
เจ้าของเรือประมงที่ผ่านการประเมินโครงการชดเชยเรือออกนอกระบบจำนวน 923 ลำ กำลังจะได้เงิน หลัง ครม.อนุมัติ “งบฯกลาง” 1,622 ล้านบาท จ่ายให้เพื่อยุติปัญหายืดเยื้อมากว่า 5 ปี
ครม.ได้มีมติอนุมัติโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน หรือ โครงการซื้อเรือประมงคืน หลังยืดเยื้อมานาน ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของชาวประมงที่เข้าโครงการมาตั้งแต่ปี 2562 ที่ยอมนำเรือขึ้นฝั่งและต้องการเงินที่จะไปประกอบอาชีพอื่น
ทั้งนี้ โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบตามมาตรการลดจำนวนเรือประมง เป็น 1 ในมาตรการที่ไทยถูกบังคับให้ดำเนินการตามมาตรการเพื่อป้องกันและขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing) หรือ IUU Fishing ของสหภาพยุโรป
โดยให้ “ใบเหลือง” ประเทศไทย ซึ่งเป็นการแจ้งเตือนที่ว่า ไทยมีการทำการประมงผิดกฎหมาย ไร้การควบคุม ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล จากจำนวนเรือประมงที่ผิดกฎหมายและมีมากจนเกินไป หากไทยไม่แก้ไข EU ก็พร้อมที่จะให้ ”ใบแดง“ หรือระงับการนำเข้าสินค้าประมงต่อไป
ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ดำเนินการลดจำนวนเรือประมง โดยจัดทำโครงการซื้อหรือนำเรือประมงออกนอกระบบมา 2 เฟส หลังจากนั้นโครงการก็หยุดชะงักไป เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ ส่งผลให้เกิดเรือประมงที่เข้าร่วมโครงการตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก โดยชาวประมงได้เรียกร้องให้แก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด
ล่าสุด ครม.ได้มีมติวันที่ 3 มีนาคมทึ่ผ่านมา อนุมัติกรอบวงเงิน 1,622,605,300 บาท จาก “งบฯกลาง” รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปี 2568 รับซื้อเรือตามการประเมินราคาค่าใช้จ่ายนำเรือออกนอกระบบจำนวน 923 ลำ แบ่งเป็น
1) กลุ่มเรือที่ประสงค์จะแยกชิ้นส่วนหรือทำลายเรือด้วยการแยกชิ้นส่วนให้สิ้นสภาพจำนวน 873 ลำ วงเงิน 1,517,870,400 บาท 2) กลุ่มเรือที่ประสงค์แยกชิ้นส่วนหรือทำลายเรือ โดยการนำไปใช้ประโยชน์อื่น เช่น ทำร้านกาแฟ ห้องสมุด โรงแรม ที่พัก จำนวน 3 ลำ วงเงิน 1,034,600 บาท และ 3) กลุ่มเรือที่ประสงค์เปลี่ยนประเภทเรือ เช่น เรือลากจูง เรือโดยสาร เรือบรรทุกสินค้า จำนวน 47 ลำ วงเงิน 103,700,300 บาท ระยะเวลาการรับซื้อเรือคืน 1 ปี
สำหรับเรือประมงที่จะออกนอกระบบจำนวน 923 ลำ ได้ผ่านการตรวจสอบและเห็นชอบจากคณะอนุกรรมกลั่นกรองการนำเรือออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนแล้ว โดยมีเกณฑ์การกำหนดร้อยละและการชดเชยเยียวยา แบ่งเป็น
โครงสร้างเรือไม้ คะแนน 75-100 คะแนน ได้รับการชดเชยเยียวยาร้อยละ 50 คะแนน 50-<75 คะแนน ชดเชยเยียวยาร้อยละ 45 คะแนน <50 คะแนน ชดเชยเยียวยาร้อยละ 40
โครงสร้างเรือเหล็ก คะแนน 75-100 คะแนน ชดเชยเยียวยาร้อยละ 100 คะแนน 50-<75 คะแนน ชดเชยเยียวยาร้อยละ 55 และคะแนน <50 คะแนน ชดเชยเยียวยาร้อยละ 90
สำหรับเกณฑ์การประเมินสภาพเรือประมงโครงสร้างไม้ กรณีโครงสร้างเรือมี 4 ส่วน (100 คะแนน) ได้แก่ เปลือกเรือ (35) พื้นเรือ/ดาดฟ้า (15) กงเรือ/กระดูกงู (35) และเก๋งเรือ (15)
ส่วนกรณีโครงสร้างเรือมี 3 ส่วน (100 คะแนน) ได้แก่ เปลือกเรือ (40) พื้นเรือ/ดาดฟ้า (20) และกงเรือ/กระดูกงู (40)
การประเมินราคาเรือประมงจะใช้คะแนนการประเมินสภาพเรือไปคำนวณกับขนาดตันกรอสและ “ราคาอ้างอิง” ปี 2558 คำนวณออกมาได้ดังค่อไปนี้
1) ขนาด 1.00-10.00 ตันกรอส ราคากลาง 898,250 บาท ราคาเฉลี่ยรับซื้อเรือคืนต่อตันกรอสในอัตราร้อยละ 100 ของราคากลาง (บาท) 89,825 บาท
2) ขนาด 10.01-20.00 ตันกรอส ราคากลาง 1,796,500 บาท ราคาเฉลี่ยรับซื้อ 89,825 บาท
3) ขนาด 20.01-30.00 ตันกรอส ราคากลาง 2,946,250 บาท ราคาเฉลี่ยต่อตันกรอส 98,208 บาท
4) ขนาด 30.01-40.00 ตันกรอส ราคากลาง 3,829,000 บาท ราคาเฉลี่ย 95,725 บาท
5) ขนาด 40.01-50.00 ตันกรอส ราคากลาง 4,823,750 บาท ราคาเฉลี่ยต่อตันกรอส 96,476 บาท
6) ขนาด 50.01-60.00 ตันกรอส ราคากลาง 5,843,500 บาท ราคาเฉลี่ย 97,391 บาท
7) ขนาด 60.01-70.00 ตันกรอส ราคากลาง 6,685,750 บาท ราคาเฉลี่ยต่อตันกรอส 95,510 บาท
8) ขนาด 70.01-80.00 ตันกรอส ราคากลาง 7,503,000 บาท ราคาเฉลี่ย 93,787 บาท
ส่วนเรือประมงโครงสร้างเหล็ก จะใช้สูตร ^ = (1.025×0.685xLxB)(0.24xD) เป็นเกณฑ์การคำนวณน้ำหนักของเรือประมงเหล็ก ส่วนการคำนวณราคากลาง โดยน้ำหนักเรือเบาคำนวณกับราคากลางของวัสดุที่ใช้ต่อเรือ (68 บาท/กก.)
การประเมินราคาเรือประมง 1) เรือเหล็กที่มีอายุการใช้งาน 0-5 ปี ร้อยละ 60 ของราคากลาง 2) เรือเหล็กที่มีอายุใช้งานมากกว่า 5-15 ปี ร้อยละ 55 ของราคากลาง และ 3) เรือเหล็กทึ่มีอายุการใช้งานมากกว่า 15 ปี ร้อยละ 50 ของราคากลาง