
บีโอไอลั่นเป้าหมายดึงเงินลงทุนเข้าไทยปีนี้เกิน 1.1 ล้านล้านแน่นอน หวังดันเศรษฐกิจโตให้ได้ 3.5% ที่รัฐบาลตั้งไว้ คลอดมาตรการกระตุ้นลอตใหม่ หนุนลงทุนจริงเกิดขึ้นภายในปีนี้ จูงใจออนท็อปลดหย่อนภาษีให้อีก 50% นาน 5 ปี แย้มข่าวดีเมษาฯนี้ เตรียมอนุมัติยักษ์ใหญ่ของโลกจากจีนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า นโยบายดึงการลงทุนของประเทศไทยปี 2568 นี้ จำเป็นที่ต้องสร้างเครื่องมือใหม่ขึ้นมาเพื่อดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาให้ได้ แต่จะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพและเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของโลกที่แต่ละประเทศต่างแย่งชิงกัน ด้วยเป็นต้นน้ำที่สำคัญและจะสร้างประโยชน์กับประเทศไทยให้ได้มากที่สุด
โดยเฉพาะการจ้างงาน การใช้ Local Content การพัฒนาบุคลากรร่วมกัน ซึ่งอุตสาหกรรมหรือประเภทกิจการที่ทั่วโลกต่างต้องการดึงเข้าไปลงทุนมากที่สุด เช่นเดียวกับประเทศไทยในขณะนี้ คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ระดับเซลล์ เซมิคอนดักเตอร์ แผ่นวงจร (PCB) ดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
มั่นใจยอดปีนี้เกิน 1.1 ล้าน ล.
ในกลุ่มเหล่านี้ บีโอไอจะใช้สิทธิพิเศษในการพิจารณาด้วยการเจรจาแบบเฉพาะรายโครงการ ที่ให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเต็มแม็กสูงสุด คือ 15 ปี ดังนั้นในปีนี้จึงมั่นใจว่ายอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจะสูงกว่าปี 2567 ซึ่งอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาทแน่นอน
ขณะเดียวกันจะเห็นเม็ดเงินการลงทุนจริงมากขึ้น ตามที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องการให้เกิดการลงทุนจริงในสัดส่วนที่ 45% โดยเมื่อปลายปี 2567 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ได้เห็นชอบมาตรการกระตุ้นการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่จะให้สิทธิประโยชน์ออนท็อปเพิ่มเข้าไป หากภายใน 1 ปี มีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาทนับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม และต้องไม่ขอขยายเวลาตอบรับการส่งเสริมในทุกกรณี
ซึ่งหากสามารถทำได้จะได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้กับโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมตั้งแต่วันทำการแรกของปี 2568 จนถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2568 การใช้มาตรการนี้ไม่เพียงจะทำให้เห็นการลงทุนจริงที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2568 นี้ แต่จะเป็นส่วนผลักดันให้ GDP ของประเทศอาจไปได้ถึง 3.5% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้
ดึงอุตฯไฮเทคแข่งเวียดนาม
“จะให้เราทำตัวเลขสูงถึง 2 ล้านล้านบาทก็ทำได้ ก็แค่เปิดส่งเสริมทุกประเภทกิจการ แต่ที่เราไม่ทำแบบนั้นเพราะเราต้องการอุตสาหกรรมที่มันมีคุณภาพจริง ๆ มันต้องเป็นไฮเทคโนโลยี เป็นอุตสาหกรรมที่มีอิมแพ็กต์กับประเทศสูงสุด ต้องเข้ามาแบบมีเงื่อนไขที่เรากำหนดทั้งคน สิ่งแวดล้อม เราเลือกหมด ต้องไม่สร้างปัญหา ไม่เอาอุตสาหกรรมสำเร็จรูปเข้ามา สิ่งที่เราต้องทำไว้รอ คือความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน คน ไฟฟ้า สิทธิประโยชน์ เราต้องแข่งกับประเทศคู่แข่งที่กำลังหายใจรดต้นคอเราอยู่ตอนนี้อย่างเวียดนาม มีเพียงมาเลเซียที่นำเรา
ถ้าเราไม่ทำให้การลงทุนเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด คู่แข่งเขาก็ดึงไปหมด ทั้งที่ประเทศไทยพร้อมทุกอย่าง มีนิคมอุตสาหกรรม มีซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมหลัก มีพลังงานสะอาด มันจึงเป็นจังหวะและเวลาที่ไทยต้องสร้างการเติบโตเอาอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Future Industry) มันคือการวางรากฐานเพื่ออนาคตที่เราจะเห็นมันเกิดขึ้นในอีกหลายสิบปีข้างหน้า เหมือนตอนที่สร้างอีสเทิร์นซีบอร์ด เราจึงต้องสร้างคลื่นการลงทุนลูกใหม่”
เม.ย.นี้ยักษ์แบตเตอรี่ EV เข้าไทย
ในระหว่างนี้ บีโอไอยู่ระหว่างขั้นตอนสุดท้าย คาดว่าจะประกาศภายในเดือนเมษายนนี้ ในการพิจารณาโครงการขนาดใหญ่ 1 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ที่มีค่าพลังงานจำเพาะไม่น้อยกว่า 150 Wh/kg ตามเงื่อนไข ซึ่งจะเป็นรายแรกที่ลงทุนในประเทศไทยในการผลิตแบตเตอรี่ที่เป็นต้นน้ำ ปัจจุบันมีผู้ผลิตแบตเตอรี่ในระดับโมดูลและแพ็กในประเทศอยู่แล้วหลายรายกว่า 40 โครงการ แต่ยังขาดต้นน้ำที่สำคัญคือ การผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและใช้เงินลงทุนสูง
สำหรับรายใหญ่ของโลกที่สามารถผลิตได้ ส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนจีน ซึ่งมีสัดส่วน 70-80% ของโลก เช่น บริษัท Contemporary Amperex Technology (CATL) ที่เป็นรายใหญ่และอยู่ใน Top 10 ของโลก และยังมี China Aviation Lithium Battery (CALB), Inpow Battery Technology (IBT), Eve Energy, Gotion High-tech, Sunwoda และ SVOLT Energy Technology รองลงมาคือ ประเทศเกาหลีใต้ เช่น LG Cham, SK, Samsung และญี่ปุ่น เช่น Panasonic
ลั่นเป้าไทยฐานผลิตแบตใหญ่สุด
ทั้งนี้ ตามเป้าของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) กำหนดแผนคือ 30@30 คือภายในปี 2030 (2573) จะผลิตรถ EV ให้ได้ 725,000 คัน ซึ่งในจำนวนนี้ต้องการแบตเตอรี่จำนวนประมาณ 40 จิกะวัตต์ บีโอไอจึงยึดตัวเลขดังกล่าวและตั้งเป้าที่จะให้เกิดการลงทุนและมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่เซลล์ในไทยอย่างน้อย 40 จิกะวัตต์ ที่ป้อนให้เฉพาะรถ EV ดังนั้นหากจะป้อนให้ ESS ด้วย จึงมีโอกาสที่จะมีจำนวนจิกะวัตต์ที่มากกว่านี้ โดยหากคำนวณมูลค่าการลงทุน 1 จิกะวัตต์ ต้องใช้เงิน 1,500 ล้านบาท และหากมีการลงทุนที่ 40 จิกะวัตต์ จะมีเงินลงทุนสูงถึง 60,000 ล้านบาท
“เรามีเป้าหมายสร้างให้ไทยเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เพราะมันจะทำให้อุตสาหกรรมปลายน้ำอย่าง EV และ ESS มีความมั่นคง และนอกจากต้องกระตุ้นการลงทุนในประเทศแล้ว เรายังเตรียมจัดงานสัมมนาใหญ่ Ignite Thailand : Invest in Endless Opportunities ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 12 มีนาคม 2568 นี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและโอกาสการลงทุนในไทย จากนั้นจะเดินทางไปโรดโชว์ยังประเทศอินเดีย ตอนนี้เข้าเดือนที่ 3 ของปีแล้ว เรายังเห็นโมเมนตัมการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง เราอยู่ในสปอตไลต์ของเวทีการลงทุน และนักลงทุนยังมองเราเป็นตัวเลือกแรก ๆ”