
“เอกนัฏ” ประกาศนโยบาย Japan First เตรียมพื้นที่ EEC รับการลงทุนจากเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ หนุนทั้งสันดาป อีวี และไฮบริด เพื่อเซฟซัพพลายเชนไทย
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนา Strengthening Thailand-Japan Cooperations on the Face of Renewed Trade Tensions หัวข้อ Thailand’s Industrial Policy : Through Renewed Trade Tensions จัดโดยธนาคารกสิกรไทย ว่า ในปี 2568 รัฐบาลจะทำให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่น ด้วยนโยบาย Japan First เพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังคงอยู่ในไทยและผลักดันให้เป็นฮับของภูมิภาค
ผ่านมาตรการลดภาษีสำหรับรถยนต์ไฮบริด การส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศ การให้สิทธิประโยชน์ การปราบปรามธุรกิจที่ผิดกฎหมายเพื่อไม่ให้กระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวมทั้งหมด การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมา
“ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เราเตรียมทุกอย่างไว้ให้ครบแล้ว และเร็ว ๆ นี้จะมีการขยายพื้นที่เพื่อรองรับนักลงทุนให้มากขึ้น ทั้งในส่วนของนิคมอุตสาหกรรม เขตส่งเสริม พิเศษ เราจะใช้จ่ายงบประมาณให้มากขึ้นเพื่อลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตอนนี้อยู่ระหว่างการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
สิ่งสำคัญคือเราต้องรักษาและปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ไว้ เพราะมันช่วยซัพพลายเชนของไทยจำนวนมาก ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อให้ช่วยดูการกระตุ้นตลาดเพื่อให้ยอดขายรถกลับมา เช่น การช่วยในส่วนของเงินดาวน์รถ การชะลอการใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 6 การมีมาตรการสำหรับ Eco Car กระบะ เป็นต้น”
นายมาซาโตะ โอตากะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไทยและญี่ปุ่นจะต้องโตไปด้วยกันด้วยการเป็นพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นรถสันดาป หรือรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และไฮบริด ซึ่งไทยยังคงเป็นตลาดที่จะเติบโต การจับมือเพื่อสร้างการแข่งขันในระดับโลกระหว่างไทยกับญี่ปุ่น จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ ทั้งการเพิ่มคุณภาพสินค้า หาตลาดที่เหมาะสม ขณะที่การให้การส่งเสริมจากรัฐ คือเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน
นายพิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินว่า บริษัทญี่ปุ่นยังคงมีศักยภาพในการขยายการลงทุนและสร้างการเติบโตในไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นลงทุนสะสมในไทยมูลค่ากว่า 4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40% ของการลงทุนโดยตรง (FDI) และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาคโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับนโยบายและแผนรับมือกับสงครามการค้ารอบใหม่ รัฐบาลไทยได้ใช้มาตรการสำคัญคือ การขยายความร่วมมือทางการค้าผ่านข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า การส่งเสริมการใช้พลังงานงานสะอาด และการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ รวมทั้งการเปิดการเจรจาเพื่อสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์และการมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน รวมไปถึงการสนับสนุนธุรกิจนักธุรกิจที่ยั่งยืน การอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ มาตรการลดมลพิษทางอากาศ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางยุทธศาสตร์ของอาเซียนสำหรับธุรกิจญี่ปุ่น