
ทำความรู้จักกล้วยหอมไทยมีเอกลักษณ์อย่างไร จากความนิยมที่ได้รับทั้งในและต่างประเทศ พร้อมส่องตัวเลขส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น มีแนวโน้มเป็นไปได้หรือไม่สำหรับเป้าหมายใหม่มากกว่า 3,000 ตันต่อปี
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนไทยใส่ใจกับเรื่องกินมากเป็นลำดับต้น ๆ จากเมนูอาหารเช้าที่ไม่ได้มีแค่อาหารเบา ๆ รวมไปถึงอาหารหนักอย่างข้าวเหนียวหมู ก๋วยเตี๋ยว หรือกวยจั๊บ ด้วยไมนด์เซตที่ว่า กินให้อิ่ม กินให้ (เพียง) พอ จะได้มีแรงไปต่อสู้กับชีวิตในแต่ละวัน
แต่ก็ไม่ใช่สำหรับบางคนที่มีไลฟ์สไตล์ชีวิตเบา ๆ ในตอนเช้า หรือการเผชิญกับวินาทีเร่งรีบ ตัวเลือกที่กินง่าย หยิบได้ไวกลายมาเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มคนเหล่านั้น ‘กล้วยหอม’ เมนูตัวเลือกที่ตอบโจทย์ทั้งเบา ง่าย และไว สำหรับคนไทย สังเกตจากการวางขายในร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศไทย
กล้วยหอมมีเอกลักษณ์ตั้งแต่กลิ่นหอม เปลือกสวย รสชาติหวาน นุ่ม และมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไทย มาเลเซีย และกัมพูชา ในประเทศไทยกล้วยหอมไม่ได้นิยมแค่กิน แต่ยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมและมีศักยภาพทางตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ
กล้วยหอมไทยกับตลาดนอก
ประเทศไทยมีคู่ค้าสำคัญคือญี่ปุ่น จีน และกัมพูชา โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่นิยมบริโภคกล้วยมาก เนื่องจากเป็นผลไม้ที่รสชาติอร่อย มีคุณค่าทางอาหารสูง ราคาไม่แพง และเข้าถึงได้ง่าย คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคกล้วยคิดเป็นร้อยละ 63.6 ของปริมาณการบริโภคผลไม้โดยรวม ตามด้วยแอปเปิลร้อยละ 41.5 และส้มร้อยละ 29.3
โดยมีผู้บริโภคร้อยละ 12 บริโภคกล้วยแทบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 35 รับประทานกล้วยสัปดาห์ละ 1-5 วัน นับเป็นผลไม้ที่มีแนวโน้มความต้องการที่สม่ำเสมอในญี่ปุ่น แต่ผลผลิตกล้วยในประเทศเองมีน้อยมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่ทำให้สามารถปลูกได้เพียงใน 2 จังหวัดทางตอนใต้ คือโอกินาวาและคาโงชิมา
ญี่ปุ่นจึงต้องนำเข้ากล้วยถึงร้อยละ 99 ของความต้องการภายในประเทศ หรือประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้อานิสงส์จากความต้องการนี้ โดยมีความตกลงทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ที่เรียกว่า Japan-Thailand Economic Partnership Agreement (JTEPA)
โดยญี่ปุ่นให้สิทธิพิเศษการยกเว้นภาษีนำเข้ากล้วยจากประเทศไทยเป็นจำนวน 8,000 ตัน ถือเป็นโอกาสของเกษตรกรไทยที่จะสามารถพัฒนาการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า สถานการณ์กล้วยหอมไทยในญี่ปุ่นค่อนข้างผันผวน และมีปริมาณไม่สม่ำเสมอ ในปี 2566 ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยเป็นปริมาณ 1,345 ตัน มูลค่า 201 ล้านเยน (ประมาณ 57 ล้านบาท) โดยเป็นพันธุ์กล้วยหอมทอง (Gros Michel) ซึ่งแม้จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีแต่ก็ไม่สามารถส่งออกตามจำนวนดังกล่าวได้
พาณิชย์วางเป้าส่งออกล้านตัน
ข้อมูลล่าสุดจาก กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ประเทศไทยสามารถส่งออกมาญี่ปุ่นได้เพียง 3,000 ตันต่อปี และสาเหตุที่ส่งผลให้ไทยส่งออกผลไม้มายังประเทศญี่ปุ่นได้ค่อนข้างน้อยและไม่สามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้ คือ
1.เกษตรกรไม่ทราบความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงไม่ทราบหลักเกณฑ์ในการนำเข้าของประเทศปลายทาง จึงไม่สามารถพัฒนาสินค้าให้ตรงกับข้อกำหนดของตลาดปลายทาง
2.ขาดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างเกษตรกรและผู้ส่งออกอย่างจริงจัง ทำให้ปริมาณสินค้าไม่เพียงพอต่อการส่งออกในบางฤดูกาล ราคาในแต่ละฤดูกาลจึงมีความผันผวนอย่างหนัก ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้นำเข้าและผู้บริโภค
3.ขาดการส่งเสริมการแปรรูปผลไม้ไทย อุตสาหกรรมการแปรรูปผลไม้จะช่วยพยุงราคาสินค้าเกษตรในช่วงที่ราคาตกต่ำไม่ให้ต่ำจนเกินไป และช่วยดึงปริมาณผลผลิตออกจากตลาดในลักษณะที่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า
อีกทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ไทย เป็นที่นิยมในต่างประเทศไม่ยิ่งหย่อนกว่าผลไม้สด การส่งเสริมการแปรรูปผลไม้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การขยายโอกาสทางการค้าในตลาดต่างประเทศ
เช่นกล้วยหอม ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกมายังประเทศญี่ปุ่นได้เพียง 3,000 ตันต่อปี น้อยกว่าโควตาที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลญี่ปุ่น และหากเทียบกับความต้องการบริโภคที่มากถึง 1 ล้านตันต่อปี แต่กล้วยหอมไทยกลับมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น ซึ่งไทยเราเสียโอกาสทางการค้าเป็นอย่างมาก
หากเราสามารถพัฒนาศักยภาพในการผลิตให้มีมาตรฐานและปริมาณที่คงที่ กล้วยหอมไทยจะกลายเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ที่สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูก เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่นชื่นชอบกล้วยหอมไทยมากกว่ากล้วยหอมประเทศอื่น เพราะกล้วยหอมไทยมีกลิ่นและรสชาติที่ดีกว่าและจัดเป็นสินค้าพรีเมี่ยม