
‘ทุนจีน’ ยึดหัวหาดงานก่อสร้างครบวงจร ทำเลศักยภาพโซน EEC ทำรับเหมาไทยอ่วม เผยปัญหาทำงานขาดทุน และไม่มีสภาพคล่อง
มติชน รายงาน ปรากฎการณ์ “ทุนจีน” รุกคืบธุรกิจไทย ในหลากหลายวงการ เริ่มออกมาให้เห็นผลกระทบอย่างชัดเจน อย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าธุรกิจทัวร์ โรงแรม ร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนรับเหมาก่อสร้าง ที่ปัจจุบันกลายเป็นการทำธุรกิจแบบเบ็ดเสร็จ ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
อย่างไรก็ตามมีการสะท้อนว่า หากมาในบทบาทของนักลงทุน ไม่มีการสยายปีกครอบคลุมธุรกิจทั้งหมด ก็ถือว่าเป็นโอกาสทองของประเทศไทย ที่มีต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก แต่ในโอกาสนั้นก็มีการตั้งคำถามตามมาว่า…สุดท้ายแล้วประเทศไทยจะได้อะไรและน่าจะถึงเวลาที่ต้องเอาจริงแล้วหรือยัง ?
โฟกัสตลาดรับเหมาก่อสร้าง ‘กฤษดา จันทร์จำรัสแสง’ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉายภาพว่า ผู้รับเหมาจีนเริ่มเข้ามาประมูลและรับงานก่อสร้างในประเทศไทยได้ประมาณ 5-6 ปีแล้ว ส่วนใหญ่เป็นผู้รับเหมารายใหญ่ของจีนที่เข้ามารับงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ระดับเมกะโปรเจ็กต์ โดยจอยต์เวนเจอร์กับผู้รับเหมาไทย เช่น รถไฟทางคู่ ทางด่วน รถไฟความเร็วสูง เป็นต้น
“แต่ในช่วง 2 ปีมานี้เริ่มเข้ามากขึ้น หลังมีการลงทุนของจีนเข้ามามาก เช่น ธุรกิจคลังสินค้า โดยเฉพาะในพื้นที่โซนตะวันออกหรืออีอีซี จะมีการใช้แรงงานของจีน วัสดุก่อสร้างทุกอย่างที่ขนมาจากจีนมาก่อสร้างในพื้นที่เองแบบครบวงจร แม้กระทั่งสี หลังคาเมทัลซีส ก็ขนมาเอง เมื่อก่อนยังมีใช้แรงงานหรือของไทยบ้าง แต่ปัจจุบันนี้ใช้ของจีนทั้งหมด” กฤษดากล่าว
กฤษดาอธิบายเพิ่มเติมว่า วิธีการเข้ามาของจีน จะเป็นการเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ต้นทาง เช่น บริษัทนี้จดทะเบียนตั้งบริษัทในไทย เพื่อลงทุนในไทย จะมีการจ้างผู้รับเหมาและเลือกใช้วัสดุก่อสร้างจากจีนไว้แล้วก่อนที่จะเข้ามา หรือแม้กระทั่งการก่อสร้างโครงการวิลล่าหรูต่าง ๆ ก็ดำเนินการเองทั้งก่อสร้าง
การตกแต่ง ไม่จ้างผู้รับเหมาไทยแต่อย่างใด ถามว่ามีผลกระทบกับรับเหมาไทยหรือไม่ ยอมรับว่ามีผลกระทบ แต่ถ้ามองในอีกแง่มุมหนึ่ง เราก็ไม่ต้องไปรับความเสี่ยง ถ้าหากงานล่าช้าหรือสร้างไม่เสร็จ
กฤษดากล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะว่าถ้าหากนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาอีก ไม่ว่าจะมาจากจีนหรือประเทศอื่นๆ อยากให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นมากขึ้น เช่น การออกแบบและก่อสร้างต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหรือใบรับรองกว. รวมถึงแรงงาน และการใช้วัสดุก่อสร้างที่ต้องมีความเข้มงวดด้วย
กฤษดากล่าวว่า ปัจจุบันงานก่อสร้างในประเทศไทยถือว่าออกมาน้อยลง ซึ่งรวมถึงงานในงบประมาณของปี 2568 ด้วย ขณะที่สถานการณ์ของบริษัทผู้รับเหมาเองก็ไม่ค่อยดี ไม่มีสภาพคล่อง เนื่องจากสถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้ มีแนวโน้มสถานการณ์จะไม่ดีไปอย่างน้อย 2 ปี
“ปัญหาใหญ่ของผู้รับเหมา คือ ทำงานขาดทุน และไม่มีสภาพคล่อง โดยเฉพาะรายกลางและรายเล็กที่แย่กันหมด ที่ผ่านมามีปิดกิจการไปพอสมควร หนี้เสียเยอะ ส่วนใหญ่มาจากงานโครงการอาคารเอกชน เช่น คอนโดมิเนียม เมื่อโครงการไม่เวิร์คจะชะลอจ่ายเงิน ผู้รับเหมาก็ต้องนำเงินโครงการที่ได้เงินมาหมุนโครงการที่ไม่ได้เงิน กระทบการจ่ายเงินซัพพลายเออร์วัสดุก่อสร้างที่หลัง ๆ จะขอเป็นเงินสดแทน
เมื่อไปต่อไม่ไหวก็ต้องปิดกิจการ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีจะกระทบลามเป็นลูกโซ่ ทำให้แบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้เพราะกลัวเป็นหนี้เสีย แต่รายใหญ่ยังไปได้เพราะยังสามารถออกหุ้นกู้ได้” กฤษดากล่าว