
“นฤมล” เร่งดูแลบริหารจัดการน้ำรับมือหน้าแล้ง ชี้น้ำในอ่างปีนี้ดี มากกว่าปีก่อน เริ่มส่งน้ำสำหรับเพาะปลูกข้าวนาปี 15 มี.ค.นี้ สั่งกรมชลฯศึกษาโครงการลงทุนสร้างแหล่งน้ำขายในพื้นที่อีอีซี ดึงเอกชนร่วมลงทุน มูลค่า 3-4 หมื่นล้าน คาดผลักดันให้เกิดภายในปีนี้
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรองรับการเพาะปลูกข้าวที่กำลังจะถึงว่า ได้มอบหมายให้กรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งให้ข้อมูลการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ที่เหมาะสมในการเพาะปลูก ปริมาณน้ำมีเพียงพอ พร้อมให้มีชี้แจงอย่างต่อเนื่องด้วย
รวมไปถึงสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งจะมีข้อมูลชุดเดียวกัน ให้ทำการเร่งประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องเกษตรกรได้รับรู้ข้อมูลในการใช้น้ำ โดยให้ความมั่นใจกับเกษตรกรว่า ในปีการเพาะปลูก 2568 ปริมาณน้ำมีเพียงพอ แต่อาจจะไม่ใช่ทุกพื้นที่ ดังนั้น การเพาะปลูกจำเป็นต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ด้วย

เตรียมแหล่งน้ำรับมือแล้งปีนี้
นอกจากนี้ สทนช.ได้เริ่มดำเนินมาตรการป้องกันภัยแล้ง โดยเร่งรวบรวมโครงการต่าง ๆ เพื่อนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในครั้งหน้า อีกทั้งหน่วยงานที่ดูแลได้ดำเนินการจัดเก็บน้ำในแหล่งน้ำเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอ แต่ก็ยังมีบางพื้นที่ เช่น ในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ปริมาณน้ำอาจจะไม่เพียงพอ เพราะพื้นที่ชลประทานยังไม่ถึง 10% จากพื้นที่เพาะปลูกกว่า 10 กว่าล้านไร่ ซึ่งยังต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้มากขึ้น โดยต้องยอมรับว่าติดในเรื่องของงบประมาณ เพราะงบประมาณมีข้อจำกัด
กรมชลฯเหลืองบฯลงทุนหมื่น ล.
“ปีหนึ่ง ๆ กรมชลประทานได้งบประมาณมา 80,000 ล้านบาท มีรายจ่ายประจำไปแล้ว 30,000 ล้านบาท และงบฯผูกพันที่ดำเนินโครงการในปีก่อนหน้ากว่า 30,000 ล้านบาท และยังคงเหลือ 10,000 กว่าล้านบาทที่จะเริ่มโครงการใหม่ ซึ่งหากจะดำเนินการในส่วนของโครงการใหญ่อาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะโครงการหนึ่งใช้งบประมาณสูง ทั้งนี้ก็มีการนำเสนอเงินกู้เข้ามา เพื่อให้กรมชลประทานสามารถเดินหน้าโครงการใหม่ แต่เรื่องนี้ต้องพิจารณาและทบทวนอย่างรอบคอบ เนื่องจากมีผลต่อเพดานหนี้สาธารณะของประเทศซึ่งเป็นข้อจำกัด แม้จะมีแหล่งเงินเสนอเข้ามาให้กู้ก็ตาม”
เล็งผุดโครงการน้ำป้อน EEC
อย่างไรก็ดี กระทรวงเกษตรฯมีการพิจารณาหาแนวทางในการทำโครงการใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่สามารถสร้างรายได้ได้ เช่น ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หากมีการเข้าไปลงทุน สร้างแหล่งกักเก็บน้ำก็สามารถผลิตน้ำเพื่อขายได้ รวมถึงเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุน โดยในปีนี้หรือปีหน้า กระทรวงเกษตรฯมีแนวทางในการดำเนินโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ซึ่งอาจจะเดินหน้าโครงการสร้างแหล่งน้ำได้โดยที่ไม่ต้องรองบประมาณของรัฐบาล
ทั้งนี้ โครงการพีพีพีอยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งอาจจะต้องหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลพื้นที่อีอีซี โดยเบื้องต้นมองไว้ 2 โครงการที่จะดึงการลงทุนจากภาคเอกชน มูลค่าการลงทุนประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท มองว่าในพื้นที่อีอีซีมีความพร้อมและมีเอกชนที่จะสนใจเข้ามาลงทุน ซึ่งจะมีรายได้จากการซื้อ-ขายน้ำ อย่างไรก็ดี ในพื้นที่อีอีซีนั้น เราเห็นว่าหากไม่ดำเนินการใด ๆ เลย ในพื้นที่อีอีซีอาจมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอรองรับการลงทุนที่เข้ามา รวมไปถึงคุณภาพน้ำอีกด้วย
ยันปีนี้น้ำในอ่างมากกว่าปีก่อน
สำหรับภาพรวมสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (6 มี.ค. 68) มีปริมาณน้ำใช้การรวม 27,370 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา 1,365 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี มีเพียงพอใช้จนถึงช่วงต้นฤดูฝนนี้ ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การได้ 45 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้จัดสรรน้ำตามศักยภาพน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างใกล้ชิด พร้อมกับบูรณาการร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค สนับสนุนน้ำไปใช้ผลิตประปาสำหรับเมืองนครราชสีมา เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้ อีกทั้งขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรังนอกแผน
รวมถึงการปลูกพืชใช้น้ำน้อยอย่างต่อเนื่อง ด้านการจัดสรรน้ำในเขตพื้นที่ชลประทาน ปัจจุบันจัดสรรน้ำไปแล้วกว่า 20,177 ล้าน ลบ.ม. (69% ของแผน) คงเหลือความต้องการใช้น้ำเพื่อสนับสนุนช่วงฤดูแล้งอีก 8,993 ล้าน ลบ.ม. (31% ของแผน) และสำรองไว้ใช้ในต้นฤดูฝน ปี 2568 จำนวน 15,080 ล้าน ลบ.ม. ส่วนของผลการเพาะปลูกทั้งประเทศ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้วรวม 9.86 ล้านไร่ (93% ของแผน)
เริ่มส่งน้ำปลูกข้าวนาปี
นอกจากนี้ กรมชลประทาน เตรียมทยอยส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน เข้าพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2568 เพื่อให้เกษตรกรได้เตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวนาปีพร้อมกัน ตามการปรับปฏิทินการเพาะปลูก 1 เมษายนนี้ และสามารถเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ช่วยลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายจากฤดูน้ำหลาก อีกทั้งยังช่วยป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตอนบน รวมไปถึงพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
ขณะเดียวกัน กรมชลประทานบูรณาการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมการทำประมงเป็นอาชีพเสริม เพื่อสร้างรายได้เพิ่มในช่วงฤดูน้ำหลาก เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น