ราช กรุ๊ป เพิ่มพลังงานสีเขียวเป็น 30% ปัดฝุ่นโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR

นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์
นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์

“ราช กรุ๊ป” เปิดแผนปี 2568 ทุ่ม 15,000 ล้านบาท ปรับกลยุทธ์ปัดฝุ่นโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก SMR คาดเริ่มทำกิจกรรมการตามหลัก ESG ประชาชนต้องมีส่วนร่วม พร้อมปรับพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีรายได้ มุ่งสู่พลังงานสีเขียวสัดส่วน 30% ในปี 2573

นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมแผนที่จะเริ่มนำโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) กลับเข้ามาเป็นหนึ่งในแผนของปี 2568 ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมกับทางเครือสหพัฒน์ ศึกษาเทคโนโลยีเครื่องปฎิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ และในเดือนกรกฎาคม ได้กำหนดงาน Nuclear Energy and SMR Forum เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นพลังงานที่มีศักยภาพที่สามารถตอบสนองภาคอุตสาหกรรม และประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก

“SMR เราเคยมีแผนร่วมดำเนินการกับประเทศจีนมาก่อนหน้านี้เราเป็นรายแรกที่ศึกษาเรื่องนี้ เรามีทีมทำงานยังคงอยู่ เราจึงไม่ได้เริ่มจาก 1 ถ้ารัฐไฟเขียวเราก็พร้อมลงทุน”

บวกกับ SMR เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตไฟฟ้าที่เป็นกรีนหรือพลังงานสีเขียว สอดรับกับแผนปี 2568 ที่บริษัทได้ทบทวนกลยุทธ์ธุรกิจปรับพอร์ตการลงทุนใหม่มุ่งไปในสินทรัพย์ที่มีรายได้ โดยมุ่งที่จะลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนให้ถึง 30% ของกำลังการผลิตรวมในปี 2573 และ 40% ในปี 2578 ซึ่งปัจจุบันมีกำลังผลิตจากพลังงานทดแทนรวม 2,972 เมกะวัตต์ หรือ 27.5% ที่เหลือเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล 7,843 เมกะวัตต์ หรือ 72.5%

ส่วนกลยุทธ์การบริหารสินทรัพย์แต่ละกลุ่มให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยครอบคลุมตั้งแต่การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ในการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ (Predictive Maintenance) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การนำโรงไฟฟ้าเดิมมาปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เกิดมูลค่าเพิ่ม

อาทิ โครงการ Synchronous Condenser ของโรงไฟฟ้าทาวน์สวิลล์ในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นการนำโครงสร้างพื้นฐานของโรงไฟฟ้ามาใช้สนับสนุนเสถียรภาพระบบไฟฟ้าของรัฐควีนส์แลนด์ การพัฒนาโรงไฟฟ้าที่ปลดระวางแล้วและสินทรัพย์ที่ดินเป็นธุรกิจใหม่หรือโครงการใหม่ การเข้าลงทุนซื้อหุ้นจากพันธมิตรเดิมในโครงการที่ยังมีมูลค่าทางธุรกิจ รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพสินทรัพย์ให้สอดรับกับเป้าหมายธุรกิจของบริษัท และลงทุนในธุรกิจพลังงานใหม่

ADVERTISMENT

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน บริษัทมุ่งกระจายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน รวมถึงพลังงานรูปแบบใหม่ และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายที่จะลงทุนโครงการพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีโครงการในมือแล้ว 12 โครงการ กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมประมาณ 1,700 เมกะวัตต์

ประกอบด้วย โครงการที่ตั้งอยู่ในประเทศออสเตรเลีย ได้แก่ ระบบกักเก็บพลังงาน เบอรีล กำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ โครงการโซลาร์ฟาร์มมารูลัน กำลังการผลิต 152 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานลมสปริงแลนด์ กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ โครงการในประเทศฟิลิปปินส์ ได้แก่ โครงการพลังงานลมใกล้ชายฝั่งซานมิเกล กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 245 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งลูเซียน่า กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 232.75 เมกะวัตต์

ADVERTISMENT

รวมทั้งโครงการพลังงานลมในเวียดนาม ได้แก่ โครงการเบ็นแจ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 39.20 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานลมบนฝั่ง 2 โครงการกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น รวมประมาณ 140.45 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยอีก 153.97 เมกะวัตต์

“นอกจากการปรับพอร์ตสินทรัพย์แล้ว ในปีนี้บริษัทยังมุ่งขยายการลงทุนโดยให้ความสนใจในโครงการพลังงานทดแทน และโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในปี 2593 ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ เพื่อให้บริษัทมีรายได้มั่นคงและสามารถสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ บริษัทได้จัดเตรียมงบประมาณลงทุนไว้ 15,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนโครงการใหม่ ๆ และโครงการที่ได้ลงทุนแล้วซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง โดยในปีนี้มีจำนวน 3 โครงการที่กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์

ได้แก่ โรงไฟฟ้า นวนครส่วนขยาย โรงไฟฟ้าพลังน้ำซองเกียง 1 ในเวียดนาม และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ NPSI ในฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ บริษัทยังมีความก้าวหน้าในการศึกษาและพัฒนาพลังงานรูปแบบใหม่ที่มีศักยภาพทางธุรกิจ ได้แก่ พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว และพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก รวมทั้งระบบกักเก็บพลังงาน

ซึ่งปัจจุบันบริษัทย่อยในออสเตรเลียได้พัฒนาโครงการระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ โดยได้ใช้โครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Kemerton ในออสเตรเลีย และมีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินทรัพย์เดิม และยังเป็นการก้าวเข้าสู่ระบบนิเวศการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว”