฐ หลังทรัมป์ประกาศจะเก็บภาษี 25% จากสินค้าสหภาพยุโรป ในเร็ว ๆ นี้ ขณะเดียวกันยังกล่าวว่าจะชะลอการเก็บภาษีนำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดาเป็นวันที่ 2 เม.ย. แทนที่จะเป็นในสัปดาห์หน้า
นโยบายภาษีของทรัมป์อาจชะลอการเติบโตเศรษฐกิจและลดความต้องการน้ำมัน ขณะเดียวกันการสนับสนุนการส่งออกน้ำมันจากอิรักช่วยเสริมอุปทานในตลาด ลดความกังวลเรื่องขาดแคลนอุปทาน แม้สหรัฐจะประกาศคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่ อย่างไรก็ตาม อิรักยืนยันจะปฏิบัติตามนโยบายการผลิตของกลุ่ม OPEC+
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 21 ก.พ. 68 ลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 430.2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล หลังกำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น 1.6% ขึ้นมาอยู่ที่ 86.5% ของความสามารถในการผลิตทั้งหมด
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังจากคาดการณ์ว่าอินโดนีเซียจะนำเข้าน้ำมันเบนซินประมาณ 10.5-11 ล้านบาร์เรลในเดือน ก.พ. ซึ่งลดลงจากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ โรงกลั่นในอินโดนีเซียมีกำหนดการกลับมาดำเนินการหลังจากปิดซ่อมบำรุง ส่งผลให้อุปทานในตลาดปรับเพิ่มขึ้น
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังมีรายงานสต๊อกน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานที่ฟูไจราห์ ณ วันที่ 26 ก.พ. ปรับเพิ่มขึ้น 199,000 บาร์เรล หรือ 8.5% แตะระดับ 1.53 ล้านบาร์เรล เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยกดดันจากความต้องการใช้น้ำมันดีเซลที่เริ่มอ่อนตัวลงหลังใกล้หมดช่วงฤดูหนาว