GC-อินโนพาวเวอร์ ลุยธุรกิจคาร์บอนต่ำ กวาดลูกค้านิคม-จ่อใช้มาบตาพุดเป็นฮับ

carbon
อธิป ตันติวรวงศ์-ณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์

ยักษ์พลังงานพลิกกลยุทธ์รับเทรนด์โลก GC หันจับธุรกิจคาร์บอนต่ำ ชี้สถานการณ์ปิโตรเคมียังไร้แววกระเตื้อง ลุยพัฒนามาบตาพุด ทำอุตฯเคมีขั้นสูงผลิตจากวัสดุเหลือใช้ทางเกษตร ขณะที่อินโนพาวเวอร์ลุยธุรกิจลดคาร์บอน โฟกัสลูกค้าในนิคมฯ เปิดตัวโซลูชั่นให้คำปรึกษา ขายคาร์บอนเครดิต

นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน อุปทานส่วนเกินในธุรกิจปิโตรเคมี รวมไปถึงนโยบาย “ทรัมป์ 2.0” เพื่อลดภาวะการขาดทุนและไปสู่เป้าหมายเพิ่มรายได้ 4,500 ล้านบาทต่อปี บริษัทได้ตั้งเป้าหมายการทำธุรกิจในปี 2568 โดยขยายธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ ซึ่งบริษัทเตรียมที่จะเดินหน้า allnex SEA Hub ในระยอง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในเฟสแรก และคาดว่าจะลงทุนภายในปีนี้

GC เล็งธุรกิจคาร์บอนต่ำ

บริษัทจะมุ่งเน้น Waterborne Coatings และ Coating Resins ชนิดพิเศษ เพื่อขยายตลาดในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ ขณะเดียวกันยังจะผลักดัน allnex ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลยุทธ์ขยายตลาดและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยในปี 2567 allnex ได้เพิ่มกำลังการผลิตในโรงงานที่ใหญ่ที่สุดที่มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน และลงทุนในโรงงานแห่งใหม่ที่ เมืองมะหาด ประเทศอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 3 ปี 2568 โครงการนี้ช่วยเสริมศักยภาพด้านการผลิตและการกระจายสินค้าในตลาดที่มีการเติบโตสูง

นอกจากนี้ การพัฒนามาบตาพุด เป็น Specialty Hub ยังถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของ GC เพื่อรองรับธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ โดยอยู่ระหว่างทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อดึงดูดพันธมิตรระดับโลกที่จะส่งเสริมธุรกิจทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ควบคู่ไปกับความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจรายอื่น ๆ เพื่อนำโครงการใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Specialty Hub

โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างศูนย์กลางอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์เฉพาะทางที่ครบวงจร เช่น การร่วมมือกับ Toray เพื่อศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ สิ่งทอ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้รับทุนสนับสนุนญี่ปุ่น คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในปี 2570

มั่นใจเป้าปีนี้ 4,500 ล้านทำได้

“ภาพรวมปี 2567 ธุรกิจปิโตรเคมียังอยู่ในช่วงขาลงและต้องใช้เวลาเพื่อฟื้นกลับไปยังจุดเดิม บริษัทได้ทำมาตรการเชิงรุกในทุกมิติ เพื่อเพิ่มผลประกอบการ โดยปีนี้ยังมองว่า ซัพพลายยังล้นตลาด ประกอบกับนโยบายทรัมป์ ซึ่งจะกระทบหลายเรื่อง เรารอดูว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวหรือไม่ ครึ่งปีหลังจะมีทิศทางอย่างไร หากยังไม่ฟื้นตัวจะจัดการอย่างไร ซึ่งเราจะไม่รอเวลา ทุกอย่างต้องสู้ด้วยต้นทุน ภาพรวมยังไม่สามารถกลับมาเป็นบวก แต่ในแง่เงินสด เราชนะต้นทุน เราจะทำอย่างไรให้กำไรกลับมาเป็นบวก”

ADVERTISMENT

นายณะรงค์ศักด์กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ให้ได้มากกว่า 4,500 ล้านบาทภายในปีนี้ โดยมองจากผลประกอบปี 2567 ค่อนข้างหนัก ขาดทุนสุทธิ 29,800 ล้านบาท ขาดทุนจากการปรับโครงสร้างธุรกิจ ประกอบด้วย ผลกระทบทางบัญชีจากการปรับพอร์ต Vencorex และ PTTAC 21,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นการตัดสินใจออกจากธุรกิจ ขณะที่มีมูลค่าสินทรัพย์กว่า 6 แสนกว่าล้านบาท

ส่วนกรณีที่ปตท.บริษัทแม่ ประกาศว่าได้มีการเจรจาหาพันธมิตรหลายรายเพื่อเข้าร่วมลงทุนในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น ซึ่งรวมถึง GC ด้วยนั้น นายณะรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับผู้ว่าฯปตท. มองว่าธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น ยังเป็นธุรกิจหลักของปตท. การที่ปตท.หาพาร์ตเนอร์เข้ามานั้นก็เป็นการคัดสรรให้บริษัทลูกแข็งแรงมากขึ้น

ADVERTISMENT

อินโนพาวเวอร์ลุยธุรกิจลดคาร์บอน

นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economic & Society) ของกลุ่มประเทศผู้นำเศรษฐกิจ ส่งผลให้ตลาดของการรับรองพลังงานหมุนเวียนและไฟฟ้าสีเขียวภายในไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด ทำให้ในปี 2568 บริษัทได้วางเป้าหมายรายได้รวมที่ 400 ล้านบาท ขยายตัวประมาณ 38% เมื่อเทียบกับปี 2567 และจะเพิ่มพันธมิตรธุรกิจได้มากกว่า 30%

โดยจะขยายกลุ่มเป้าหมายสู่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เมื่อรวมยอดสะสมตั้งแต่ปี 2565 จะรวมลดคาร์บอนได้ราว 4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยบริษัทยังคงมุ่งเน้นกลยุทธ์ “พันธมิตรพิชิตคาร์บอน” เน้นการเป็นพันธมิตรที่ช่วยให้ลูกค้าลดคาร์บอนอย่างยั่งยืน โดยครอบคลุมความต้องการของลูกค้าแบบครบวงจร (End-to-End Solution) โซลูชั่นใหม่ที่บริษัทเปิดตัวในเดือนมกราคม คือ ธุรกิจที่ปรึกษาและบริการด้าน Decarbonization ครบวงจร

ในเดือนมีนาคมนี้ บริษัทจะเปิดตัวธุรกิจ REC Aggregator ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการตรวจรับรอง REC เพื่อรองรับทั้งผู้ใช้ทั่วไปและธุรกิจที่ติดตั้ง Solar Rooftop นอกจากนี้ ยังเตรียมเปิดตัวธุรกิจการซื้อขายและบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า คาดว่าในไตรมาสที่ 3 จะเปิดบริการ Carbon Credit Aggregator ซึ่งบริษัทจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรวบรวมคาร์บอนเครดิตจากการชาร์จไฟฟ้าจากเครื่องชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง (DC Charger) และนำไปซื้อขายในตลาดคาร์บอน และเฟสต่อไปของโครงการยังมีแผนที่จะต่อยอดสู่ผู้ใช้รถ EV โดยทุกระยะทางการขับขี่จะสามารถแปลงเป็นคาร์บอนเครดิตและนำไปขายได้