
สัมภาษณ์พิเศษ
ท่ามกลางราคาข้าวนาปรังที่ตกลงตั้งแต่ต้นฤดู จนส่งผลให้ สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ออกมาเคลื่อนไหวขอให้รัฐบาลกำหนดมาตรการช่วยเหลือข้าวนาปรัง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน โดยสมาคมได้เรียกร้องขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการประกันราคาข้าวเปลือกไม่ต่ำกว่าตันละ 12,000 บาท
ซึ่งคล้ายกับวิธีการช่วยเหลือราคาข้าวนาปีในรัฐบาลก่อนหน้านี้ ทว่า คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (กนข.) กลับมีมติกำหนดมาตรการช่วยเหลือเพียงมาตรการเดียว คือ การจ่ายเงินชดเชยเกษตรกรโดยตรงไร่ละ 1,000 บาท คนละไม่เกิน 10 ไร่ วงเงิน 2,867.23 ล้านบาท โดยจะจ่ายเงินโดยตรงแก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูกข้าวนาปรัง พร้อมกับเร่งรัดให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนสามารถขึ้นทะเบียนได้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2568
โดยมีข้อน่าสังเกตว่า มาตรการช่วยเหลือราคาข้าวนาปรังครั้งนี้ ไม่ได้ใช้วิธี “ชะลอ” มิให้ข้าวเปลือกทยอยออกสู่ตลาดด้วยการให้สินเชื่อหรือเงินช่วยเหลือในการฝากเก็บข้าวเปลือกไว้ในสต๊อกของทั้งเอกชนและสถาบันเกษตรกร แต่รัฐบาลเลือกที่จะใช้วิธีการจ่ายเงินอุดหนุนโดยตรงให้กับชาวนา
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ส่งผลให้ข้าวนาปรังครอปนี้จะทะลักออกมามากที่สุดในเดือนมีนาคมต่อเดือนเมษายนนี้ โดยไม่มีทีท่าว่า ราคาข้าวเปลือกในตลาดจะปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่การส่งออกข้าวยังเป็นไปได้ช้า เนื่องจากไม่มี คำสั่งซื้อข้าวลอตใหญ่ ที่จะเข้ามาช่วยพยุงราคาข้าวในประเทศไว้ได้ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธาน บริษัท เอเซีย โกลเด้นท์ไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของประเทศต่อมุมมองสถานการณ์ข้าวไทยในปีนี้
Q : สถานการณ์ข้าวในขณะนี้
เหนื่อยนะ ทั้งในเชิงปริมาณการส่งออกข้าวและราคา ปีนี้สต๊อกข้าวโลกก็ล้น ประกอบกับประเทศอินเดีย หันกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้ง หลังจากชะลอไป 2 ปี จากข้อเท็จจริงที่ว่า สต๊อกข้าวอินเดียก็ไม่ได้ล้นมากมายอะไร เพียงแต่ที่ผ่านมาอินเดียกังวลว่า ข้าวสาลีอาจจะขาด พอสถานการณ์ข้าวสาลีกลับมาปกติ อินเดียก็กลับมาส่งออกข้าวเหมือนเดิม ทีนี้พอประกาศว่าจะส่งออก มันก็เป็นผลทางจิตวิทยาต่อตลาดข้าวโลก จากที่ปกติส่งออกพีกสุด 22-23 ล้านตัน แล้วลดลงมาเหลือ 18 ล้านตัน เท่ากับหายไป 4 ล้านตัน พอกลับมาส่งออกอีกก็เท่ากับจะมีการ “เติมข้าว” เข้าไปในตลาดอีก 4 ล้านตัน มันก็มีผลนะ
ส่วนทางอินโดนีเซีย ใน 2 ปีที่ผ่านมาช่วงราคาข้าวขึ้นเคยนำเข้าข้าวปีละ 4 ล้านตัน ปีนี้มีการคาดการณ์จะนำเข้าข้าวเหลือแค่ 1 ล้านตัน เท่ากับดีมานด์หายไป 3 ล้านตัน ที่นำเข้าข้าวลดลงเป็นเพราะผลผลิตข้าวปีที่ผ่านมาดีมาก จาก 2 ปีที่แล้วที่ต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้ง มาปี 2567 ฝนดีมาก ผลผลิตข้าวอินโดนีเซียก็เพิ่มขึ้น ดังนั้นการนำเข้าข้าวก็ลดลง เท่ากับตลาดอินโดนีเซียหายไป 2.5-3 ล้านตัน ทีนี้ขณะที่อินเดียบวกกลับเข้ามาอีก 4 ล้านตัน ก็เท่ากับเป็น “ดับเบิล” มันจึงมีผลต่อตลาดข้าวโลกอยู่ในตอนนี้
ฟิลิปปินส์ ที่เป็นตลาดนำเข้าข้าวที่สำคัญของไทย ผมมองว่าจะนำเข้าข้าวเป็นปกติ แต่ช่วง 1-2 เดือนนี้ชะลอการนำเข้าลงไป ก็เพราะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว ต้องรอให้เก็บเกี่ยวหมดก่อนจึงจะรู้ปริมาณผลผลิตข้าวของฟิลิปปินส์ ประกอบกับต่อไป ฟิลิปปินส์ก็จะมีการเลือกตั้งด้วย
ดังนั้นในทางการเมืองจึงต้องดูแลราคาข้าวภายในประเทศ จึงมีการชะลอการนำเข้าข้าวลง ส่วนตลาดข้าวแอฟริกา ซึ่งก็เป็นตลาดส่งออกข้าวสำคัญของไทยอย่าง ประเทศเซเนกัล ในปีที่ผ่านมาประสบปัญหาในเรื่องของการจ่ายเงินค่าข้าวที่ขายข้าวผ่านโบรกเกอร์ ทำให้แบงก์ไม่ปล่อยเครดิตให้กับผู้ขายก็กลายเป็นความเสี่ยง การขายข้าวไทยไปตลาดนี้โดยตรงก็เสี่ยงจาก 2 ปัจจัย คือ ทั้งการดูแลข้าวในสต๊อก กับค่าเงินแต่ละประเทศผันผวนมาก ขึ้นลงวันละ 20% ก็มี ดังนั้นการส่งออกข้าวไปตลาดนี้จึงลดลง
แต่สุดท้ายแล้ว ผมมองว่ายังไงผู้ซื้อข้าวส่งไปตลาดแอฟริกาก็ต้องกลับมา แต่สถานการณ์มันเปลี่ยน เพราะไทยไม่ได้ขายข้าวอยู่คนเดียว ตอนนี้อินเดียเขาก็กลับมาขายข้าวแล้วกลายเป็นตัวเลือก ถ้าอินเดียเสนอขายข้าวราคาถูกกว่าข้าวไทยแยะ ๆ ผู้ซื้อเขาก็ต้องหันไปซื้อข้าวอินเดีย แทนที่จะมาติดต่อซื้อข้าวไทย
Q : แต่เวียดนามยังเป็นคู่แข่งอยู่
จริง ๆ วันนี้ไม่ใช่แล้วนะ ข้าวไทยไม่ได้เป็นคู่แข่งข้าวเวียดนามแล้ว เพราะวันนี้เวียดนามขยับขึ้นไปทำข้าวคุณภาพสูงขึ้น เขาขยับขึ้นไปอีกขั้นแล้ว อย่าง ตลาดข้าวนิ่ม ในประเทศผู้นำเข้าข้าวอย่าง อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ แม้กระทั่งฮ่องกง-สิงคโปร์ ผมอยากบอกว่า ข้าวเวียดนามครองตลาดไปหมดแล้วและขายได้ราคาดีด้วย เพราะเวียดนามทำข้าว Top Grade กว่าข้าวไทย พันธุ์ข้าวก็ดีกว่า คุณภาพดีกว่า หลังจากที่ทุ่มเงินลงทุนด้านการทำวิจัยมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี
ผมยกตัวอย่าง พันธุ์ข้าว ST พัฒนาพันธุ์ไปจากข้าวบาสมาติ ซึ่งเป็นข้าวพื้นแข็งปรับให้เป็นข้าวนุ่ม เขาทำตั้งแต่ ST-15 มาวันนี้พัฒนาไปถึง ST 25-26 (ปี 2566 ข้าวหอม ST 25 หรือ Gao Ong Cus ได้รับรางวัลที่ 1 ข้าวที่ดีที่สุดในโลก) ผลผลิตข้าวเวียดนามต่อไร่ก็สูง (1 ไร่ 1,000 กก.ขึ้น) ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวในภาคอีสานของเราเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะพื้นที่ติดแหล่งน้ำหรือระบบชลประทานจากเขื่อนหลัก ๆ อย่างลำปาว-อุบลรัตน์-สิรินธร ซึ่งเคยเป็นพื้นที่สำคัญในการปลูกข้าวหอมมะลิ มาวันนี้ปรากฏชาวนาอีสานหันไปปลูกข้าวนาปรังกันเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิค่อย ๆ ลดลง และนับวันจะหายไปเรื่อย ๆ
สังเกตดูจะเห็นว่า ราคาข้าวนาปรังวันนี้จากตันละ 20,000 บาท แม้จะลดลงเหลือตันละ 13,000 บาท ก็มีผลผลิตข้าวนาปรังเพิ่มขึ้น ต่างจากข้าวหอมมะลิตันละ 30,000 บาท นั่นหมายความว่า Supply ข้าวหอมมะลิมันไม่ได้มาก ไม่ได้ล้น ราคาจึงดี แต่ถึงจะดีอย่างไร ชาวนาก็อาจจะไม่ต้องการปลูก ถ้ายังทำนาปรังได้จากระบบชลประทานเพราะอะไร ปลูกข้าวหอมมะลิแม้จะได้ราคาเกวียนละ 15,000 บาท ผลผลิตต่อไร่ 400 กก. แต่ข้าวนาปรังปลูกได้ผลผลิตต่อไร่ 800-900 กก. รัฐอุดหนุนจ่ายเงินโดยตรงอีกก็ได้ร่วม 10,000 บาท ยังไงเก็บเงินจากการขายข้าวได้มากกว่า แถมยังปลูกได้ 2 รอบด้วย
Q : จะทำอย่างไรให้ราคาข้าวเปลือกขึ้น
ต้องถามว่า จะพยุงราคาข้าวเปลือกต่อจากนี้ไปได้อย่างไรมากกว่า ในประเด็นนี้ผมมีความเห็นว่า ต้องเดินสายไปคุยกับประเทศผู้ซื้อข้าวไทยรายใหญ่อย่าง จีน-บังกลาเทศ-อินโดนีเซีย ทำอย่างไรให้เขากลับมาซื้อข้าวไทย ด้วยราคาข้าวไทยที่อยู่ในระดับนี้ ผมว่าผู้ซื้อรับได้ อย่างจีน หรือ COFCO ต้องไปเจรจาขอให้ช่วยซื้อข้าวไทยในช่วงนี้ เพราะเรายังมี G to G กับรัฐบาลจีนเหลืออยู่ 280,000 ตัน (ครั้งสุดท้ายขายข้าวขาว 5% G to G ไป 20,000 ตันในปี 2564 จากปริมาณข้าว G to G ทั้งหมด 1 ล้านตัน ขายไปแล้ว 8 ลอต ลอตละ 100,000 ตัน)
หรือต้องเปิดการเจรจาขายข้าวให้กับอินโดนีเซีย ในอดีตก็เคยมีการเซ็น MOU กันไว้ปีละ 1 ล้านตัน ซึ่งล่าสุดอินโดนีเซียซื้อข้าวไทยแบบ G to G ปริมาณ 55,000 ตัน สมัยนายภูมิธรรม เวชยชัย เราก็เคยเจรจาขายข้าวได้มาแล้ว บังกลาเทศก็เป็นตลาดเป้าหมาย ทุกตลาดต้องจัดคณะผู้แทนไปเจรจาแบบเคาะประตูบ้านเขาเลย ถ้าสามารถเจรจาขายข้าวทั้ง 3 ตลาดนี้ได้ ผมเชื่อว่าจะสามารถพยุงราคาข้าวเปลือกในประเทศได้ รวมไปถึงการเดินสายขายข้าวในอนาคตด้วย
Q : ราคาข้าวเปลือกจะตกต่ำลงกว่านี้หรือไม่
ผมว่าราคาข้าวเปลือกอาจมีโอกาสต่ำกว่านี้ไปได้น้อยมาก เพราะถ้าข้าวราคาต่ำลงไปกว่านี้ ชาวนาอยู่ไม่ได้แน่ วันนี้โรงสีก็ท้องว่าง พร้อมที่จะซื้อข้าวเข้าเก็บ ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ก็ท้องว่างค่อนข้างมาก ดังนั้นราคาข้าวเปลือกจะต่ำกว่านี้ไปก็คงไม่มาก ถ้าจะต่ำลงมาก็เป็นช่วงสั้น ๆ
แต่ปัจจัยที่จะทำให้ราคาข้าวหวนกลับขึ้นมา ผมก็ยังมองไม่ออกเหมือนกัน ดังนั้นราคาข้าวเปลือกก็จะยังคงป้วนเปี้ยนอยู่แถวนี้ไปอีกสักพักใหญ่ ๆ ข้าวเวียดนามขณะนี้ก็พีกสุดแล้ว สิ่งที่จะต้องติดตามต่อไปก็คือ ตลาดข้าวอินโดนีเซียหลังเก็บเกี่ยวแล้วจะมีปริมาณผลผลิตเท่าไหร่ ประเทศอินเดียจะ Dump ราคาข้าวในตลาดลงมาอีกหรือไม่ หรือราคาข้าวอินเดียขนาดนี้ต่ำสุดแล้ว ข้าวจะขึ้นจะลงตอนนี้ต้องดูที่อินเดียเป็นหลัก
ราคาข้าวเวียดนามก็น่าจะอยู่ในระดับนี้ โดยข้าวขาวเวียดนามจะถูกกว่าข้าวขาวไทยนิดหนึ่ง ใกล้ ๆ 390 เหรียญ/ตัน ข้าวคุณภาพสูงประมาณ 460-470 เหรียญ ขณะที่ข้าวขาวไทยประมาณ 400 นิด ๆ ก็ห่างกันประมาณ 10 เหรียญ เรียกว่าเรายังพอแข่งขันได้ (เวียดนาม ข้าว 5% ราคา 385-390 เหรียญ/ตัน ข้าว 25% ราคา 355-360 เหรียญ/ตัน ปลายข้าว 305-310 เหรียญ/ตัน, ข้าวอินเดีย ข้าว 5% ราคา 390 เหรียญ ข้าว 25% ราคา 375 เหรียญ ข้าวนึ่ง 405-408 เหรียญ ปลายข้าว 320-330 เหรียญ/ตัน และข้าวไทย ข้าว 5% ราคา 402-408 เหรียญ ข้าวนึ่ง 425 เหรียญ ปลายข้าว 345-350 เหรียญ/ตัน)
ยังมีสิ่งที่น่ากังวลอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ปีนี้ฝนดี น้ำดี เพราะเป็นปี “ลานีญา” ดังนั้นเมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้วก็จะปลูกข้าวต่อในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ซึ่งผลผลิตครอปย่อยนี้จะออกสู่ตลาดอีกครั้งในระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เรียกว่าครอปย่อยที่แทรกเข้ามา ซึ่งในขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ดังนั้นจะต้องมีการรับมือผลผลิตข้าวในส่วนนี้ด้วย