
สหรัฐกดดันยูเครน หวังยุติสงครามกับรัสเซีย แต่ยูเครนต้องแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือของสหรัฐเป็นแร่หายากที่ยังไม่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากการทำเหมือง ขณะที่ไทยอนุญาตเอกชนสำรวจจนพบแร่สำคัญอย่างลิเทียม และพร้อมที่จะให้ประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ลิเทียมในอนาคตต่อไป หากมีปริมาณลิเทียมยืนยันในเชิงพาณิชย์แล้ว
“ลิเทียม” หนึ่งในแร่สำคัญและหายาก (Rare Earths) ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการการเข้าถึงแหล่งสำรองจากทรัพยากรแร่ของยูเครน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการสนับสนุนยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซียในมูลค่าเทียบเท่า 500,000 ล้านเหรียญ ทั้งการสนับสนุนของสหรัฐในอดีตและปัจจุบัน แม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะยังไม่ตกลงกันได้ในการเปิดทางให้สหรัฐเข้าถึงแหล่งแร่ก็ตาม แต่ก็ได้จุดประกายความสนใจต่อความต้องการที่จะครอบครองแหล่งลิเทียมในอนาคต
มีการคาดการณ์กันว่ายูเครนมีปริมาณสำรองแร่ลิเทียมอยู่ประมาณ 450,000 ตันที่ยังไม่ได้ขุดขึ้นมาใช้ โดยแร่เหล่านี้กระจายอยู่ในเขตที่รัสเซียยึดครองอย่างในแหล่งครูตา บัลกา หรือเชฟเชนกิฟสกี แต่บางแหล่งในภูมิภาคคิโรวอฮราดยังอยู่ในความควบคุมของยูเครนอยู่
หันกลับมาที่ประเทศไทย ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้รายงานการสำรวจพบแหล่งแร่ลิเทียมในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันตกของประเทศ เฉพาะที่ภาคใต้เคยมีการให้อาชญาบัตรสำรวจในแหล่งเรืองเกียรติ กับแหล่งบางอีตุ้ม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ในปี 2562
ล่าสุดบริษัทแพนเอเซีย 2 เมทัล (ประเทศไทย) ได้ยื่นขออาชญาบัตรสำรวจ 2 แปลงใน จ.พังงา พื้นที่รวม 11,587 ไร่ ได้รับอนุญาตไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 สิ้นสุดอายุในวันที่ 28 มีนาคม 2572 มีระยะเวลาสำรวจ 5 ปี
อย่างไรก็ตาม เฉพาะที่แหล่งเรืองเกียรติ ซึ่งเป็นแหล่งแร่จากหินแข็งคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource) ประมาณ 14.8 ล้านตัน ที่เกรดลิเทียมออกไซต์เฉลี่ย 0.45% หรือมีปริมาณลิเทียมคาร์บอเนตเทียบเท่า (LCE) ประมาณ 164,500 ตัน หากมีการทำเหมืองในอนาคตอย่างเหมาะสมคาดการณ์สามารถนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ 25%
นอกจากแหล่งแร่ลิเทียมที่ จ.พังงา แล้วในปัจจุบันยังมีผู้ยื่นขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ลิเทียมในบริเวณจังหวัดราชบุรี-กาญจนบุรีอีก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัทไทยเวสท์ นิว เมทัลส์ ได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 สิ้นสุด 4 กันยายน 2569 ขนาดพื้นที่ 1,090 ไร่ กับบริษัทเรืองสินทวี ได้ใบอนุญาต 23 กุมภาพันธ์ 2567 สิ้นอายุวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2569 ขนาดพื้นที่ 2,258 ไร่
จากข้อมูลการสำรวจของผู้ประกอบการ เชื่อว่าแหล่งแร่ลิเทียมทางภาคตะวันตกมีความเข้มข้นและมีปริมาณมากกว่าแหล่งลิเทียมที่ภาคใต้ โดยความคืบหน้าล่าสุดผู้ขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจทั้ง 2 ราย กำลังอยู่ระหว่างขออนุญาตทหาร เนื่องจากเป็นพื้นที่ในเขตความมั่นคงและเจ้าของพื้นที่คือกรมธนารักษ์ บางส่วนเป็นพื้นที่ป่า
ทั้งนี้ การพบแหล่งแร่ลิเทียมในประเทศได้รับการสนับสนุนทางด้านนโยบาย EV 3.5 จากรัฐบาลในการที่จะผลักดันให้ไทยเป็นฮับในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนต่อไป