
EEC ยอมรับลดขนาดการลงทุนเฟสแรกตามจำนวนผู้โดยสาร แต่ขณะนี้ยังออกประกาศส่งเสริมลงทุนไม่ได้ เหตุเรื่องยังไม่ผ่าน ครม.
หลังจากบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น หรือ UTA ผู้รับสัมปทานโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในพื้นที่ 6,500 ไร่ ประกาศที่จะเดินหน้าโครงการต่อไป หลังจากที่ได้ล่าช้ามา 5 ปี โดยไม่รอความชัดเจนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
แต่มีข้อสังเกตว่า การเดินหน้าลงทุนของ UTA นอกจากจะมีการลดขนาดของโครงการลงแล้วยังขึ้นอยู่กับการให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุน ซึ่งสามารถยื่นขอรับจาก BOI หรือจาก EEC ก็ได้นั้น
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.หรือ EEC) กล่าวในกรณีของบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ได้เป็นผู้ได้รับสัมปทานว่า ทางบริษัทเตรียมเข้ามาเจรจาเรื่องของสิทธิประโยชน์และแผนใหม่ในการสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินอู่ตะเภากับ EEC
เพื่อเดินหน้าการก่อสร้างตามแผน โดยยืนยันว่าจะไม่รอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ส่วนการลดขนาดของโครงการจากที่จะรองรับผู้โดยสารจำนวน 12 ล้านคน จะเหลือเพียง 5 ล้านคนนั้น เนื่องจากมีการประเมินแล้วว่า จำนวนผู้โดยสารอาจไม่ได้มีจำนวนมากตามที่เคยคาดการณ์เอาไว้ในการประมูลเมื่อ 5 ปีก่อน
อย่างไรก็ตาม สัญญาที่ได้เคยลงนามกันไว้ได้เปิดช่องไว้แล้วว่า หากโครงการในส่วนใดยังไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้ สามารถมาเจรจากับทาง EEC ได้ โดยจะพิจารณาและหารือกันใหม่โดยที่ไม่ต้องแก้สัญญา
“เพราะเราไม่ได้ผิดสัญญา เป้าหมายยังคงต้องรองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคนเช่นเดิม เพียงแต่ทางเอกชนระบุว่า จะก่อสร้างเป็นเฟสจำนวน 8 เฟส ดังนั้นในช่วงแรกก็สามารถดำเนินการตามแผนใหม่ที่ 5 ล้านคนได้เลยและเมื่อรถไฟความเร็วสูงพร้อมและมีดีมานด์ก็สามารถขยายเพิ่มเติมได้ แต่ท้ายที่สุดก็ยังคงต้องอยู่ที่ 60 ล้านคนอยู่ดี” นายจุฬากล่าว
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่เอกชนจะยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในส่วนของ EEC นั้น ขณะนี้ยังคงรอเข้า ครม.อยู่ (หมายความว่า ในขณะนี้ EEC ยังไม่สามารถออกประกาศให้การส่งเสริมการลงทุนได้ จนกว่า ครม. จะอนุมัติซึ่งเป็นไปอย่างล่าช้ามาก)
“ผมยืนยันว่า ในแต่ละโครงการที่จะเกิดขึ้นในโครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก มีหลากหลายกิจการสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ก่อนได้เลย โดยในส่วนของ BOI ก็สามารถขอรับส่งเสริมการลงทุนได้ ส่วนบริษัทอู่ตะเภา UTA จะขอสิทธิประโยชน์จากเรา EEC หรือไม่นั้น ยังคุยกันอยู่” นายจุฬากล่าว
ส่วนการที่เอกชนต้องก่อสร้างก่อนเพราะมันมีกิจการอื่นที่รอลงทุนอยู่ ไม่ต้องรอรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เมื่อรถไฟมาถึงค่อยเอาแผนมาปรับให้ตรงกัน
ส่วนกรณีทางลอดที่เชื่อมระหว่างรถไฟกับตัวอาคาร ตอนนี้ก็ให้ทางกองทัพเรือเข้ามาดูแล้วค่อยมาชดเชยกันทีหลัง การขนส่งผู้โดยสารต้องเอาระบบรถสาธารณะเข้ามารับส่งคนก่อน (ขสมก.)
ส่วนกรณีการแก้ไขสัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบินระหว่าง รฟท.กับบริษัทเอเชีย เอราวัน ”ยังคุยกันไม่เสร็จ“ ดังนั้นในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2568 น่าจะชัดเจนว่า ”จะไปทางไหน“