ปตท. เดินเกมลุยไฮโดรเจน-CCUS แย้มให้ GPSC ศึกษาโรงไฟฟ้า SMR

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง

ปตท. เร่งหาพาร์ตเนอร์ต่างชาติเสริมแกร่งธุรกิจปิโตรเคมี-โรงกลั่น พร้อมลุยพลังงานสะอาด เดินเป้า Net Zero ดันปตท.สผ.ตัวหลัก ลงทุนไฮโดรเจน-CCUS เผยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ SMR มอบ GPSC ศึกษา

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยระหว่างพาคณะสื่อมวลชนดูงานไฮโดรเจน ประเทศญี่ปุ่น ว่า ปัจจุบันมีสถานการณ์โลกมีความท้าทายอย่างมากทั้งความมั่นคงทางพลังงาน สงครามทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้สภาวะเศรษฐกิจมีความผันผวน รวมถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด

ดังนั้น ปตท. จึงมีการปรับตัวให้เข้ากับบริบทและ mandate ในการเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ โดยกลับมาทำเรื่องถนัด คือ เรื่องพลังงานให้มีควมมั่นคงและบริหารต้นทุนที่เหมาะสม หาแหล่งพลังงานและสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้สภาวะการเปลี่ยนแปลงมีผลต่อปตท.น้อยสุด

ดร.คงกระพันกล่าวต่อไปว่า สำหรับการหาพาร์ตเนอร์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งร่วมลงทุนในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นว่า จริงๆเราไม่มีพาร์ตเนอร์ก็สามารถอยู่ได้ อาจจะเหนื่อยหน่อย แต่ในระยะยาวมองว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีล้นตลาด เราจึงหาพาร์ตเนอร์เพิ่ม ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ต่างชาติ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยเจรจา

ทั้งนี้ ปตท.ได้วางโครงสร้างในปีนี้ 3 ระยะ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของ EBITDA คือ ระยะสั้นเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจ Nonhydrocarbon ตามแผน บริษัทจะปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยเอาธุรกิจที่ไม่ทำกำไรออก แต่ในปีนี้จะยังไม่มีการสร้างธุรกิจใหม่เพิ่มเติม ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าโครงการ 3,300 ล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 3 ปี

ขณะเดียวกัน บริษัทได้วางแผนไปสู่ Digital Transformation เพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต (Productivity Improvement) ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2569 เราวางกลยุทธ์การลงทุนที่ไม่สูงมาก แต่เน้นการสร้างผลกำไรในระดับ และคุ้มค่า ไม่ต้องใช้เงินจำนวนมาก เน้นเพิ่มประสิทธิภาพและทำกำไรจากธุรกิจเดิมเป็นหลัก

ADVERTISMENT

แผนระยะกลางในปีนี้จะปรับโครงสร้างธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น โดยบริษัทจะนำพาร์ตเนอร์เข้ามา ตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพาร์ตเนอร์หลายรายที่มีทิศทางธุรกิจสอดคล้องกัน ส่วนแผนระยะยาว ปตท.จะเน้นการลงทุนที่ลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ผ่านการลงทุนเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage) และไฮโดรเจน

ล่าสุดปตท.อยู่ระหว่างรีวิวเป้าหมาย Carbon Neutrality 2040 และ Net Zero 2050 ใหม่อีกครั้ง จะเน้นดูภาพรวมทั้งกลุ่มตามบริบทโลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะภาษีคาร์บอน จึงต้องดูช่วงเวลาเหมาะสมสุด เพราะทุกกระบวนการมีต้นทุน อาจจะช้าหรือเร็วเป็นไปได้หมด

ADVERTISMENT

นายคงกระพัน กล่าวว่า เป้าหมายความยั่งยืน จะปลูกป่า 2 ล้านไร่เป็นวิธีที่ต้นทุนถูกสุด พร้อมเดินหน้า 2 เรื่องสำคัญ คือ

1. ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ผ่าน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่ได้ศึกษาทำแหล่งแซนด์บ็อกซ์ในแหล่งอาทิตย์ 1 ล้านตัน โดยต้นทุนการทำแท้จริงยังไม่สามารถระบุได้

นอกจากนี้จะต้องรอภาครัฐกำหนดกฏกติกาและกฎหมายให้ชัดเจนก่อน เพราะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องบูรณาการร่วมกันอย่างรอบคอบ ปัจจุบันภาครัฐมีคณะทำงาน และอีกส่วนยังมีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือ กรมโลกร้อน ขับเคลื่อน โดยปัจจุบันสหรัฐเห็นความคุ้มค่า CCS รัฐบาล จึงอุดหนุนราคา 85 ดอลลาร์ต่อตันเพื่อเก็บคาร์บอน

2. ไฮโดรเจนสำหรับไฮโดรเจนดังกล่าวเป็นไฮโดรเจนที่ใช้ใช้แทนเชื้อเพลิง แก๊สธรรมชาติในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า โรงกลั่น ซึ่งประเทศไทยเรานำเข้าพลังงานเกือบทั้งหมด ดังนั้นไฮโดรเจนในช่วงแรกต้องผ่านกระบวนการแยกน้ำ ซึ่งใช้ต้นประมาณค่อนข้างสูง เราจึงลงทุนในต่างประเทศที่สามารถแยกไฮโดรเจนจากน้ำและมีต้นทุนถูก เช่น ตะวันออกกลาง อินเดีย

ขณะเดียวกันเป็นการนำเข้าไฮโดรเจน ในรูปแบบแอมโมเนีย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางตามร่างแผน PDP 2024 กำหนดสัดส่วนการใช้ไฮโดรเจน 5% นำไปผสมในเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ สำหรับผลิตไฟฟ้า ในปี 2030

“การลงทุนทั้ง2เรื่อง ยังต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐโดยเฉพาะด้านกฎหมาย การกักเก็บคาร์บอน การกำหนดไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง หากปตท.ลงทุนมั่นใจจะดึงดูดการลงทุนใหม่จากเอกชนที่ต้องการพลังงานสะอาด จีดีพีขยายตัว เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจจะประเมินอีกครั้ง”นายคงกระพันกล่าว

นายคงกระพัน กล่าวว่า สำหรับเทคโนโลยีนิวเคลียร์เล็ก หรือ SMR อยู่ระหว่างศึกษาโดย บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC

ทั้งนี้ปี 2568 ปตท. จะเน้นสร้างความมั่นคงและเติบโต โดยลดความเสี่ยงธุรกิจ สร้างเสถียรภาพทางธุรกิจจากการที่โลกมียังมีความวุ่นวาย ผันผวน รวมถึงธุรกิจที่มีอยู่ในช่วงขาลงไม่สมดุลกัน ยืนยันว่าไม่ใช่ว่าปตท. จะไม่ลงทุนแต่การลงทุนจะดูความคุ้มทุนเพื่อสร้างการเติบโตที่ก้าวกระโดด