ปศุสัตว์แจงนำเข้าข้าวบาร์เลย์1.2แสนตัน ขึ้นทะเบียนถูกต้อง ชี้ลดสัดส่วนนำเข้าข้าวสาลีเหลือ2ต่อ1ไม่กระทบราคาข้าวโพดในประเทศ

น.สพ.สรวิศ ธานีโต รักษาราชการอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากกรณีบริษัทกรุงเทพโปรดิ๊วส์ จำกัด ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่นำเข้าข้าวบาร์เลย์จากประเทศออสเตรเลีย 120,000 ตัน ในปี 2561 ช่วงเดือน พ.ค. จำนวน 2 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 125,380 ตัน โดยนำเข้าทางท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านการตรวจสอบจากด่านกักกันสัตว์ชลบุรี และด่านตรวจพืชแหลมฉบัง ก่อนศุลกากรจะนำสินค้าเข้าราชอาณาจักรนั้น จาการตรวจสอบผู้นำเข้ามีเอกสารหลักฐานการนำเข้าทั้ง 2 ครั้ง โดยระบุว่าใช้สำหรับทำอาหารสัตว์ (FEED BARLEY) อย่างชัดเจน ทั้งในเอกสารของกรมปศุสัตว์ และศุลกากร ซึ่งเป็นตามระเบียบทุกอย่าง

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ได้ลงสุ่มตรวจสอบโรงงานอาหารสัตว์ที่นำข้าวบาร์เลย์พบว่ามีการนำไปใช้ในสูตรอาหารสัตว์ที่ขึ้นทะเบียนไว้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ และยังไม่พบการกระทำผิด ส่วนการสุ่มเก็บตัวอย่างข้าวบาร์เลย์ที่นำเข้าส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการรวม 10 ตัวอย่างนั้น ไม่พบสารพิษจากเชื้อราทุกตัวอย่าง

“ปีนี้เป็นครั้งแรกในรอบหลายรอบปีที่มีการนำเข้าปลายข้าวบาร์เลย์มาใช้ผลิตอาหารสัตว์ทดแทนข้าวโพดที่ขาดแคลนในช่วง 3 เดือนเท่า โดยราคานำเข้าข้าวบาร์เล่ย์อยู่ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ซึ่งเป็นราคาใกล้เคียงกับราคาข้าวโพดในปัจจุบัน”

สำหรับปี 2561 ประเทศไทยมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ จำนวน 8.25 ล้านตัน โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะเริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาดในเดือน มิ.ย. 2561 และจะออกกระจุกตัวมากในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย.2561 ของทุกปี ประมาณ 3.37 ล้านตัน ทำให้ช่วงนี้เป็นช่วงขาดแคลน


ล่าสุดในวันที่ 14 มิ.ย.61 คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) จึงมีมติเห็นชอบกำหนดสัดส่วนให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 2 ส่วน เพื่อจะได้สิทธินำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน (2 ต่อ 1) จากเดิมต้องซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน เพื่อจะได้สิทธินำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน (3 ต่อ 1) เฉพาะช่วงวันที่ 15 มิ.ย. – 15 ส.ค. 2561 เท่านั้น ก่อนจะกลับไปใช้สัดส่วนเดิม ซึ่งคาดว่าการกำหนดสัดส่วนใหม่นี้จะไม่กระทบต่อราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ