“ชนินทร์” ระดมสมองรัฐ-เอกชน ดันอุตสาหกรรมประมงไทย เทียบมาตรฐานสากล

“ชนินทร์” ปธ.คณะกรรมการธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ร่วมระดมสมองกับพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชน แก้ปัญหาอุตสาหกรรมประมง-อาหารทะเลไทย สร้างบรรทัดฐานเทียบมาตรฐานแรงงานสากล หวังปี 2568 ส่งออกโต เทียบปี 2567 ส่งออกรวม 8,074.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ กรรมการนายทะเบียน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยภายหลังการจัดงานการประชุมเสวนาทางวิชาการ “ความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชน แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลของไทย” เพื่อระดมความเห็นและข้อห่วงกังวลต่อการดำเนินการด้านแรงงาน

จากมุมมองของภาครัฐ ผู้แทนสหภาพยุโรป (EU) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) นักวิชาการแรงงานข้ามชาติ รวมไปถึงเป็นพื้นที่สำหรับภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องได้ร่วมระบุปัญหาที่แท้จริงและแนวทางแก้ไขร่วมกัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า

หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนโดยกลุ่มผู้ประกอบการ สมาคมอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลของไทย ได้มีการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะการคุ้มครองแรงงานและด้านสิทธิมนุษยชน แต่ยังคงพบประเด็นที่ผู้ซื้อและองค์กรระหว่างประเทศให้ความสนใจ เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารทะเลและอาหารสัตว์เลี้ยงระดับแนวหน้าของโลก

โดยในปี 2567 มีมูลค่าส่งออกรวม 285,033.38 ล้านบาท หรือ 8,074.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประมาณ (ข้อมูลการส่งออกปี 2567: สินค้าอาหารทะเล แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป มีมูลค่า 190,274.06 ล้านบาท หรือ 5,390.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.7% และสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขและแมว 94,759.32 ล้านบาท หรือ 2,684.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.4% ที่มา: https://tpso.go.th/international-trade)

ADVERTISMENT

อีกทั้ง เมื่อปี 2557 ประเทศไทยเคยถูกจัดให้อยู่ใน Tier 3 ซึ่งเป็นอันดับต่ำสุดตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report: TIP Report) ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา การถูกจัดให้อยู่ใน Tier 3 ส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมากต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงความสัมพันธ์ทางการค้ากับนานาชาติ

และในปี 2558 ประเทศไทยได้รับใบเหลือง IUU (Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing) จากสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการเตือนว่า ประเทศไทยมีปัญหาในการควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดระบบการตรวจสอบที่เข้มงวด และไม่ได้ดำเนินมาตรการที่เพียงพอในการป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

ADVERTISMENT

แต่ต่อมาในปี 2562 ประเทศไทยได้รับการปลดใบเหลือง IUU และตั้งแต่ปี 2565 ได้รับการปรับสถานะเป็น Tier 2 โดยภาครัฐได้มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 เพื่อส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืน,

การให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง และออกกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 เพื่อปกป้องสิทธิแรงงานในภาคประมง, พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2562 โดยเพิ่มบทลงโทษความผิดฐานบังคับใช้แรงงาน

อีกทั้งกระทรวงแรงงานโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยมีสมาคมที่เกี่ยวข้องเป็นอุตสาหกรรมนำร่อง ขับเคลื่อนนำหลักการแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี GLP Good Labour Practice มาใช้ในสถานประกอบการ

ปัจจุบันมีสถานประกอบการเข้าร่วมแล้วถึง 29,688 แห่ง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตลูกจ้าง 2,241,582 คน โดยความร่วมมือนี้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในกิจการสินค้าดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และมีเป้าหมายปลดรายการสินค้าต่างๆ ของไทยออกจาก TVPRA List (Trafficking Victims Protection Reauthorization Act) ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานการปฏิบัติต่อแรงงานที่เทียบได้กับมาตรฐานแรงงานสากล

อย่างไรก็ตาม การค้าระหว่างประเทศยังคงมีความท้าทายในประเด็นสิทธิมนุษยชน และความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน โดยล่าสุดในปี 2567 กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกายังคง ระบุว่า สินค้ากุ้งและปลาของไทยมีความเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานบังคับ และได้เพิ่มสินค้าปลาป่น น้ำมันปลา และอาหารสัตว์ เข้าไปในบัญชีสินค้าปลายน้ำที่มีความเสี่ยงต่อการใช้แรงงานบังคับด้วย

ในขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปได้ออกข้อกำหนด Directive on Corporate Sustainability Due Diligence (CSDDD) ซึ่งภาคธุรกิจต้องดำเนินการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนและความยั่งยืนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดยประเทศไทย ควรมีการประเมินผลกระทบของข้อกำหนด CSDDD ต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทย เพื่อวางแผนและเตรียมการรับมืออย่างเหมาะสม รวมถึงสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถพัฒนาแนวทางการให้สามารถนำมาปฏิบัติและตรวจสอบได้

เวทีเสวนาทางวิชาการครั้งนี้ จึงได้ให้ความสำคัญกับสภาวะแห่งความซับซ้อนจากการเชื่อมโยงและลักษณะทับซ้อนกันหลากหลายมิติ ได้แก่ ความขัดแย้ง (Conflict), อาชญากรรม (Crime), การดูแล (Care), การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate) ภาวะได้เชื่อมโยงสู่ภาคธุรกิจ (Corporate), ภาคการสร้างสรรค์ (Creativity) และภาคการสื่อสารออนไลน์ (Cyber) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (7Cs) ที่ดำรงอยู่ในสังคมปัจจุบัน

ทั้งนี้ยังได้มุ่งเน้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลของไทย โดยหารือถึงความสำเร็จที่ปรากฏ ความท้าทายที่ยังคงต้องเผชิญ และแนวโน้มอนาคต เพื่อบูรณาการความร่วมมืออันจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน ซึ่งจะเป็นความสำเร็จร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรนายจ้าง และองค์กรลูกจ้าง

สำหรับพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมงาน ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย ร่วมกับศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย – ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการย้ายถิ่นและการพัฒนา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย