หอการค้าไทยส่งสัญญาณดัชนีผู้บริโภคลดลงในรอบ 5 เดือน แรงกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ถึง

หอการค้าไทย

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.พ. 2568 ระดับ 57.8 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน แม้มีมาตรการแต่บรรยากาศยังไม่ฟื้น ส่วนดัชนีหอการค้าก็ขึ้นเล็กน้อย เพราะยังไม่มั่นใจ ชี้ยังมั่นใจจีดีพีไทยทั้งปีโตได้ 3%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าจากนโยบายทรัมป์ 2.0 แม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้น แต่ประชาชนยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

“หอการค้ายังคงการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2568 ขยายตัวให้ได้เกิน 3.0-3.5% ส่วนไตรมาส 2 คาดขยายตัว 2.5-3.0% ภายใต้ปัจจับกระทบ เช่น ทรัมป์ 2.0 ส่งผลให้ครึ่งปีแรกจีดีพีขยายตัวได้ 3.0% ส่วนครึ่งปีหลังคาดขยายตัว 2.5-3%

ธนวรรธน์ พลวิชัย
ธนวรรธน์ พลวิชัย

อย่างไรก็ดี จากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หอการค้าเสนอ 1.ตั้งทีมงานพิเศษที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ด้านเกษตร การค้า อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว เพื่อหารือและออกแนวทางรับมือนโยบายทรัมป์ 2.0 และรู้ถึงปัญหาที่ต้องแก้ไขได้ทันที 2.เร่งเจรจาต่อรองที่ประเมินว่ามีผลกระทบต่อไทย เช่น เพิ่มการนำเข้าสินค้าจำเป็นจากสหรัฐ อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มีผลต่อต้นทุนอาหารสัตว์

3.ปรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ พักการโอนเงิน เป็นเน้นลงทุนแทน ผ่านมาตรการการเงินการคลัง เช่น ลดหย่อนภาษีเพิ่ม 2 เท่า สำหรับหน่วยงานส่วนกลางและท้องถิ่น (อบต. และ อบจ.) ใช้งบฯ จัดอบรมและจ้างงาน หรือมาตรการคนละครึ่งคูณสอง คือรัฐใช้งบฯ กระตุ้นครึ่งหนึ่ง ดึงเงินประชาชนใช้จ่ายอีกครึ่ง อย่างรัฐใช้งบฯ 3 หมื่นล้านบาท ผ่านโอนกลุ่มเฟส 3 มีผลต่อจีดีพี 0.12% เงินก้อนเดียวกันไปรวมกับเงินประชาชนสมบทบใช้จ่ายจะเป็น 6 หมื่นล้านบาท และไปหมุนต่อถึงภาคธุรกิจ รวม 3 รอบ เงินจะถึง 1.2 แสนล้านบาท ส่งผลต่อจีดีพี 0.24%

เชื่อมั่นหอการค้าดีขึ้น

นายวชิร คูณทวีเทพ รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศจำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-28 กุมภาพันธ์ 2568 พบว่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 49.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 49.0 ในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

ADVERTISMENT

โดยดัชนีที่ปรับขึ้นจะมาจากสัญญาณปรับตัวดีขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงเดือนนี้ ทั้งเงินโอน 10,000 บาท เฟส 2 ที่ให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และมาตรการ Easy E-Receipt ซึ่งช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และส่งผลให้ธุรกิจร้านค้ามีรายได้เพิ่มขึ้น มีเม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

แต่ทั้งนี้ คงต้องจับตาดูในเดือนมีนาคม 2568 ว่าจะมีผลต่อความเชื่อมันของผู้ประกอบธุรกิจมากน้อยเพียงใด รวมถึงนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐ และการตอบโต้ทางการค้าจากประเทศอื่น ๆ ที่มีต่อสหรัฐด้วยเช่นกัน

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้ 1.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง 2.มาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ Micro และธุรกิจขนาดเล็ก

3.แนวทางการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอและเหมาะสมกับภาคการเกษตร อุปโภค-บริโภค และภาคอุตสาหกรรม 4.มาตรการช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยการเพิ่มรายได้ของประชาชน และต้องผ่อนปรนภาระของประชาชน เช่น หนี้รถยนต์ ผ่อนบ้าน และหนี้ของผู้ประกอบการ SMEs

5.การแก้ปัญหาสินค้าออนไลน์รุกตลาดประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SMEs ของไทยต้องเสียเปรียบ 6.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้กับธุรกิจที่มีความพร้อมในการส่งออกสินค้าและบริการไปยังตลาดต่างประเทศ 7.รักษาเสถียรภาพทางด้านการเงินให้สมดุล เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

เชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงครั้งแรก

นายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2568 อยู่ที่ระดับ 57.8 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน นับตั้งแต่ตุลาคม 2567 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ของไทยและทั่วโลกปรับตัวลดลง แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผู้บริโภคกลับรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้า

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 51.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานอยู่ที่ 55.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 66.7 โดยดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงทุกรายการเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนเช่นกัน

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมยังเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพสูง ตลอดจนปัญหาสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้