ราคาน้ำมันดิบ (13 มี.ค. 68) ปรับเพิ่ม หลังสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐต่ำกว่าคาด

crude oil

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนต์ปรับเพิ่มขึ้น หลังสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐต่ำกว่าคาด ท่ามกลางความกังวลภาวะเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคามีดังนี้ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนต์ปรับเพิ่มขึ้น หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 7 มี.ค. 68 เพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 435.2 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นถึง 2.0 ล้านบาร์เรล

ตลาดยังคงกังวลภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่อาจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย และผลกระทบจากมาตรการกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐที่อาจผลักดันต้นทุนราคาสินค้าให้สูงขึ้น กระตุ้นเงินเฟ้อ และบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันโลก ทั้งนี้ มาตรการภาษีนำเข้าสหรัฐยังคงมีความไม่แน่นอน และสร้างความผันผวนให้กับราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ยังคงยืนยันการคาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันโลกจะเติบโตเพิ่มขึ้น 1.45 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2568 และ 1.43 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2569 โดยได้รับแรงหนุนจากการเดินทางทางอากาศและการใช้ยานพาหนะที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง

ขณะเดียวกันได้เปิดเผยข้อมูลการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัสในเดือน ก.พ. 68 ปรับเพิ่มขึ้น 363,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นผลมาจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของคาซัคสถาน หลังจากก่อนหน้านี้ยังไม่สามารถผลิตได้ตามโควตาที่กำหนด

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังราคาได้รับแรงหนุนจากสต๊อกน้ำมันเบนซินสหรัฐ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 มี.ค. 68 ที่ปรับลดลงกว่า 5.7 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 241.1 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดเพียง 1.9 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคายังคงได้รับแรงกดดันจากความต้องการใช้ในญี่ปุ่นที่ปรับลดลงในช่วงก่อนหน้า หลังเผชิญสภาพอากาศหนาวเย็น ส่งผลให้การขับขี่ภายในประเทศลดลง

ADVERTISMENT

ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานในภูมิภาคมีแนวโน้มตึงตัวขึ้นในช่วงเดือน เม.ย. 68 ขณะที่สต๊อกน้ำมันดีเซลของญี่ปุ่นยังคงทรงตัวในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดีเซลของฮ่องกงในเดือน ม.ค. 68 ปรับลดลงกว่าร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า