รัฐยอมจ่ายไร่ละ 1,000 เอาไม่อยู่ ชาวนาเสียงแตก-ข้าวราคาดิ่ง

นบข.เคาะจ่ายเงินชดเชยนาปรังไร่ละ 1,000 บาทไม่เกิน 10 ไร่ ไม่มีมาตรการชะลอข้าวออกสู่ตลาดด้วยการฝากเก็บ หวั่นราคาข้าวนาปรังต่อไปดิ่งลงเท่ากับต้นทุนการปลูกเหลือแค่ตันละ 6,000-6,500 บาท ด้านชาวนาเสียงแตกมีบางกลุ่มยืนกรานขอประกันตันละ 10,000 บาท พร้อมลงถนนมาทำเนียบ ส่งออกข้าวยังไม่มี “บิ๊กลอต”

คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) มีมติเห็นชอบให้จ่ายเงินชดเชยเกษตรกรเพื่อช่วยเหลือราคาข้าวนาปรังปี 2567/2568 โดยตรง ไร่ละ 1,000 บาท คนละไม่เกิน 10 ไร่ คาดการณ์จะใช้งบประมาณ 2,867.23 ล้านบาท

จะช่วยเหลือข้าวครั้งสุดท้าย

นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวภายหลังการประชุม นบข.ว่า การชดเชยให้ชาวนาด้วยการจ่ายเงินตรงไร่ละ 1,000 บาท จะไม่กระทบเงินงบประมาณ เพราะใช้วงเงินจากมาตรการข้าวนาปี 2567/2568 ที่คงเหลือกว่า 4,000 ล้านบาท สามารถนำกลับมาใช้ได้

มาตรการที่ออกมาครั้งนี้จะเป็นมาตรการชดเชยช่วยเหลือราคาข้าวครั้งสุดท้าย เพราะเป้าหมายของรัฐบาลต้องการที่จะลดการอุดหนุนและทำให้ภาคเกษตรของไทยมีประสิทธิภาพ ยกระดับผลผลิต ปลูกพืชที่สร้างรายได้ มีมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งข้าวนาปรังตามปกติไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือ แต่เมื่อมีปัญหาราคาตกต่ำลง การช่วยเหลือก็จะต้องมีเงื่อนไขเพราะต้องการปรับโครงสร้างการผลิต ซึ่ง นบข.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมากำกับดูแล

สำหรับขั้นตอนการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครอบครัวละ 10 ไร่ หรือ 10,000 บาท จะจ่ายให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูกข้าวนาปรังโดยตรง เกษตรกรขึ้นทะเบียนปลูกข้าวนาปรังไว้แล้ว 3.2 แสนครัวเรือน หรือประมาณ 5.5 ล้านไร่ และปี 2568 มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 2.3 แสนครัวเรือน หรือประมาณ 4 ล้านไร่ โดยเกษตรกรยังสามารถขึ้นทะเบียนได้จนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2568

“ส่วนข้อเสนอของคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ ที่ก่อนหน้านี้เสนอให้ใช้มาตรการฝากเก็บยุ้งฉาง ให้เงินค่าฝากตันละ 1,000 บาท และ 1,500 บาท สำหรับฝากเก็บกับสหกรณ์และเก็บเอง ที่ประชุม นบข.เห็นว่า ถ้าใช้มาตรการนี้ข้าวที่ฝากเก็บไว้ก็จะเป็นภาระกับรัฐบาลในอนาคต หากเกษตรกรไม่มาไถ่ถอน เพราะข้าวนาปรังส่วนใหญ่จะไม่เก็บไว้นาน ไม่เหมือนข้าวนาปีหรือข้าวหอมมะลิ ที่คุณภาพดีกว่า เก็บไว้ได้นานราคาดีขึ้น” นายวิทยากรกล่าว

ADVERTISMENT

ข้าวออกมากราคาดิ่งเท่าต้นทุน

ด้านนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า สมาชิกสมาคมชาวนาฯกว่า 100,000 ราย “ยอมรับมติ นบข. ที่จะจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ต่อครัวเรือน” แม้อาจจะทำให้เกษตรกร ชาวนาบางกลุ่มไม่พอใจมาตรการก็ตาม

โดยจากนี้คงต้องติดตามสถานการณ์ราคาข้าวอย่างใกล้ชิด เชื่อว่ามีโอกาสที่ข้าวนาปรังออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงเดือนมีนาคมนี้ ดังนั้นราคาข้าวนาปรังจะดิ่งลง มีโอกาสที่จะเท่ากับต้นทุนการผลิต ซึ่งอยู่ที่ 6,000-6,500 บาทต่อไร่

ADVERTISMENT

โดยราคาซื้อขายข้าวนาปรังขณะนี้ยังเฉลี่ยอยู่ที่ 8,000-9,000 บาทต่อตัน ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพและความชื้น ส่วนแนวโน้มผลผลิตข้าวนาปรังในปีนี้คาดว่า เพิ่มขึ้น 10-12 ล้านไร่ อย่างไรก็ดี ทางสมาคมยังเรียกร้องขอมาตรการเสริมจากรัฐบาล เช่น การหาแหล่งน้ำ การหาเมล็ดพันธุ์ การช่วยเหลือราคาปุ๋ย ยาฆ่าแมลง น้ำมัน ส่วนในกรณีจะมีชาวนาบางกลุ่มออกมาประท้วงลงถนนนั้น “สมาคมของเราไม่ได้มีนโยบายเรื่องนี้” แต่ต้องยอมรับว่าชาวนามีเยอะทั่วประเทศไปห้ามเขาไม่ได้

ชาวนาภาคกลางขอ 20,000 บาท

นายสมชัย ไตรถาวร ประธานชมรมชาวนา จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ชมรมได้หารือกับสมาชิกในกลุ่มผู้ปลูกข้าวนาปรังในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, สุพรรณบุรี, นนทบุรี, ปทุมธานี, นครปฐม โดยสมาชิกต้องการให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือ 1,000 บาท/ไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน หรือ 20,000 บาท ซึ่งจะเสนอหน่วยงานรัฐให้พิจารณาอีกครั้ง

“จากการติดตามและสอบถามสมาชิกทราบว่า มีชาวนาบางกลุ่มในพื้นที่จังหวัดพิจิตรและจังหวัดพระนครศรีอยุธยาบางส่วน จะมีการรวมกลุ่มและเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 3 มีนาคมนี้เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือชาวนา เช่น ให้รัฐบาลประกันรายได้หรือจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวนา ตันละ 11,000 บาท การจัดหาแหล่งน้ำ”

โรงสีให้รัฐทำการบ้านล่วงหน้า

นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ทางสมาคมพร้อมที่จะช่วยเหลือในการรับซื้อข้าวกับชาวนา ซึ่งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 ผู้ประกอบการโรงสีได้มีการรับซื้อข้าวเพิ่มขึ้นเพื่อพยุงราคาข้าวนาปรังไม่ให้ขยับลงไปมากเกินไป

รวมไปถึงดึงซัพพลายออกจากตลาดให้มากที่สุด แม้จะไม่มีมาตรการจูงใจจากภาครัฐในเรื่องของการชดเชยดอกเบี้ย 6% ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม เพราะท้ายที่สุดแล้วผู้ประกอบการโรงสีก็ต้องการที่จะทำตลาดซื้อขายข้าวเป็นไปตามกลไกตลาดมากกว่า

เพียงแค่จากนี้อาจจะต้องช่วยเหลือในการรับซื้อข้าวให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงสีที่มีกำลังซื้อและสภาพคล่องสูง เพื่อต้องการพยุงราคาข้าวไม่ให้ลดลง

“ผมแนะนำให้หน่วยงานภาครัฐควรที่จะวางแผนออกมาตรการช่วยเหลือราคาข้าวในระยะยาว รัฐบาลต้องทำการบ้านล่วงหน้า ไม่ควรที่จะออกมาตรการในระยะสั้น หรือเจอปัญหาแล้วแก้ไข โดยในวันที่ 1 มีนาคม 2568 นี้ ทางสมาคมโรงสีข้าวจะมอบนโยบายให้กับสมาชิกได้รับรู้ถึงมาตรการและขอความร่วมมือในการเข้ารับซื้อข้าวนาปรังให้มากขึ้น และการเก็บสต๊อกข้าวไว้เพื่อช่วยเหลือชาวนา

ส่วนราคาข้าวนาปรังตอนนี้ยังเชื่อว่าจะทรงตัว 8,500 บาทต่อตัน ส่วนในช่วงเดือนมีนาคมที่ข้าวนาปรังจะออกมาเยอะ ราคาข้าวอาจจะมีการปรับลงบ้าง” นายบรรจงกล่าว

จับตาขึ้นทะเบียนนาปรัง

มีรายงานข่าวจากวงการค้าข้าวเข้ามาว่า มติจ่ายเงินตรงให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาทไม่เกิน 10 ไร่ต่อครอบครัว หรือ 10,000 บาท ของ นบข. เป็นการ “ล้มมติ” ของคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติก่อนหน้านี้ที่เลือกจะใช้วิธีฝากเก็บข้าวเพื่อชะลอข้าวนาปรังให้ออกสู่ตลาดน้อยลง ซึ่งวิธีการนี้จะมีปัญหาเรื่องของการฝากเก็บ “ข้าวสด” ที่เป็นภาระ

ประกอบกับสหกรณ์การเกษตรและชาวนาที่จะเข้าร่วมโครงการก็ไม่มีความพร้อม ด้านโรงสีข้าวเองก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้กับการชดเชยอัตราดอกเบี้ย 6% แลกกับการเก็บข้าวในสต๊อก 2-6 เดือน ซึ่งคาดการณ์ว่าราคาข้าวจะตกต่ำลงไปกว่านี้อีก เนื่องจากข้าวไทยมีราคาสูงกว่าคู่แข่งและไม่มีคำสั่งซื้อข้าวลอตใหญ่เข้ามาเลย

“รัฐบาลจึงเลือกวิธีการจ่ายเงินสดให้ชาวนาโดยตรงตามความสามารถที่จะจ่ายได้ โดยใช้เงินคงเหลือจากโครงการช่วยเหลือราคาข้าวนาปี 2567/2568 ที่ผ่านมา หรือยังไม่ต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ ส่วนเรื่องที่ต้องจับตาดูต่อจากนี้ไปก็คือ การลงทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปรัง จากปัจจุบัน 2.3 แสนครัวเรือน ประมาณ 4 ล้านไร่ (ประมาณการพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 12 ล้านไร่ ผลผลิต 7.864 ล้านตันข้าวเปลือก) จะเพิ่มขึ้นมาอีกเท่าไหร่

เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐ “จำกัด” การช่วยเหลือ 1,000 บาทต่อไร่ ไว้แค่ครอบครัวละไม่เกิน 10 ไร่ ดังนั้นการที่ชาวนาจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาทเพิ่มขึ้น ก็มีทางเดียวคือการแตกสมาชิกในครัวเรือนออกไปขึ้นทะเบียนเป็นครัวเรือนใหม่ ซึ่งวิธีการนี้มีการทำกันมาแล้วในโครงการขึ้นทะเบียนเพื่อช่วยเหลือราคาข้าวนาปีในอดีต” แหล่งข่าวกล่าว

ข้าวถุงรอดูเงื่อนไข

นายยงยุทธ พฤกษ์มหาดำรง นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาข้าวถุงยังคงทรงตัว โดยข้าวขาวถุง 5 กิโลกรัม เฉลี่ยอยู่ราคาที่ 100-110 บาท ส่วนราคาข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 200 บาท โดยจากนี้ ราคาข้าวถุงจะมีการปรับขึ้นหรือลดลงหรือไม่

โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก “ยังไม่สามารถระบุหรือฟันธงได้” เพราะต้องยอมรับว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงราคาข้าวในตลาดโลกด้วย

“การแข่งขันราคาข้าวถุงในตลาดในประเทศยังคงรุนแรง ยังมีการแข่งขันจัดทำโปรโมชั่น ลดราคา เพื่อดึงดูดการบริโภคอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นราคาจะขึ้นหรือลงยังไม่สามารถประเมินได้”

สำหรับมาตรการของภาครัฐที่จะมีการรณรงค์การบริโภคข้าวเพื่อดึงข้าวนาปรังออกจากตลาด 500,000 ตัน โดยจะขอความร่วมมือสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุง ห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรด ได้รับรู้ถึงนโยบายแล้ว แต่ขอติดตามดูข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งปริมาณข้าวที่จะนำมาทำข้าวถุง โปรโมชั่น

รวมไปถึงราคาที่จะกำหนดขาย เพราะการกำหนดราคาจะต้องดูต้นทุนที่มีการรับซื้อ รวมไปถึงจำเป็นจะต้องมีการหารือกับห้างสรรพสินค้า เพื่อดูในเรื่องของการวางขาย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีต้นทุนเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น