
จีไอที เผยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ม.ค. 68 โตต่อเนื่อง 148.82% เผยเฉพาะทองคำยังแรง ชี้เหตุเก็งกำไร ราคาทองกระฉูด วิ่งหาสินทรัพย์ปลอดภัย หนีนโยบายทรัมป์ ชี้เทรนด์พลอยสีพาสเทล สร้อยหลายเส้นระโยงระยางกำลังมาแรง
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือน ม.ค. 2568 มีมูลค่า 1,734.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 148.82% ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการส่งออกได้ดี ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกกลุ่มสินค้า ยกเว้นกลุ่มเพชร ส่วนตลาดส่งออก มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 2,902.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ การส่งออกเฉพาะทองคำในเดือน ม.ค. 2568 มีมูลค่า 1,167.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 148.95% โดยมีปัจจัยหนุนมาจากราคาทองคำเพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. 2567 มาอยู่ที่เฉลี่ย 2,709.69 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ทำให้มีการส่งออกเก็งกำไรเพิ่มขึ้น และยังได้รับแรงกดดันจากนโยบายประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นแรงหนุนการเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น
รวมทั้ง Goldman Sachs คาดการณ์ราคาทองคำปีนี้มีโอกาสไปถึง 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอ รวมทั้งการที่ธนาคารกลางหลายประเทศเพิ่มการซื้อทองคำมากขึ้นตั้งแต่ปีก่อนหน้า
สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่ส่งออกเพิ่มขึ้น โดยอินเดียมาแรงสุด เพิ่ม 1,893.86% กาตาร์ เพิ่ม 47.87% สหรัฐอเมริกา เพิ่ม 36.44% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 15.66% อิตาลี เพิ่ม 7.75% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 1.02% ส่วนฮ่องกง ลด 28.92% ญี่ปุ่น ลด 9.64% เบลเยียม ลด 6.31% เยอรมนี ลด 4.24%
ส่วนการส่งออกสินค้า ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยแพลทินัม มีมูลค่า 967.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตแรงสุด เพิ่ม 452,751.32% จากการส่งออกไปอินเดียเกือบทั้งหมด เครื่องประดับทอง เพิ่ม 6.54% เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 8.46% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 38.16% พลอยก้อน เพิ่ม 4.08% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 43.12% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 57.54% ซึ่งกลุ่มพลอยขยายตัวต่อเนื่อง เพราะมีการซื้อไปลงทุน ส่วนเพชรก้อน ลด 33.86% และเพชรเจียระไน ลด 33.06% เนื่องจากการส่งออกไปยังฮ่องกง และเบลเยียม ตลาดอันดับ 1 และ 4 ลดลง และเครื่องประดับเทียม ลด 5.79%
นายสุเมธกล่าวว่า ช่วงไตรมาสแรก คาดว่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับยังเติบโตได้ดี โดยได้รับอานิสงส์จากช่วงเทศกาลทั้งตรุษจีน วาเลนไทน์ รวมถึงการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญหลายงานทั่วโลก แต่ก็ต้องจับตานโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปมาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้สงครามการค้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น มีการตั้งกำแพงทางการค้า การออกมาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษีตอบโต้ระหว่างประเทศคู่ค้ามากขึ้น
รวมทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง และรัสเซีย-ยูเครน ยังคงคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา ล้วนเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก และอาจจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้
สำหรับเทรนด์เครื่องประดับในปีนี้ พบว่ามีสินค้าที่น่าสนใจ คือ พลอยสีที่มีเฉดพาสเทลอ่อน ๆ การสวมใส่เครื่องประดับอย่างสร้อยคอหรือสร้อยข้อมือเป็นชั้น ๆ ซ้อนหรือเรียงต่อกัน การใช้โลหะมีค่าสองหรือสามชนิดผสมผสานกันในตัวเรือนเครื่องประดับชิ้นเดียวกันกำลังมาแรง รวมถึงการใช้วัสดุที่มีจริยธรรมยั่งยืน และความโปร่งใส ยังเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง เพราะเป็นแนวโน้มที่ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสนใจ