เปิดใจ ‘ปราโมทย์’ นายกชาวนา ย้ำไม่ออกประท้วง รับชาวนาเดือดร้อนจริง

“ปราโมทย์” เผยว่าทางสมาคมยังยืนยันในแนวทางและนโบายไม่ออกมาประท้วง แต่พร้อมที่จะพูดคุยหารือ เพื่อร่วมหาทางออกร่วมกัน ขณะที่ วันนี้ (4 มีนาคม 2568) ชาวนาภาคกลางที่ได้รับความเดือดร้อน ออกมาประท้วงเรียกร้อง 11,000 บาทต่อตัน

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวกับ “ประาชชาติธุรกิจ” ว่า สมาชิกของสมาคม ซึ่งมีสมาชิกชาวนากว่า 100,000 ราย ยังคงมีแนวนโยบายร่วมกัน ว่าจะไม่มีการเดินออกไปประท้วง ลงถนน โดยยังเน้นการหารือแบบพูดคุยเจรจากันมากกว่า เพราะเราเข้าใจในสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจที่มีผลกระทบ ทั้งที่เกิดจากในและต่างประเทศ แม้ในขณะวันนี้ (4 มีนาคม 2568) จะมีพี่น้องชาวนาภาคกลาง ซึ่งไม่ได้อยู่ในสมาชิกรวมตัวกันที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพร้อมเคลื่อนตัวไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องการช่วยเหลือ ราคาข้าวที่ตกต่ำ โดยต้องการให้รัฐบาลช่วยพยุงราคาในความชื้น 15% ที่ราคา 11,000 บาทต่อตัน

“การออกมาประท้วงของพี่น้องชาวนาในครั้งนี้ ผมเข้าใจเพราะชาวนามีความเดือดร้อนจริง ๆ เพราะราคาข้าวมีแนวโน้มตกต่ำ ซึ่งพี่น้องชาวนาต้องการได้ราคาข้าวที่ 11,000 บาทต่อตัน ทำเหมือนข้าวนาปี ในตัวผมเองก็พยายามเสนอและเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลช่วยเหลือราคาที่ 8,500 บาท ซึ่งการประท้วง ผมก็ไม่ได้เห็นด้วย ยังต้องการให้มีการเจรจากันมากกว่า”

โดยต้องยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของชาวนาที่ปลูกข้าวนาปรัง เพราะปกติแล้วข้าวนาปรังจะเก็บเกี่ยวข้าวสดในความชื้นที่ 25 ถึง 30% และประกอบกับข้าวนาปรังนั้น เป็นข้าวที่ต้องมีการเก็บเกี่ยวและจำหน่าย ขายในทันที ไม่มีในเรื่องของการเก็บข้าวเข้ายุ้งฉาง และนอกจากนี้ต้นทุนราคาข้าวของไทยก็เฉลี่ยอยู่ที่ 6,000 บาทขึ้นไป และยังต้องติดตามสถานการณ์ราคาข้าวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงกลางเดือนมีนาคมเป็นต้นไป ซึ่งจะมีผลผลิตออกมาก และก็มีแนวโน้มที่ราคาจะลดลง จึงเป็นผลทำให้วันนี้ชาวนาออกมาประท้วง เพราะถ้าไม่เดือดร้อนจริง ก็เชื่อว่าชาวนาคงจะไม่ออกมาเรียกร้อง

“และการเรียกร้องของชาวนาในครั้งนี้ มีมาจากหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางเช่น จ.พระนครศรีอยุธยา พิจิตร เป็นต้น และต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้มีมาตรการหรือแนวทางการช่วยเหลือชาวนาเลย ในขณะที่รับรู้ถึงสถานการณ์ข้าวโลก ที่อินเดียจะกลับมาอีกครั้ง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อข้าวภายในประเทศ”

โดยราคาซื้อขายขณะนี้ยังเฉลี่ยอยู่ที่ 7,000-8,000 บาทต่อตัน ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพและความชื้น และคุณภาพข้าว บางพื้นที่ก็พบว่าราคาข้าวอยู่ที่ 6,000 บาท ส่วนแนวโน้มผลผลิตข้าวนาปรังในปีนี้ คาดว่าเพิ่มขึ้น 10-12 ล้านไร่ ซึ่งผลผลิตจะออกทั่วทั้งพื้นที่ภาคกลาง เช่น พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สุพรรณ นครปฐม ปทุมธานี นครนายก ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ทางสมาคมก็ยังเรียกร้องมาตรการเสริมที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแล เช่น การหาแหล่งน้ำ การหาเมล็ดพันธุ์ การช่วยเหลือราคาปุ๋ย ยาฆ่าแมลง น้ำมัน ที่ต้นทุนการผลิต ให้มีราคาถูกลง

ADVERTISMENT

อีกทั้ง ยังต้องการให้รัฐเร่งการหาตลาด ผลักดันการส่งออก เพื่อเป็นการสร้างกลไกตลาดให้มีความต้องการ เพื่อจะส่งเสริมให้ราคาข้าวดีขึ้น เพราะต้องยอมรับว่า ตอนนี้อินเดียกลับมาเป็นผู้ส่งออกอีกครั้ง โดยยังเห็นว่าทั้งคุณภาพและปริมาณข้าวของอินเดียก็ดีขึ้น

ADVERTISMENT