เงินเฟ้อไทย ก.พ. 2568 สูงขึ้น 1.08% เหตุราคาสินค้ากลุ่มอาหาร-เครื่องดื่มสูงขึ้น

เงินเฟ้อไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2568 สูงขึ้น 1.08% ผลจากราคาสินค้ากลุ่มอาหาร-เครื่องดื่มสูงขึ้น รวมไปถึงค่าผลไม้สด ราคาน้ำมัน ขณะที่แนวโน้ม ไตรมาส 1 เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 1.1-1.2% ส่วน ทรัมป์ 2.0 ยังไม่กระทบรอติดตามใกล้ชิด

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย (เงินเฟ้อ) เดือนกุมภาพันธ์ 2568 เท่ากับ 100.55 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 1.08% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบเดือนที่ผ่านมา 0.02% ทั้งนี้ เฉลี่ย 2 เดือน (มกราคม-กุมภาพันธ์) ของปี 2568 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 สูงขึ้น 1.20%

โดยปัจจัยที่กระทบจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารสำเร็จรูป ประกอบกับมีการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล ค่ากระแสไฟฟ้า และค่าโดยสารเครื่องบิน ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก

“โดยที่เงินเฟ้อของไทยหากเทียบกับต่างประเทศแล้ว โดยในเดือนมกราคม 2568 สูงขึ้น 1.32% อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีเงินฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำกว้า 23 จาก 128 เขตเศรษฐกิจ และต่ำเป็นอันดับ 4 ในอาเซียนจาก 8 ประเทศ เช่น บรูไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว ส่วนรายการสินค้าและบริการที่เปลี่ยนแปลงและมีการติดตาม มีเพียง 157 รายการที่เพิ่มขึ้น เช่น เนื้อสุกร ปลานิล ส้มเขียวหวาน น้ำมันพืช สินค้าที่ลดลง 178 รายการ เช่น ค่าน้ำประปา ค่าตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น และสินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลง 129 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ไก่ย่าง ไข่ไก่ เป็นต้น”

ขณะที่แนวโน้มแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคม 2568 คาดว่าจะอยู่ระดับใกล้เคียงกับเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยมีปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย (1) ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดาน ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร โดยสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 29.92 บาทต่อลิตร (2) การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าโดยสารเครื่องบิน

และ (3) วัตถุดิบต้นน้ำของสินค้าเกษตรบางชนิดราคายังอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะพืชสวน เช่น กาแฟ ปาล์มน้ำมัน และมะพร้าว ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์ขั้นกลางหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้น เช่น กาแฟ น้ำมันพืช และกะทิ เป็นต้น

ADVERTISMENT

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ประกอบด้วย (1) การลดลงของราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกซึ่งต่ำกว่าปีก่อนหน้า และคาดว่าจะส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ภายในประเทศปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกัน (2) ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง (3) ฐานราคาผักสดในปีก่อนหน้าอยู่ในระดับสูง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ขณะที่ในปี 2568 สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ระบบมากขึ้น และ (4) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

นอกจากนี้ยังคาดว่าเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 1 จะเฉลี่ยอยู่ในกรอบ 1.1-1.2% ส่วนไตรมาส 2 เฉลี่ยอยู่ที่ 0.5% ซึ่งเป็นผลมาจากฐานต่ำ จากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนปัจจัย ทรัมป์ 2.0 ยังต้องรอประเมินกันอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อทั้งปี อยู่อยู่ในกรอบ 0.3-1.3% ค่ากรองอยู่ที่ 0.8% โดยอยู่ภายใต้ จีดีพี ขยายตัว 2.3-3.3% น้ำมันดิบ อยู่ที่ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ADVERTISMENT

นายพูนพงษ์กล่าวอีกว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้น 1.08% ในเดือนนี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.03 (YOY) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลไม้สด (กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง แตงโม สับปะรด) กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว)

กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม กาแฟ (ร้อน/เย็น)) กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ (ปลานิล กุ้งขาว เนื้อสุกร ปลาทูนึ่ง ปลาหมึกกล้วย ปลาทู) กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) น้ำพริกแกง กะทิสำเร็จรูป) กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ขนมอบ) กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล (ขนมหวาน น้ำตาลทราย) และกลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม (นมสด ไข่เป็ด)

อย่างไรก็ตาม มีสินค้าหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ผักสดบางชนิด (มะนาว พริกสด ผักคะน้า มะเขือ ผักชี ผักกาดขาว) ผลไม้บางชนิด (องุ่น แก้วมังกร) ไก่ย่าง/ไก่ทอด
และซีอิ๊ว เป็นต้น

หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.40% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน และค่าโดยสารเครื่องบิน (ต่างประเทศ) ขณะที่มีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง

อาทิ แก๊สโซฮอล์ ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว น้ำยาระงับกลิ่นกาย แป้งผัดหน้า) สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น น้ำยาล้างห้องน้ำ) และเสื้อผ้า (กางเกงขายาวบุรุษ เสื้อยืดบุรุษและสตรี เสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี) เป็นต้น

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้น 0.99% เร่งตัวขึ้นจากเดือนมกราคม 2568 ที่สูงขึ้น 0.83%