
GC ตั้งเป้าพลิกจากภาวะขาดทุน ฝ่าจุดต่ำสุดอุตสาหกรรม มุ่งลดต้นทุน เพิ่มรายได้ 4,500 ล้านบาทต่อปี เดินหน้าสู่ธุรกิจมูลค่าสูง-คาร์บอนต่ำ ผลักดัน EBITDA 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573
นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า อุตสาหกรรมในภาพรวมกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน นโยบายสหรัฐอเมริกาที่เปลี่ยนแปลง และภาวะอุปทานส่วนเกินในธุรกิจปิโตรเคมี
อย่างไรก็ตาม GC ยังเดินหน้าพลิกธุรกิจ หยุดภาวะขาดทุน และมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพและมุ่งขยายไปยังธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ GC มั่นใจว่าคนของเรามีศักยภาพพร้อมที่จะสร้างความแตกต่าง เพื่อปรับธุรกิจให้ตอบสนองต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลง
GC มุ่งมั่นพลิกผลประกอบการด้วย Holistic Optimization เพื่อเร่งนำธุรกิจกลับสู่สถานการณ์ปกติท่ามกลางจุดต่ำสุดของอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ 4,500 ล้านบาทต่อปี ผ่านการประหยัดค่าใช้จ่าย เสริมสภาพคล่องจากสินทรัพย์ที่มี และปรับปรุงการดำเนินงานให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมเสริมความแข็งแกร่งด้วยมาตรการระยะกลางผ่าน 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การเสริมศักยภาพธุรกิจมูลค่าสูง และการเติบโตในธุรกิจที่ยั่งยืน
การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันและสร้างความมั่นคงในระยะสั้น GC ได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และรักษาเสถียรภาพของธุรกิจ โดยบรรลุข้อตกลงการจัดหาอีเทนกับ ปตท. คาดว่าจะได้รับการจัดสรรปริมาณอีเทนเพิ่มขึ้นอีก 20% จากปี 2567 พร้อมกันนี้ บริษัทยังใช้บริหารสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวทาง Asset Light และลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (Capex) รวมถึงดำเนินมาตรการเสริมสภาพคล่องผ่านวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน เพื่อรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและรองรับการเติบโตในอนาคต
ส่วนการเสริมความมั่นคงด้านวัตถุดิบและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนในระยะยาว GC เป็นรายแรกจะที่นำเข้าอีเทนจากสหรัฐมาใช้ในประเทศไทย เพื่อทดแทนวัตถุดิบอื่น ๆ โดยได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับ ปตท. และพันธมิตรระดับโลก ได้แก่ บริษัทย่อยใน Enterprise Products Partners บริษัท เอ็มไอเอสซี เบอร์ฮาด และบริษัท ไทยแท้งค์เทอร์มินัล จำกัด เพื่อจัดหาและขนส่งอีเทนคุณภาพสูง 400,000 ตันต่อปี เป็นระยะเวลา 15 ปี
ทั้งนี้ GC สามารถนำอีเทนมาใช้เป็นวัตถุดิบได้โดยไม่ต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของโรงงาน ซึ่งได้รับการออกแบบให้รองรับอีเทนได้ตั้งแต่ต้น ลดความจำเป็นในการลงทุนเพิ่มเติม คาดว่าโครงการจะเริ่มดำเนินการในปี 2572
การเสริมศักยภาพธุรกิจมูลค่าสูง
GC เดินหน้า allnex SEA Hub ในระยอง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในเฟสแรก และคาดว่าจะตัดสินใจลงทุนภายในปี 2568 โดยมุ่งเน้น Waterborne Coatings และ Coating Resins ชนิดพิเศษ เพื่อขยายตลาดในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ ในขณะเดียวกัน บริษัทผลักดัน allnex ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องผ่านกลยุทธ์ขยายตลาดและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ในปี 2567 allnex ได้เพิ่มกำลังการผลิตในโรงงานที่ใหญ่ที่สุดที่มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน และลงทุนในโรงงานแห่งใหม่ที่เมืองมะหาด ประเทศอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 3 ปี 2568 โครงการนี้ช่วยเสริมศักยภาพด้านการผลิตและการกระจายสินค้าในตลาดที่มีการเติบโตสูง
นอกจากนี้ การพัฒนามาบตาพุดเป็น Specialty Hub ยังถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของ GC เพื่อรองรับธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ โดยอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อดึงดูดพันธมิตรระดับโลกที่จะส่งเสริมธุรกิจทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการศึกษาความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจรายอื่น ๆ เพื่อนำโครงการใหม่ ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Specialty Hub โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างศูนย์กลางอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์เฉพาะทางที่ครบวงจร
เช่น การร่วมมือกับ Toray เพื่อศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ สิ่งทอ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้รับทุนสนับสนุนญี่ปุ่นจากรัฐบาล คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในปี 2570
การเติบโตในธุรกิจที่ยั่งยืน
GC มุ่งขับเคลื่อนความยั่งยืนผ่านโซลูชั๋นเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมตลาดและอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ พลังงานสะอาด วัสดุชีวภาพ ไปจนถึงเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty Chemicals) เพื่อตอบสนองแนวโน้มของตลาดโลกที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย GC ให้ความสำคัญกับ 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลักในธุรกิจ Bio & Circularity ได้แก่
- โอลีโอเคมี (Oleochemicals) – มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จากพืช ผ่านการดำเนินงานของ GGC และ Emery ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้ GC Group พัฒนาโซลูชั่นเคมีชีวภาพที่สามารถทดแทนการใช้วัตถุดิบฟอสซิลในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล และเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ
- พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) – ผ่าน NatureWorks บริษัทร่วมทุนกับ Cargill ในการพัฒนาและผลิต PLA ซึ่งเป็นวัสดุชีวภาพที่ย่อยสลายได้ รองรับตลาดบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างและพร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปลายปี 2568
- พลาสติกรีไซเคิล (Recycled Plastics) – เป็นผู้บุกเบิกและขยายตลาดวัสดุรีไซเคิลคุณภาพสูงมาอย่างยาวนาน โดย ENVICCO ผลิต rPET และ rHDPE ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม
- เชื้อเพลิงและพอลิเมอร์ชีวภาพ (Biofuels & Biopolymer) – GC ขยายศักยภาพผ่าน Biorefinery ที่ครบวงจร ได้แก่ เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) สำหรับอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงผลิตภัณฑ์ Biochemicals และ Biopolymer สำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ก่อสร้าง ตกแต่ง ชิ้นส่วนยานยนต์ ขิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งทอ