
สนั่น ประธานกรรมการหอการค้าไทยฯ เปิดโต๊ะเสนอรัฐบาล “ตั้งทีมพิเศษ” ที่มีอำนาจสั่งการกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หวังกำหนดยุทธศาสตร์การค้ากับสหรัฐเชิงรุก หวั่นจากมาตรการขึ้นภาษีจะผลักดันให้มีสินค้าไหลทะลักเข้าอาเซียน กระทบการค้าการส่งออกไทย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าได้มีการหารือและส่งสัญญาณไปยังรัฐบาล ถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในเรื่องของการขึ้นภาษี เพราะไทยนั้นได้ดุลการค้าจากสหรัฐและการขึ้นภาษีของสหรัฐทั่วโลกจะมีผลทำให้สินค้าไหลเข้าทะลักในอาเซียนมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออก
ดังนั้น หอการค้าจึงเสนอให้รัฐบาลเร่งตั้ง “ทีมพิเศษ” (Special Team) ประกอบด้วยภาครัฐและภาคเอกชนที่มีอำนาจสั่งการระดับกระทรวง เพื่อวางแผนรับมือและกำหนดแผนเชิงรุกกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของนโยบายเศรษฐกิจการค้าของสหรัฐกับทั่วโลก
ขณะเดียวกัน นโยบายการค้าเชิงรุกของสหรัฐ และมาตรการกีดกันสินค้านำเข้าของสหรัฐจะทำให้หลายประเทศต้องหันมาพึ่งพาตลาดใหม่ โดยเฉพาะอาเซียนและไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตรและอาหาร เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบดังกล่าว หอการค้าจึงเสนอให้รัฐบาลดำเนินมาตรการควบคุมและกวดขันการนำเข้าสินค้าอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่อาจไม่ได้คุณภาพ หรือสินค้าที่มีราคาถูกจนส่งผลต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม (Free and Fair Trade) ภาครัฐควรมีการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้าอย่างละเอียดก่อนอนุญาตให้เข้าสู่ตลาดไทย โดยกำหนดให้สินค้าบางประเภทต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อป้องกันการปลอมแปลงหรือหลบเลี่ยงภาษี ในส่วนของสินค้าที่ทะลักเข้ามาแล้ว
รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการกวดขันเรื่องการลักลอบนำเข้าสินค้าโดยไม่เสียภาษี การตรวจสอบการใช้ราคาต่ำผิดปกติเพื่อทำลายการแข่งขัน รวมถึงการป้องกันการทุ่มตลาด (Dumping) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจภายในประเทศอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ควรพิจารณาการออกกฎหมายหรือมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยอาจกำหนดมาตรการปกป้องธุรกิจภายในประเทศจากการทุ่มตลาดของสินค้าต่างชาติ และทบทวนกฎหมายด้านการแข่งขันทางการค้าให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนั้น หอการค้ายังได้ถอดบทเรียนจากการที่อเมริกาประกาศภาษีศุลกากรต่อเม็กซิโกและแคนาดาในอัตรา 25% แม้ทั้งสองประเทศเป็นพันธมิตรและคู่ค้าใหญ่มากของสหรัฐ แต่สังเกตความฉับไวของการตัดสินใจของทั้งสองประเทศต่อรองซื้อเวลาได้อีกหนึ่งเดือน และเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ภาษีนำเข้า 25% ถูกบังคับใช้เป็นทางการ ทั้งสองประเทศก็สามารถใช้ทีมพิเศษตอบโต้และต่อรองได้คล่องตัว จนมีข่าวว่าทำเนียบขาวส่งสัญญาณจะพบกันกับเม็กซิโกและแคนาดาที่ครึ่งทาง
พร้อมกันนี้ไทยก็ควรให้ความสำคัญกับการดูแลอัตราค่าเงินบาทและอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เนื่องจากหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐอาจมีการใช้กลยุทธในการ “บริหารค่าเงิน” ของตนเพื่อลดผลกระทบจากภาษี และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น เราจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และไม่ควรมองข้ามประเด็นปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยน นายสนั่นกล่าว
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการคนที่ 1 กล่าวว่า หอการค้าไทยมีความเป็นห่วงต่อภาพรวมและตัวเลขการค้าของไทยซึ่งได้ดุลการค้าจากสหรัฐสูง เพื่อป้องกันผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว ไทยเองควรพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหาร และพลังงาน เพื่อลดความกดดันด้านดุลการค้า รวมถึงพิจารณาปฏิรูปโควตาภาษีนำเข้าของไทยกับสหรัฐให้มีจุดยืนที่เป็นธรรมและเข้มแข็ง (Fair and Strong Position) ในการเจรจากับสหรัฐ
นอกจากนี้ รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเสียดุลการค้าภาคบริการ (Deficit on Services) เช่น บริการดิจิทัล ค่าบริหารจัดการ ลิขสิทธิ์ ภาคธนาคาร ภาคประกันภัย การศึกษา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนกว่าตัวเลขการค้าสินค้าเพียงอย่างเดียว

หอการค้าไทยย้ำให้รัฐบาลจัดตั้ง “ทีมพิเศษ” (Special Team) ที่มีอำนาจสั่งการกระทรวงสำคัญ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลฯ และกระทรวงแรงงาน ร่วมกับภาคเอกชน โดยเฉพาะสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์เจรจาเชิงรุกกับสหรัฐ การทำงานต้องครอบคลุมทั้งการป้องกันมาตรการภาษีที่อาจเกิดขึ้น
รวมถึงการใช้โอกาสจากมาตรการภาษีของทรัมป์ (Trump Tariffs) ซึ่งถือเป็นนโยบายกาลักน้ำ (Zero Sum Game) ที่ประเทศหนึ่งได้ อีกประเทศหนึ่งต้องเสีย ดังนั้น ไทยต้องวางกลยุทธ์ให้เป็นฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุดจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการค้าโลก ซึ่งอาจส่งผลบวกต่อ GDP ไทย 0.5% ถึง 1.0% ดร.พจน์กล่าว
นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ ประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หอการค้าไทย กล่าวว่า หนึ่งในแนวทางที่สำคัญในการลดแรงกดดันทางการค้าจากสหรัฐคือ การเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่จำเป็นจากสหรัฐ ซึ่งจะช่วยให้ไทยมีจุดยืนที่ดีขึ้นในการเจรจาต่อรอง หากพิจารณามูลค่าการค้าเฉพาะสินค้าหมวดสินค้าเกษตรกรรม (กสิกรรม, ปศุสัตว์, ประมง) และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร พบว่าไทยเกินดุลสหรัฐเพียง 2,665 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 7.5%

โดยหอการค้าไทยเสนอให้รัฐบาลพิจารณาการนำเข้าสินค้ากลุ่มต่าง ๆ ที่ไทยยังขาดแคลน และการนำเข้าไม่กระทบต่อผู้ค้าและเกษตรกรไทย อาทิ
1) พืชอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง) ที่ผ่านมาไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และปัจจุบันยังต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและหมอกควัน การเปิดโควตานำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐในช่วงนอกฤดูเก็บเกี่ยว
ของไทย จะช่วยให้ไทยมีทางเลือกด้านซัพพลายที่มากขึ้น
2) สินค้าอาหารทะเล เช่น ปลาแซลมอนแช่แข็ง หอยเชลล์ และปลาทูน่าจากเรือชักธงสหรัฐ ซึ่งไทยสามารถนำเข้าวัตถุดิบเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม หอการค้าฯ ขอเน้นย้ำว่ารัฐบาลไทยต้องมีมาตรการเชิงรุกและเร่งด่วนในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเวทีเศรษฐกิจโลก ทั้งในมิติของการค้าระหว่างประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ และประเด็นสิทธิมนุษยชน หากไม่มีการเตรียมพร้อมอย่างรอบด้าน ไทยอาจตกเป็นเป้าหมายของมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐ และต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
ตอนนี้เราจะรอโอกาสไม่ได้ ต้อง “สร้างโอกาส” ร่วมกัน ไม่เช่นนั้นความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยจะกระทบแน่ และ Special Team ต้องทำงานร่วมกันทั้งรัฐและเอกชนอย่างเร่งด่วน การมีข้อมูลและเดินหน้าทางเดียวกันจะทำให้เรามีทางออก สำหรับเอกชน หอการค้าไทย AMCHAM และ US Chamber of Commerce ก็มีการจัดงาน “Thailand-US Investment Forum 2025” ในวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2568 นี้ เพื่อเสริมความสัมพันธ์อันดีและศักยภาพเศรษฐกิจระหว่างกัน
รวมถึงมอบหมายให้ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานคนที่ 1 จัดคณะนำนักธุรกิจไทยไปร่วมงาน Select USA 2025 ระหว่างวันที่ 11-14 พฤษภาคม 2568 ณ มลรัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา เพื่อหาแนวทางในการลงทุนร่วมกัน นายสนั่นกล่าวทิ้งท้าย
สำหรับดุลการค้าไทย-สหรัฐ ปี 2566 สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยมีมูลค่าการส่งออก 67,659 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เกินดุลการค้าสหรัฐ 29,045 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปี 2567 ข้อมูลเบื้องต้นพบว่าไทยยังคงเกินดุลการค้ากับสหรัฐประมาณ 45,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ขยับจากประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐในลำดับที่ 12 มาเป็นลำดับที่ 11 ซึ่งนี่อาจสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสที่ไทยอาจถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลสหรัฐ ในเรื่องความไม่สมดุลทางการค้า
โดยที่นโยบายการค้าของทรัมป์มุ่งลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐกับประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจนำไปสู่การขึ้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าจากไทย และเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎระเบียบทางการค้า เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งหากไทยไม่สามารถปรับตัวได้อย่างทันท่วงที อาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐลดลงอย่างมีนัยสำคัญ