
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
กอดคอกันร่วง น่าจะเป็นการฉายภาพได้ดีที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยในขณะนี้ หลังจากต้องเผชิญกับผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือน การปล่อยสินเชื่อที่ไม่ได้ง่ายอีกต่อไป หรือแม้กระทั่งการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐ ทำให้ปี 2567 ที่ผ่านมา ยอดผลิตและยอดขายรถยนต์ในประเทศหัวทิ่มมาตลอด โดยตัวเลขล่าสุดคือเดือนมกราคม 2568 ยังพบว่าการส่งออกรถต่ำสุดในรอบ 33 เดือน นั่นแปลว่าเหล่าซัพพลายเชนที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต้องดิ่งเหวเช่นกัน
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ นายสุพจน์ สุขพิศาล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงทางเหลือและทางรอดของอุตสาหกรรม
โรงงานบางวันปิดบางวันเปิด
ตลาดรถยนต์ยังไม่ฟื้น ซึ่งมันคงต้องใช้เวลาอีกสักพัก เราเห็นผลประกอบการของแต่ละค่ายลดลง ทุกคนอยู่ในช่วงที่ท้าทาย จะรักษาของเดิมไว้อย่างไร ค่ายรถเขาจะมีซัพพลายเชน ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ รวมแล้วในอุตสาหกรรมนี้จะมีแรงงานถึงประมาณ 700,000 คน เราเห็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง จำเป็นต้องรัดเข็มขัด “บางวันปิดบางวันเปิด” จะเป็นสภาพที่เราจะเห็นในปี 2568 นี้แน่นอน รถกระบะตอนนี้แบงก์เขาเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคกลาง กระทบมาที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ยังมีความเสี่ยงสูง
นอกจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ซึ่งมีการขึ้นภาษีรถยนต์ 25% กับประเทศเม็กซิโก เรื่องนี้แม้ไทยจะยังไม่ได้ถูกขึ้นภาษี แต่ก็กระทบเราเช่นกัน เพราะเราส่งชิ้นส่วนยานยนต์ไปที่เม็กซิโกจำนวนมาก ทำให้ผลกระทบจะค่อย ๆ กระทบกลับมาที่ไทย ตอนนี้เราเกินดุลกับสหรัฐอยู่อันดับที่ 12 มีทั้งที่ส่งเป็นชิ้นส่วนโดยตรงและเป็น OEM อนาคต ไทย จีน ไต้หวัน อิตาลี อาจเป็นรายต่อไปที่ทรัมป์จับตาดู ถึงตอนนั้นเราจะโดนกระทบโดยตรง
ผลิตชิ้นส่วนให้รถ EV ปีนี้
ประเมินว่าปี 2568-2571 สถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ก็ยังคงไม่ดีขึ้น ส่งออกก็ยังไม่ดี เราก็จะไม่ดีไปด้วย แต่ปีนี้แบรนด์รถยนต์จากจีนที่เข้ามาทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเริ่มเห็นการผลิตชดเชยที่นำเข้ามาตามมาตรการ EV 3.5 ซึ่งจะอยู่ที่จำนวน 130,000 คัน กลุ่มชิ้นส่วนจะได้อานิสงส์จากตรงนี้ เพราะเราจะเข้าไปผลิตชิ้นส่วนให้ EV จำนวน 17 ชิ้นส่วน เช่น พวกแบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า อินเวอร์เตอร์ ระบบชาร์จ ระบบระบายความร้อน เราอาจผลิตได้แค่ 3-4 ชิ้นส่วน แต่ตอนนี้แบตเตอรี่และอินเวอร์เตอร์เรายังผลิตไม่ได้ สุดท้ายเราก็ต้องนำเข้า
ดังนั้น เราก็ต้องมาคุยว่าจีนจะให้ผลิตส่วนไหนได้บ้าง เราก็จะทำให้ ต้องมีการแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยี เรื่องการขึ้นแบบก็ต้องใช้เวลา 6-8 เดือน ในส่วนที่เป็น Common Parts แต่ถ้าเป็น e-Parts ต้องลงทุนเครื่องจักร กว่าจะผลิตให้จีนได้อาจใช้เวลา 1-2 ปี และต้องมาคุยกับภาครัฐเพิ่มเติมเรื่องสัดส่วนการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ (Local Content) ที่เราอยากให้สนับสนุนบริษัทคนไทยในประเทศให้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันตามเงื่อนไขคือ 40% มันก็ยังมีข้อกังวล ว่าถ้าเราเพิ่มสัดส่วนมาก ๆ แล้วเราผลิตไม่ได้จะทำอย่างไร
เป้ารักษาของเดิมสร้างของใหม่
ตอนนี้เรามีสมาชิกในกลุ่มกว่า 600 บริษัท และเรายังคงต้องรักษาการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนของโลกควบคู่ไปกับการสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสมัยใหม่ ดังนั้น เป้า 70 @ 30 คือในปี 2573 (2030) จะต้องมีสัดส่วนการผลิตที่เป็นรถยนต์ Future ICE ที่ 70% หรือ 1,400,000 คัน และรถยนต์ประเภท ZEV ที่ 600,000 คัน รวมแล้วเป็น 2,000,000 คัน
ส่วนรัฐเองก็ต้องมีมาตรการสนับสนุนคือ 1.สำหรับ Future ICE เราต้องรักษาการเป็นฐานการผลิต ICE ไว้ และต้องผลักดันให้เกิดการขยายตลาดการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนในกลุ่มอะไหล่ทดแทน (REM) ไปยังกลุ่มประเทศที่ยังมีการใช้เครื่องยนต์ประเภทสันดาปภายใน (ICE) โดยเร่งรัดการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ในกลุ่มประเทศที่ยังมีการใช้เครื่องยนต์ ICE
ขณะเดียวกัน ต้องหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อออกมาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ในกลุ่ม Future ICE สนับสนุนแนวทางการกำหนดโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสำหรับยานยนต์ที่จะบังคับใช้ปี 2569 และสร้างกลไกการจับคู่บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยกับต่างชาติ เพื่อเพิ่มโอกาสสำหรับการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ รวมทั้งผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐมีการกำหนดมาตรฐานมลพิษ Euro 5 สำหรับรถจักรยานยนต์ และ Euro 6 สำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ให้มีความเหมาะสม
2.สำหรับ ZEV 30 @ 30 สร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสมัยใหม่ ที่ต้องสนับสนุนผ่านมาตรการส่งเสริมการใช้รถ EV การผลิตแบตเตอรี่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับผู้ประกอบการที่ผลิต EV Niche Market เช่น รถเมล์ เรือ รถบัส รถตุ๊กตุ๊ก
3.สำหรับการผลักดันให้ชิ้นส่วนยานยนต์ไทยปรับตัวสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ (Parts Transformation) ต้องผลักดันให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนพัฒนาไปอุตสาหกรรมใกล้เคียง เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านตัวเองได้ เช่น ระบบราง เครื่องมือแพทย์ เครื่องกลทางการเกษตร โดยหารือร่วมกับกรมบัญชีกลางในการกำหนดสัดส่วนปริมาณการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ และเพิ่มทักษะแรงงานด้านเครื่องกล ไปสู่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมใหม่
ชี้ทางรอด 3 สเต็ป
มาตรการจากทางภาครัฐในการผ่อนปรนสินเชื่อให้รถกระบะ ช่วยเหลือค้ำประกันการปล่อยสินเชื่อซื้อรถกระบะ ด้วยการใช้กองทุนจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 5,000 ล้านบาท เราจะแบกรับได้นานไหม ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละราย ปีนี้เราก็ต้องมาดูว่ามันจะยังไงต่อ เพราะ 3-6 เดือน เราจะรู้แผนล่วงหน้าของค่ายรถ ถ้าผลิตน้อยมันก็ต้องลดคน แต่พวก Back Office เราลดไม่ได้ เราก็ต้องหาแนวทางช่วยประคองกันไป
ตอนนี้เราต้องทำในส่วนที่ต้องให้นักลงทุนสนใจเรา เพราะเมื่อเขามาลงทุนเราก็มีออร์เดอร์ เราไม่รอความช่วยเหลือจากรัฐอย่างเดียว แต่เราต้อง “พยายามสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองให้มากที่สุด” บริษัทที่เป็นคนไทยอาจตัดสินใจง่าย ว่าตัวเองจะมูฟไปทางไหน แต่บริษัทที่มีแม่อยู่ต่างประเทศยังไงเขาก็ต้องทำตามนโยบายแม่ ซึ่งเขาอาจจะตัดสินใจเล่นตลาด EV รอให้ตลาดรถยนต์กลับคืนมา บางรายอาจมูฟไปอุตสาหกรรมอื่น สัดส่วนตรงนี้มันก็ยังไม่ชัด แต่เราคุยกันในกลุ่มมาตลอด เพื่อหาทางช่วยกันให้รอด
“ไม่มีใครอยู่นิ่ง อุตสาหกรรมนี้เป็นรายได้หลักของประเทศ มีสัดส่วนถึง 11% ใน GDP แต่มันก็ต้องหาพาร์ตใหม่ ถ้าเราจะมองว่าเรื่องแบตเตอรี่คือพาร์ตใหม่ก็ทำได้ ก็มุ่งไปเลย ทุกบริษัทพยายามหา New S-Curve หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต”
ครั้งนี้ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่หนักที่สุดในรอบ 15 ปี ถ้าย้อนไปปี 2554 (2021) ต่างจากทุกวิกฤตที่เจอมา รอบนี้มันยาว และอาจจะเป็นแบบนี้ต่อไปอีก 3-5 ปี ซึ่งหนักมาก การพยายามลดต้นทุนให้กับตัวเอง คือทางรอดแรก เข้าไปผลิตให้ตลาด EV หาตลาดที่ใหญ่พอในการส่งออกและขายในประเทศ คือทางรอดถัด ๆ มา และมาตรการรัฐคือทางรอดที่เรารอ