
สมาคมวิทยาการพลังงาน (The Association of Thailand Energy Academy) ร่วมกับสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) (IEEE Power and Energy Society Thailand) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย “การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงาน” เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 ที่สโมสรราชพฤกษ์ โดยมีคณะกรรมการและคณะที่ปรึกษาเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน
นายวิลาศ เฉลยสัตย์ นายกสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการร่วมมือกันในครั้งนี้ เนื่องจากทั้ง 2 หน่วยงานมีจุดที่เหมือนกัน คือ การขับเคลื่อนในเรื่องพลังงาน แต่อยู่คนละมิติ ส่วนหนึ่งของสมาคมวิทยาการพลังงาน เป็นงานนโยบาย แนวโน้มการพัฒนาพลังงานในระดับประเทศ ส่วนไอทริปเปิลอี ทำในเรื่องการส่งเสริมองค์ความรู้ นวัตกรรมด้านพลังงานต่าง ๆ
สำหรับเป้าหมายในด้านพลังงานจากนี้จะมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด Green Energy ทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเดินหน้าสู่การใช้พลังงานสะอาดได้มากขึ้น จัดทำหลักสูตรที่จะร่วมกันพัฒนาขึ้น เพื่อให้ประชาชนที่มีความสนใจสามารถนำองค์ความรู้เหล่านี้มาใช้ได้ ขณะเดียวกันก็ทำเรื่องความยั่งยืนควบคู่ไปด้วย ทั้งองค์ความรู้และนวัตกรรมต่าง ๆ จากการใช้พลังงานสะอาด ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้แน่นอน
“ความร่วมมือกันในครั้งนี้ จะเห็นทั้งเรื่องนโยบาย แนวทางปฏิบัติ การศึกษาและการวิจัยทั้งหมด Value Chain ของการพัฒนางานด้านพลังงานจะมีความครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น โดยยอมรับว่า ความท้าทายด้านพลังงานสะอาดในขณะนี้เป็นเรื่องความเข้าใจ เพราะมีเทรนด์ต่าง ๆ ที่เป็นแบบอย่างอยู่แล้ว ว่ามีกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดได้อย่างไร ทั้ง 2 องค์กรจึงมีหน้าที่ในการให้ความรู้ เป็นกุญแจหลักที่จะให้แนวทางสังคมเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคโลว์คาร์บอนได้
โดยระยะแรกหลังจากลงนามความร่วมมือ จะจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อประเมินกิจกรรมที่ร่วมมือกันดำเนินการได้ทันที รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรทางการศึกษา การปฏิบัติ เชิญชวนให้อุตสาหกรรมเข้ามาดูวิธีการนำพาประเทศชาติไปสู่สังคมโลว์คาร์บอนได้อย่างไร”
อย่างไรก็ตาม แม้นโยบายใหม่ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะสนับสนุนพลังงานฟอสซิล หรือให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากเท่าที่ควร แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ ซึ่งยืนยันว่าประเทศไทยต้องเดินหน้าต่อเรื่องความยั่งยืน เพื่อสร้างสังคมที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่หากสหรัฐมีนโยบายออกมาก็ต้องประเมินและปรับเปลี่ยนแนวทางรับมือต่อไป ขณะที่การพัฒนาสู่พลังงานสะอาดก็มีขั้นตอนและกระบวนการ ซึ่ง Facility จะต้องสมดุลกันไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและประชาชน
ด้านนายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล นายกสมาคมวิทยาการพลังงาน กล่าวว่า ความร่วมมือกันในครั้งนี้ จะสามารถเชื่อมโยงระหว่างแนวนโยบายและการปฏิบัติที่สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติได้อีกเยอะ เนื่องจากจะนำความรู้เหล่านี้ถ่ายทอดไปสู่ประชาชน โดยเบื้องต้นได้กำหนดกรอบเวลาความร่วมมือ 2 ปีต่อจากนี้ ซึ่งจะมีการสนับสนุน เพื่อเดินหน้าประเทศสู่การใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น
“การผนึกกำลังระหว่าง 2 สมาคม เพื่อเดินหน้าในเรื่องพลังงานสะอาด เริ่มต้นในเรื่องประเด็นที่เป็นความขัดแย้งทางสังคมด้านพลังงาน ซึ่งสังคมอาจไม่ได้เข้าใจเรื่องพลังงานเท่าที่ควร ในอนาคตจะร่วมมือกันในการจัดสัมมนา เพื่อให้องค์ความรู้ ชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชน โดยสมาคมไอทริปเปิลอี มีความรู้ทางเทคนิคด้านพลังงานสูง เมื่อมาเชื่อมกับสมาคมวิทยาการพลังงาน ก็สามารถสื่อสารข้อที่สร้างความขัดแย้งทางสังคมได้ จากความไม่เข้าใจต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายเรื่องที่สังคมพูดกันเองในแบบที่ยังไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจมากเท่าที่ควร”