
“เอกนัฏ” เตรียมถกกรมโยธาธิการและผังเมือง ลดปัญหาความล่าช้า การจัดสรรพื้นที่ เผยมีที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมพร้อมขายกว่า 23,662.45 ไร่ พร้อมพัฒนาอีก 50,000 ไร่ ตั้งเป้าเพิ่ม GDP 1% ภายในปี 2568 เดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมยั่งยืน ลดขั้นตอนอนุมัติ ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในระหว่างการประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น อมตะ WHA เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ว่าเป้าหมายหลักของการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในปีนี้ตั้งไว้เพิ่ม GDP ขึ้น 1% ให้ได้ภายในปี 2568 ขณะเดียวกันมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยเป้าหมายหลักคือลดขั้นตอนการอนุมัติโครงการ เร่งกระบวนการลงทุน และพัฒนาพื้นที่รองรับการลงทุนในอนาคตกว่า 50,000 ไร่
ที่สำคัญที่สุดในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ทำอย่างไรที่จะพลิกฟื้นภาคอุตสาหกรรมให้กลับมาเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความยั่งยืน ขณะเดียวกัน ได้เตรียมร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม และขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบ แก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายและขยะพลาสติก
ซึ่งหากประชาชนพบปัญหาเกี่ยวกับโรงงานเถื่อน หรือโรงงานที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนสามารถแจ้งเรื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ ‘แจ้งอุต’ โดยเมื่อได้รับแจ้งกระทรวงจะส่งทีมเฉพาะกิจตรวจสุดซอยลงพื้นที่ตรวจสอบการประกอบกิจการที่ฝ่าฝืนกฎหมายทันที และจะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดกับผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการกับธุรกิจสีเทาและส่งเสริมผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามกฎหมาย
“ผมกำหนดเป้าหมาย KPIs เพิ่ม GDP ขึ้น 1% ภายในปี 2568 มุ่งเน้นลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมใหม่ และอุตสาหกรรมสีเขียว การให้ความรู้ (knowledge) แก่บุคลากร ให้มีทักษะรองรับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการลดขั้นตอนการอนุมัติ-อนุญาต รวมทั้งโครงการส่งเสริม SMEs พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ การสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ เน้นส่งเสริม GDP ผ่านภาคอุตสาหกรรม
พร้อมตั้งเป้าขยายฐานการผลิตในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อดึงดูดการลงทุนและสนับสนุนผู้ประกอบการผ่านการผลักดันพระราชบัญญัติโซลาร์เซลล์ ที่ในอนาคตผู้ประกอบการสามารถติดตั้งได้โดยไม่ต้องขออนุญาต รวมถึงการปรับโครงสร้างพลังงานเพื่อลดค่าไฟฟ้า และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าใช้ในนิคมอุตสาหกรรม”
นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ.อยู่ระหว่างการปรับปรุงกระบวนการอนุมัติจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม จากเดิม 9 ขั้นตอนเหลือเพียง 8 ขั้นตอน เพื่อลดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในการดำเนินโครงการ รวมทั้งให้เร่งการอนุมัติโครงการ โดยอนุญาตให้ประกาศพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้ก่อนรายงาน EIA จะเห็นชอบ
ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่อุตสาหกรรมพร้อมขาย 23,662.45 ไร่ และมีพื้นที่เสนอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 4,959 ไร่ รวมถึงโครงการที่คาดว่าจะจัดตั้งหรือขยายในอนาคตอีก 27 โครงการ ในพื้นที่ EEC อีก 71,243 ไร่ โดยที่ผ่านมาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมีการขยายธุรกิจและการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดย กนอ.ได้เร่งรัดกระบวนการขออนุญาตเรื่องการประกาศเขตเพื่อให้สามารถขายสินค้าได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม กนอ.จะพร้อมเป็นกลไกขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม โดยจะประสานความร่วมมือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้กับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างการเติบโต GDP ของภาคอุตสาหกรรมอย่างน้อย 1% ในปี 2568