
กระทรวงพลังงานเปิดยื่นซองเสนอ “สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 25” วันที่ 1-16 ก.ค.นี้ แย้ม บ.ต่างชาติสนใจศึกษาแล้ว 5-6 ราย หวังดึงการลงทุนกว่า 70 ล้านดอลลาร์ เผยเตรียมเปิดสำรวจรอบที่ 26 ฝั่งทะเลอันดามัน ปลายปี’68
นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ลงนามในประกาศเชิญชวนการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจบนบก (ครั้งที่ 25) จำนวน 9 แปลง
ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ จำนวน 7 แปลง บริเวณจังหวัดหนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด และสุรินทร์
และพื้นที่ภาคกลางจำนวน 2 แปลง บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี รวมเป็นขนาดพื้นที่ 33,444.64 ตารางกิโลเมตร ภายใต้ระบบสัมปทาน และเผยแพร่ประกาศเชิญชวนผ่านทางเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา
เพื่อให้บริษัทที่สนใจสามารถดาวน์โหลดประกาศเชิญชวนและเงื่อนไขต่าง ๆ พร้อมทั้งเปิดห้องศึกษาข้อมูล (data room) ให้บริษัทต่าง ๆ เข้าศึกษาข้อมูล ซึ่งจะเปิดให้บริษัทที่สนใจยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมยื่นซองคำขอและข้อเสนอระหว่างวันที่ 1-16 กรกฎาคม 2568
หวังรอบ 25 หนุน “น้ำพอง”
ด้านนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การใช้พลังงานในไทย โดยเฉพาะอัตราการใช้ไฟฟ้าที่ค่อนข้างสูงและเพิ่มขึ้นทุกส่วน โดยในปี 2567 เพิ่มขึ้น 6% ซึ่งคาดว่าปริมาณในปีนี้จะมากกว่า 220,000 ล้านหน่วย
ดังนั้น จึงต้องมีการสำรวจปิโตรเลียมภายในประเทศมากขึ้น เนื่องจากปิโตรเลียมในประเทศยังไม่เพียงพอ แม้ในปีที่แล้วแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยจะสามารถเพิ่มอัตราการผลิตได้ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นแบบ long term ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี
ตอนนี้มีการเปิดให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามายื่นขอสิทธิในการสำรวจและผลิต มีผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาข้อมูลประมาณ 5-6 ราย ส่วนใหญ่เป็นบริษัทน้ำมันต่างชาติเกือบทั้งหมด ซึ่งจะเปิดให้ยื่นขอสิทธิ ยื่นซองคำขอและข้อเสนอระหว่างวันที่ 1-16 กรกฎาคม 2568 ใช้ระยะเวลาพิจารณาประมาณ 2 เดือน และคาดว่าจะประกาศผลผู้ได้รับคัดเลือกช่วงปลายปีหรือไตรมาส 4
ซึ่งเราคาดหวังว่า 7 แปลงในพื้นที่ภาคอีสานน่าจะมีก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะเข้ามาช่วยสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของภาคอีสาน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าน้ำพอง
ทั้งนี้ ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างมาก ทำให้เอื้อต่อการสำรวจและขุดเจาะ สามารถระบุตำแหน่งก๊าซธรรมชาติได้แม่นยำและชัดเจนมากขึ้น ทำให้สามารถลด cost บางส่วนได้ เราประเมินว่าจะใช้เงินในการสำรวจและขุดเจาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อหลุม และใช้ระยะเวลาเจาะนาน
ส่วนภาคกลางจะใช้เงินในการขุดเจาะประมาณ 1-2 ล้านเหรียญสหรัฐต่อหลุม ซึ่งนักธรณีประเมินศักยภาพพื้นเบื้องต้นอยู่ที่ 7 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่ขุดแล้วไม่เจอ
“นี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะภาคอีสานไม่มีโรงไฟฟ้าที่เป็นเมนหลัก มีแต่โรงไฟฟ้าน้ำพอง ใช้ไฟฟ้าจากลาวมาเสริม ถ้าปิโตรเลียมตรงนี้มีศักยภาพ ชัดเจน ก็จะช่วยซัพพอร์ตความมั่นคงได้” นายประเสริฐกล่าว
เล็งหาช่องแก้กฎหมายต่ออายุ
ส่วนแปลงปิโตรเลียมที่ใกล้หมดอายุสัมปทานในปี 2574 ได้แก่ แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ (S1), แหล่งสินภูฮ่อม และแหล่งไพลิน สำหรับแหล่งไพลินนั้น ผู้ผลิตยังสามารถขอต่ออายุการผลิตได้อีก 1 ครั้ง ไม่เกิน 10 ปี แต่แหล่ง S1 และสินภูฮ่อม จะต้องนำกลับมาเปิดสัมปทานใหม่
ทางกรมกำลังพิจารณาแนวทางเสนอรัฐบาล กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการปิโตรเลียม ในการแก้ไขกฎหมาย โดยพิจารณาการเปิดใหม่หรือการทำให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาแหล่ง ต้องดำเนินการอย่างไร
ส่วนในพื้นที่อันดามันคาดว่าจะมีการเปิดเวทีสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นครั้งที่ 26 ช่วงปลายปี 2568
“มีความหวังว่าจะสามารถนำปิโตรเลียมออกมาใช้ได้ เมื่อมีข่าวออกไปก็มีบริษัทใหญ่ ๆ ให้ความสนใจเยอะมาก” นายประเสริฐกล่าว
หนุนใช้ไฟ Data Center-อีวี
การเปิดให้ยื่นสำรวจและผลิต เป็นการเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ประกอบกับปัจจุบันเริ่มมี data center สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ประกอบกับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกันแม้ตอนนี้โซลาร์เซลล์จะมีราคาที่ถูกลง อาจจะช่วยไม่ได้มาก อาจจะต้องใช้แบตเตอรี่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปิโตรเลียมจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้ราคาไฟฟ้าถูกลงได้
ในช่วงที่ผ่านมา การสำรวจปิโตรเลียมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังไม่ประสบความสำเร็จหรือมีความชัดเจน แต่หากเราสามารถพัฒนาได้ในระยะยาว ก็จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในการตัดสินใจลงทุนด้านไฟฟ้าในไทย ขณะที่ภาคกลางจากการสำรวจส่วนใหญ่พบว่าเป็นแหล่งน้ำมัน
“เราก็ไม่ได้ move away จากพลังงานสะอาด แต่การสำรวจปิโตรเลียมเพิ่มเติมจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ” นายประเสริฐกล่าว
ดึงเงินลงทุน 70 ล้านเหรียญ
การเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมบนบกครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยสามารถสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
ช่วยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตให้กับธุรกิจต่อเนื่องอื่น ๆ อีกจำนวนมาก จากธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับร้านอาหาร โรงแรม รวมถึงภาคขนส่ง โดยคาดว่าจะสามารถสร้างการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมกว่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกเหนือจากประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศอีกครั้ง
เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้มีการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ใหม่บนบกที่ยังไม่ได้มีการพัฒนาปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งทำให้ไม่มีการดำเนินกิจกรรมการสำรวจเพื่อพัฒนาศักยภาพปิโตรเลียมในพื้นที่บนบกเพิ่มเติม