
อิทธิ รมช.กระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่ จ.จันทบุรี ร่วมหารือผู้ปลูก ผู้ประกอบการ ล้งภาคตะวันออก ติวเข้มพร้อมเข้มงวดตรวจสอบคุณภาพผลผลิต ปลอดการปนเปื้อน ตรวจ ติดตาม เฝ้าระวัง และควบคุมการส่งออกผลไม้ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมและมอบนโยบายการส่งออกผลไม้แก่ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ภาคตะวันออกฤดูกาลผลิตปี 2568” ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ทั้งเปลือก (ทุเรียนและมังคุด) ในพื้นที่ภาคตะวันออกร่วมกว่า 500 คน ว่ากระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายในการกำกับดูแลให้ผลไม้เป็นไปตามมาตรฐาน ปราศจากศัตรูพืชกักกัน เพื่อลดปัญหาการแจ้งเตือนจากประเทศปลายทาง
ซึ่งขณะนี้ปัญหาการปนเปื้อน Basic Yellow 2 (BY2) และสารแคดเมียมในทุเรียนสดส่งออกไปจีนเป็นสิ่งที่ทางการจีนมีความเข้มงวดและออกกฎระเบียบในการควบคุมการนำเข้า การจำหน่าย ผลไม้นำเข้าจากประเทศไทย ซึ่งหากมีการตรวจพบการปนเปื้อน BY2 และสารแคดเมียมในผลทุเรียนสด และถูกระงับการนำเข้าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจการส่งออกผลไม้ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทบต่อราคาผลผลิตของเกษตรกร
โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบ และมีภารกิจในการกำกับ ดูแล การตรวจติดตามโรงงานผลิตสินค้าพืชให้ได้มาตรฐาน เข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพผลผลิต และรับรองสุขอนามัยพืชให้เป็นไปตามเงื่อนไขในพิธีสารส่งออกไปจีนอย่างเข้มงวด เพื่อให้การบริหารจัดการผลไม้ ตลอดห่วงโซ่การผลิตจนถึงกระบวนการส่งออก สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย
กระทรวงเกษตรฯ เน้นย้ำในเรื่องของการปฏิบัติตามมาตรการ 4 ไม่ เพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียนไทย ปี 2568 ได้แก่ 1.ไม่อ่อน 2.ไม่หนอน 3.ไม่สวมสิทธิ และ 4.ไม่มีสี-ไม่มีสารเคมีต้องห้าม โดยมีเป้าหมาย “Set Zero” การใช้สี การใช้สารเคมีในโรงคัดบรรจุทั้งหมด” รวมถึงมาตรการ Big Cleaning เพื่อป้องกันการปนเปื้อนสารตกค้าง BY2 ซึ่งนับเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้ เรื่องคุณภาพและมาตรฐานกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรในโรงคัดบรรจุ การกำกับดูแลผลไม้ให้เป็นไปตามมาตรฐาน เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุและโรงรวบรวมผลไม้ปฏิบัติได้ตามมาตรฐานและตามประกาศหลักเกณฑ์ที่กำหนด และมีการบูรณาการและสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ผลไม้ที่ส่งออกไปก็จะมีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน
ส่งเสริมภาพลักษณ์ สร้างความเชื่อมั่น และความพึงพอใจให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ การส่งออกผลไม้ของไทยก็จะราบรื่น เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลไม้ได้ราคาดี ช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทย และสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการและเกษตรกรได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
ดังนั้น การจัดประชุมในครั้งนี้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านการส่งออกผลไม้ ปัญหาผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด รวมถึงปัญหาด้านกักกันพืชที่ไม่เป็นไปตามพิธีสาร การตรวจพบศัตรูพืช ทั้งโรค แมลง และการตรวจพบสารตกค้างในผลผลิตที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก เพื่อลดการแจ้งเตือน การปฏิเสธ และตีกลับสินค้าจากประเทศผู้นำเข้าผลไม้จากประเทศไทย
อีกทั้งเพื่อให้การเผยแพร่ข้อเท็จจริงในสื่อต่าง ๆ และการรับรู้ข่าวสารเป็นไปอย่างถูกต้อง โดยการชี้แจงให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุได้รับทราบและเข้าใจในหลักเกณฑ์ กฎระเบียบ และขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขปัญหา ตรวจติดตาม เฝ้าระวัง และควบคุมการส่งออกผลไม้ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
รวมถึงเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการระดมความคิดเห็นและหารือข้อตกลงร่วมกันในการแก้ไขปัญหา ช่วยให้การส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกปี 2568 เป็นไปด้วยความราบรื่นและมีประสิทธิภาพ จึงมีความมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุได้มีความเข้าใจในกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ในการส่งออกผลไม้ สามารถบริหารจัดการโรงคัดบรรจุได้ตามมาตรฐาน มกษ.9047-2560 รวมถึงประกาศและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรมอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6 ) ลงพื้นที่ตรวจติดตามตามมาตรการ Big Cleaning นับตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2568 เป็นต้นมา รวมทั้งจัดงานมหกรรม Big Cleaning Day ทุเรียนภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 ณ โรงคัดบรรจุเกาฟง และโรงคัดบรรจุบริเวณโดยรอบ พร้อมกันนี้ยังได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพทุเรียนของโรงคัดบรรจุ ให้มีความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานตรวจสอบคุณภาพทุเรียน ตามหลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ. 9070-2566)
โดย สวพ.6 ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด และสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ จัดฝึกอบรมเรื่องการพัฒนาทักษะผู้ควบคุมคุณภาพผลผลิตประจำโรงคัดบรรจุผลไม้ทั้งเปลือก ปี 2568 จำนวน 2 รุ่น ให้กับผู้ควบคุมคุณภาพประจำโรงคัดบรรจุผลไม้ภาคตะวันออก โดยจะดำเนินการในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2568 ณ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ซึ่งขณะนี้มีโรงคัดบรรจุให้ความสนใจแจ้งความประสงค์เข้ารับการฝึกอบรมเป็นจำนวนมาก