นฤมลเสนอรัฐสภา พิจารณาข้อบังคับความปลอดภัยอาหารอาเซียน

“รมว.นฤมล” เสนอรัฐสภา พิจารณาข้อบังคับความปลอดภัยอาหารอาเซียน ลดมาตรการทางการค้า หนุนส่งอาหารไทยขยายตลาดอาเซียน ก่อนที่ประชุมลงมติเห็นชอบ

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ในการประชุมรัฐสภาที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาเรื่องด่วนที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ เรื่องความตกลงว่าด้วยกรอบข้อบังคับด้านความปลอดภัยอาหารอาเซียน (ASEAN Food Safety Regulatory Framework Agreement) โดยมี ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ชี้แจงต่อที่ประชุม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ

ศ.ดร.นฤมลกล่าวว่า ความตกลงว่าด้วยกรอบข้อบังคับด้านความปลอดภัยอาหารอาเซียน มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแนวทางการดำเนินการทั้งหมดที่ครอบคลุม และมีการบูรณาการเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหารของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคและอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของอาหารปลอดภัยภายในอาเซียน โดยประกอบด้วยข้อบทสำคัญจำนวน 18 ข้อ

ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานด้านความปลอดภัยอาหารอาเซียน (ASEAN Food Safety Coordinating Committee ; AFSCC) การดำเนินการจัดทำพิธีสาร และการกำหนดให้ความตกลงฯมีผลใช้บังคับเมื่อประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ มอบสัตยาบันสารแก่เลขาธิการอาเซียน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 ความตกลงฯได้รับการลงนามโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียนครบทั้ง 10 ประเทศเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว

ศ.ดร.นฤมลกล่าวต่อว่า เมื่อความตกลงฯมีผลใช้บังคับแล้ว จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานด้านความปลอดภัยอาหารอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งจากหน่วยงานด้านเกษตร การค้า และสุขภาพ จำนวน 10 ประเทศ โดยมีหน้าที่ในการกำกับดูแลและทบทวนการดำเนินการของความตกลงฯ ประสานงานกับองค์กรที่เกี่ยวข้องของอาเซียน รวมถึงพิจารณาและเห็นชอบข้อเสนอสำหรับการจัดทำพิธีสารในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเสนอในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ด้านเศรษฐกิจอาเซียน และด้านการพัฒนาสาธารณสุข

โดยการจัดทำความตกลงฯใช้เป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่สำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือและการบูรณาการด้านความปลอดภัยอาหาร ระหว่างหน่วยงานด้านเกษตร การค้า และสุขภาพของอาเซียนและประเทศสมาชิก โดยมีเป้าหมายหลักในการคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภค และการอำนวยความสะดวกด้านการค้าอาหารปลอดภัยในภูมิภาค โดยการส่งเสริมการปรับมาตรการ สุขอนามัยและสุขอนามัยพืชให้สอดคล้องกัน ลดอุปสรรคทางเทคนิคด้านการค้าอาหาร และลดความแตกต่างของระบบการควบคุมอาหารของแต่ละประเทศ

ADVERTISMENT

”ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารลำดับต้น ๆ ของโลกและของอาเซียน โดยหลายประเทศในอาเซียนมีการนำเข้าสินค้าอาหารจากประเทศไทยเป็นตลาดหลัก การจัดทำพิธีสารภายใต้ความตกลงฯจะช่วยลดมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งส่งผลให้การส่งออกสินค้าอาหารของไทยที่มีคุณภาพและความปลอดภัยไปยังตลาดอาเซียน ทำให้มีโอกาสขยายตัวได้มากขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงขอเสนอความตกลงว่าด้วยกรอบข้อบังคับด้านความปลอดภัยอาหาร อาเซียนนี้มาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ“ ศ.ดร.นฤมลกล่าว

จากนั้นที่ประชุมรัฐสภาได้เปิดให้สมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่า ความตกลงว่าด้วยกรอบข้อบังคับด้านความปลอดภัยอาหารอาเซียนคร้้งนี้ จะทำให้ไทยได้พัฒนามาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้าที่จะส่งออก อย่างเช่น อาหารหรือพืชให้ได้มาตรฐาน ซึ่งจะทำให้ปัญหาการตีกลับสินค้าลดน้อยลงได้

ADVERTISMENT

และเมื่อสินค้าอาหารของไทยมีคุณภาพและความปลอดภัยก็จะสามารถขยายตลาดในประเทศแถบอาเซียนได้มากขึ้น จนพัฒนาต่อยอดให้ไทยเป็นครัวโลก สร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย สามารถไปแข่งขันในตลาดโลกได้ ทั้งนี้ เกษตรกรอาจจะต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องขอให้รัฐบาลให้ความรู้และชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการต่อมาตรฐานใหม่ให้เกษตรกรรับทราบด้วย

หลังจากการอภิปราย ที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบกับความตกลงว่าด้วยกรอบข้อบังคับด้านความปลอดภัยอาหารอาเซียน (ASEAN Food Safety Regulatory Framework Agreement) ด้วยคะแนนเสียง 547 ไม่เห็นชอบ 1 งดออกเสียง 1 และไม่ลงคะแนนเสียง 3