ฟื้นเหมืองโพแทชด่านขุนทด “ไทยคาลิ” พร้อมขุดก้อนแรก

โพแทช

อัพเดตสถานะเหมืองโพแทชไทยหลังผ่านมา 35 ปี พบ “ไทยคาลิ” มีความพร้อมสูงสุดที่จะเปิดทำเหมืองได้เป็นแห่งแรก ส่วน “โพแทชอุดร” รอไฟเขียวรัฐวิสาหกิจจีน SCIC ร่วมทุนในไตรมาสนี้ ขณะที่ “โปแตชอาเซียนชัยภูมิ” อาการหนักสุด หลังถูกฟ้องไม่จ่ายเงินผลประโยชน์พิเศษประทานบัตรให้รัฐ 6,500 ล้านบาท

35 ปีของการทำเหมืองโพแทชในประเทศไทยกับบริษัทผู้ประกอบการทำเหมืองที่ขอประทานบัตรไม่ต่ำกว่า 3 บริษัท ผ่านการตรวจสอบและข้อร้องเรียนจากชุมชนถึงความกังวลถึงกระบวนการทำเหมืองจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การหาผู้ร่วมทุนทั้งโครงการของรัฐ (โพแทชอาเซียน) และเอกชน นำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการผิดสัญญาจ่ายเงินพิเศษประทานบัตร

ล่าสุดความหวังที่จะเห็นการทำเหมืองเพื่อขุดโพแทชก้อนแรกของประเทศในปีนี้มีความเป็นไปได้สูง จากโครงการเหมืองแร่โพแทชของบริษัท ไทยคาลิ ที่นครราชสีมา ได้ผ่านเกณฑ์การปรับรูปแบบการทำเหมืองและมีผู้ร่วมทุนรายใหม่ คือ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เข้ามาถือหุ้นโครงการถึง 65%

ทยคาลิพร้อมสุด

นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวถึงโครงการทำเหมืองแร่โพแทชในประเทศไทยที่ดำเนินการออก “ประทานบัตร” ไปแล้วทั้งหมด 3 โครงการว่า “โครงการทำเหมืองแร่โพแทชของบริษัท ไทยคาลิ ตั้งอยู่ที่ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ขนาดพื้นที่ 9,005 ไร่ มีความก้าวหน้ามากที่สุด โดยบริษัทได้ประทานบัตรไปตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2558 อายุประทานบัตร 25 ปี มีแผนการผลิตแร่ตลอดอายุโครงการ 2.15 ล้านตัน แผนการผลิตโพแทชปีละ 100,000 ตัน ตั้งแต่บริษัทได้ประทานบัตรได้เริ่มขุดอุโมงค์เมื่อปี 2562-2563 แต่เกิดปัญหาน้ำรั่วจึงขออนุญาตปรับรูปแบบการทำเหมืองจากอุโมงค์แนวเอียงเป็นขุดเจาะแนวดิ่ง

ทางกรมได้ใช้เวลาพิจารณาคำขออนุญาตถึง 3 ปี และได้อนุญาตให้เปลี่ยนแปลงแผนผังตามที่ขอมาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมานี้ กรมต้องพิจารณาคำขอยาวนานถึง 3 ปี เป็นเพราะมีกระบวนการที่ให้บริษัท ไทยคาลิ ไปทำเพิ่ม การรวบรวมเอกสารและส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบเพื่อให้ได้ความมั่นใจถึงกระบวนการทำเหมืองที่จะเกิดขึ้นต่อไป

หลังจากนั้น ทางบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ก็ให้บริษัทย่อย บีซีวี เอ็นเนอร์ยี่ หรือ BCVE เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนในรูปแบบกิจการร่วมค้า โดย BCVE เข้าถือหุ้นในบริษัท ไทยคาลิ ร้อยละ 65 (ที่เหลือเป็น นายวุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย 18.2% และอื่น ๆ 16.8%) โครงการทำเหมืองแห่งนี้ บางส่วนเป็นเทคโนโลยีจากจีน

ADVERTISMENT

แต่ทางบางจากและไทยคาลิยืนยันว่า คนที่ควบคุมกำกับดูแลนั้นใช้เทคโนโลยีของเยอรมันเป็นระดับเวิลด์คลาส เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ทางไทยคาลิไม่ได้มีเทคโนโลยี หรือวิธีการป้องกันที่จะเกิดขึ้น ทำให้มีกรณีน้ำรั่ว-น้ำท่วมอุโมงค์ ซึ่งมันต้องใช้ประสบการณ์พอสมควร เพราะเหมืองมันอยู่ใต้ดิน” นายอดิทัตกล่าว

อย่างไรก็ตาม อุโมงค์ใหม่ที่เป็นแนวดิ่งจะห่างจากของเดิม 900 เมตร และเป็นพื้นที่ที่ได้ประทานบัตรแล้ว โดยจะมีอุโมงค์ 3 อุโมงค์ มีโรงแต่งแร่-สายพานลำเลียงเชื่อมกัน และได้มีการระบุแนวทางด้วยว่า หากระหว่างการขุดเจอหินแข็งจะใช้วัตถุระเบิด ซึ่งต้องขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการกำหนดแนวทางป้องกันทางเสียง ฝุ่น ควัน ระหว่างนี้ บริษัท ไทยคาลิ ได้เคลียร์พื้นที่และเตรียมติดตั้งเครื่องจักรภายในเดือนพฤษภาคม 2568 เพื่อจะเริ่มเจาะ

ADVERTISMENT

ระหว่างนี้ก็ไปพัฒนาพื้นที่รอบ ๆ เช่น มีความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อปลูกพืชได้ ทำบ่อน้ำ 13 บ่อ ปรับปรุงถนน คันดินบล็อกน้ำ แนวกำแพงล้อมเหมือง และก็ต้องเก็บข้อมูลในพื้นที่ให้ครบด้วย พ.ร.บ.แร่ 2560 กำหนดว่า ต้องทำเบสไลน์ดาต้าทุกหน่วยต้องครอบคลุมช่วยกัน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต

“ทางกรมได้ทำหลายกระบวนการเพื่อที่จะให้การทำเหมืองแร่โพแทชมันไปได้ อย่างตอนที่เกิดกรณีสงครามยูเครน-รัสเซีย ช่วงแรก ราคาโพแทชพุ่งขึ้นไปถึง 3 เท่า ถ้าเหมืองไทยคาลิเปิดดำเนินการขุดแร่ขึ้นมา อย่างน้อยเรามั่นใจได้ว่า ไทยมีโพแทชของเราแน่ มันจะช่วยเกษตรกรไทยในเรื่องของวัตถุดิบในการทำปุ๋ยเคมี” นายอดิทัตกล่าว

โปแตชชัยภูมิติดเงินพิเศษ 6,500 ล้าน

ส่วนโครงการทำเหมืองแร่โพแทชอีก 2 โครงการที่ได้รับประทานบัตร ได้แก่ โครงการเหมืองแร่โพแทชอาเซียน ของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ที่ ต.บ้านตาล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นโครงการเก่าแก่ที่สุดมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีมาแล้ว กับโครงการเหมืองแร่โพแทชของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โพแทช คอร์ปอเรชั่น (APPC) ตั้งอยู่ที่ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี ปรากฏโครงการแรก (โพแทชอาเซียน) ในขณะนี้แทบจะไม่มีความหวังในการขุดแร่โพแทชขึ้นมา หลังจากที่บริษัทประสบปัญหาเงินทุนในการดำเนินการมาโดยตลอด

นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวถึงสถานะของโครงการเหมืองแร่โพแทชอาเซียนว่า บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ ได้รับประทานบัตรในพื้นที่ 9,708 ไร่ มาตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 อายุประทานบัตร 25 ปี มีแผนการผลิตโพแทช 1.1 ล้านตัน/ปี ปัจจุบันยังไม่มีการทำเหมืองแร่ โดยโครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท จัดเป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนของประเทศไทยภายใต้ข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement on ASEAN Industrial Projects)

ซึ่งเจ้าของโครงการจะต้องลงทุนร้อยละ 60 ของเงินลงทุนทั้งหมด (Total Equity) และรัฐบาลเจ้าของโครงการ (รัฐบาลไทย) ต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของเงินลงทุนนั้น

ทั้งนี้ โครงการเหมืองแร่โพแทชอาเซียนมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกู้ต่อทุนเรือนหุ้น 70 ต่อ 30 ซึ่งบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) มีทุนจดทะเบียน 2,805,797,300 บาท โดยกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ร้อยละ 20 เป็นเงิน 561,160,000 บาท ต่อมาบริษัทได้เรียกเพิ่มทุนเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการต่อไป จำนวน 19,773 ล้านบาท ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงต้องลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 3,900 ล้านบาท เพื่อให้คงสัดส่วน 1 ใน 3 ตามข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน

อย่างไรก็ตาม จากเงื่อนไขการได้รับประทานบัตร ผู้รับประทานบัตรจะต้องจ่ายเงิน “ผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐ” ตอบแทนการออกประทานบัตร ซึ่งมีการคำนวณผลประโยชน์พิเศษจากมูลค่าแร่ในขณะนั้น ประมาณ 4,000 ล้านบาท ปรากฏบริษัทขอแบ่งจ่าย 8 งวด งวดละ 500 ล้านบาท (10 ปีปลอดภาระ 2 ปีแรก) ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทยังไม่ได้ชำระ นำไปสู่ อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ ต่อศาลปกครอง กรณีผิดนัดชำระเงินผลประโยชน์พิเศษ ในวันที่ 9 กันยายน 2565

“ตอนนี้เรื่องอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครอง ที่ผ่านมามีภาคเอกชน 2 ราย ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการเหมืองแร่โพแทชอาเซียน แต่ก็มาติดขัดเรื่องของการค้างจ่ายเงินผลประโยชน์พิเศษจนถูกฟ้องอยู่ในขณะนี้ ทางกรมได้ใช้ดุลพินิจที่จะหาทางออกในเรื่องนี้เพื่อให้โครงการเดินต่อไปได้ มีการขอไกล่เกลี่ย ทั้งข้อเสนอเรื่องการขอหยุดหนี้ หรือจ่ายค่าหนี้เมื่อผลิตปุ๋ยได้ หรือเอกชนขอจ่ายหนี้เป็นปุ๋ย เราก็เสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ครม.ให้ความเห็นมาว่า ‘รับทราบ’ และให้หน่วยงานไปดำเนินการตามกฎระเบียบ

เราก็ถามความเห็นไปทุกหน่วยงาน (รวมถึงกระทรวงการคลัง ผู้ถือหุ้นร้อยละ 20) ปรากฏไม่มีหน่วยงานไหนให้ความเห็นชอบ ทางกระทรวงการคลังเห็นว่า หนี้เป็นหนี้เงินก็ต้องชำระด้วยเงินจะจ่ายเป็นปุ๋ยไม่ได้ เพราะกฎหมายก็ไม่ได้เปิดช่องว่า สามารถชำระผลประโยชน์พิเศษด้วยแร่ได้ กระทั่งปัจจุบันผลประโยชน์พิเศษรวมทั้งต้นและดอก คิดเป็นเงินประมาณ 6,500 ล้านบาท ที่บริษัทค้างจ่ายอยู่ และในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ก็ครบ 10 ปี หรือครบงวดพอดี หลังยุติกระบวนการไกล่เกลี่ย ศาลก็ดำเนินการพิจารณาคดีผิดนัดชำระหนี้ต่อไป” นายอดิทัตกล่าว

ด้านแหล่งข่าวในวงการเหมืองแร่ให้ความเห็นว่า แม้โครงการโพแทชอาเซียนจะเป็นการลงทุนทำเหมืองแร่ที่น่าสนใจ แต่ติดปัญหาอยู่ที่ 1) เงินผลประโยชน์พิเศษที่จะต้องจ่ายให้รัฐบาล 6,500 ล้านบาท หรือยังไม่ทันได้ทำเหมืองก็เป็นหนี้แล้ว กับ 2) เงินลงทุนโครงการที่สูงมาก และผู้ลงทุนทำเหมืองจะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ หลังการทดลองขุดปล่องเหมืองที่ดำเนินการผ่านมาเป็น 10 ปีแล้ว ส่งผลให้บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ ไม่สามารถหาผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ที่จะเข้ามาทำเหมืองได้

โพแทชอุดรรอจีนร่วมทุน

ด้านความคืบหน้าของโครงการทำเหมืองแร่โพแทชของ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์เปอเรชั่น จำกัด (APPC) ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ขนาดพื้นที่ 26,400 ไร่ มีแผนการผลิตโพแทช 2 ล้านตัน/ปีนั้น ทางบริษัทแจ้งกำลังมีการตกลงร่วมทุนกับ SCIC ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศจีน และกำลังรออนุมัติจากรัฐบาลจีน และเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้อนุมัติการเห็นชอบโครงการดังกล่าวแล้ว ในมูลค่า 40,000 ล้านบาท

“โครงการแร่โพแทชที่อุดรธานี (แอ่งสกลนคร) ทางรัฐบาลจีนมีความมั่นใจมาก เพราะเป็นแหล่งแร่โพแทชชนิด Sylvinite เกรดดีมาก ที่ผ่านมาจีนต้องการโพแทชเพราะมั่นใจว่า ในอนาคตความมั่นคงทางด้านอาหารจะเป็นประเด็นที่สำคัญของจีน ดังนั้น เขาจึงต้องการ Secure แหล่งวัตถุดิบ ดังนั้นหากในไตรมาส 1/2568 รัฐบาลจีนให้ความเห็นชอบในการร่วมทุน เชื่อว่าโครงการโพแทชอุดรธานีอาจจะเห็นภายในปี 2571 หลังการเจรจากับสถาบันการเงินแล้ว” นายอดิทัตกล่าว

ทั้งนี้ มีความต้องการที่จะเห็นเหมืองแร่โพแทชเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ และยังมีหลายบริษัทยื่นขออาชญาบัตรสำรวจแร่เพิ่มเติมเข้ามาอีก ส่งผลให้ คณะกรรมการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ต้องขอนโยบายที่ชัดเจนว่า ประเทศไทยจะอนุมัติให้มีการทำเหมืองแร่โพแทชเพิ่มขึ้นหรือไม่ เนื่องจากในปัจจุบันมีความต้องการภายในประเทศ ประมาณ 1,000,000 ตัน/ปี ในขณะที่โครงการเหมืองแร่โพแทชทั้ง 3 โครงการ รวมกันสามารถผลิตโพแทชได้ประมาณ 3,200,000 ตัน/ปี

ดังนั้นตอนนี้จึงต้องการเห็นการทำเหมืองแร่โพแทชเหมืองแรกให้สำเร็จเสียก่อน จึงจะกลับมาพิจารณานโยบายว่าจะเปิดให้สำรวจหรือทำเหมืองแร่โพแทชเพิ่มขึ้นหรือไม่