ท่องเที่ยวฟื้น-นโยบายตรึงดีเซลหนุนยอดใช้น้ำมัน ม.ค. 68 วันละ 157.56 ล้านลิตร

oil

การฟื้นตัวภาคท่องเที่ยว-นโยบายตรึงราคาดีเซล หนุนยอดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ม.ค. 68 เฉลี่ยวันละ 157.56 ล้านลิตร เพิ่ม 2.8% ด้านดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น 0.4% กลุ่มเบนซินลดลง 3.0%

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ 157.56 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและบริการ

รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการเพิ่มขึ้น 0.4% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 21% และการใช้ LPGเพิ่มขึ้น 2.9% ขณะที่กลุ่มเบนซินลดลง 3.0% การใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 3.7% และ NGV ลดลง 15.3%

รายละเอียดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดในเดือนมกราคม 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีดังนี้

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.25 ล้านลิตร/วัน ลดลง 3.0% ประกอบด้วยการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลงมาอยู่ที่ 6.68 ล้านลิตร/วัน แก๊สโซฮอล์ อี20 ลดลงมาอยู่ที่ 5.05 ล้านลิตร/วัน เบนซินลดลงมาอยู่ที่ 0.38 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลงมาอยู่ที่ 0.06 ล้านลิตร/วัน ขณะที่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.71 ล้านลิตร/วัน

ADVERTISMENT

จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคเลือกใช้แก๊สโซฮอล์ 95 มากที่สุด โดยสาเหตุมาจากปัจจัยด้านประสิทธิภาพของเครื่องยนต์และราคา ซึ่งราคาแก๊สโซฮอล์ 95 สูงกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 0.37 บาท/ลิตร ในเดือนมกราคม 2568 แต่ในช่วงเดียวกันของปีก่อนราคาแก๊สโซฮอล์ 95 สูงกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 1.76 บาท/ลิตร จึงทำให้ประชาชนเลือกใช้แก๊สโซฮอล์ 95 มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเริ่มเห็นสัญญาณของการชะลอตัวลงโดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ การขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า (BEV HEV และ PHEV) มีสัดส่วนร้อยละ 5.67 ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ไม่เกิน 7 คน 1 รวมถึงการใช้งานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีการขยายตัวของผู้โดยสารอย่างต่อเนื่องคิดเป็น 15.262% เทียบกับปีก่อน

ADVERTISMENT

การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการ เฉลี่ยอยู่ที่ 68.16 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 0.4% ประกอบด้วยดีเซลหมุนเร็วธรรมดา เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 68.03 ล้านลิตร/วัน ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า ประกอบกับนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน

ในปัจจุบันกรมธุรกิจพลังงาน ปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลลงเป็น ดีเซลหมุนเร็ว บี5 มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 เนื่องจากราคาผลปาล์มทะลายและน้ำมันปาล์มดิบปรับตัวสูงส่งผลต่อราคาไบโอดีเซล

สำหรับการใช้ดีเซลพื้นฐาน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.85 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ดีเซลหมุนเร็ว บี20 ลดลงมาอยู่ที่ 0.132 ล้านลิตร/วัน ทั้งนี้ ภาพรวมปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลอยู่ที่ 70.01 ล้านลิตร/วัน

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 19.81 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 21% มีปัจจัยมาจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยวและการบริการผ่านมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ

โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่าจากสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1-31 มกราคม 2568 มีจำนวนสะสม 3.709 ล้านคน เพิ่มขึ้น 22.2% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว รวมถึงการขยายตัวของการขนส่งสินค้าทางอากาศ ส่งผลให้ปริมาณการใช้ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน

การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 16.66 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้น 2.9% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทุกรายสาขา ประกอบด้วยการใช้ในภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.17 ล้าน กก./วัน ภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.10 ล้าน กก./วัน ภาคขนส่ง เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.306 ล้าน กก./วัน จากการขยายตัวของกลุ่มรถแท็กซี่เป็นสำคัญ และภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.09 ล้าน กก./วัน

การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 2.47 ล้าน กก./วัน ลดลง 15.3% โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับจำนวนรถจดทะเบียน NGV สะสม และจำนวนสถานีบริการ NGV ที่มีแนวโน้มปิดตัวลง ทั้งนี้ ปตท. ยังคงช่วยเหลือโดยตรึงราคาให้กับกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะที่ถือบัตรสิทธิประโยชน์ ปัจจุบันดำเนินการอยู่ในระยะที่ 2 (1 ก.ค. 2567-31 ธ.ค. 2568)

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เฉลี่ยอยู่ที่ 1,126,251 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 7.6% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 94,549 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 1,095,257 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 11.1% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 92,565 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 30,993 บาร์เรล/วัน ลดลง 49.2% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 1,984 ล้านบาท/เดือน

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เฉลี่ยอยู่ที่ 146,143 บาร์เรล/วัน ลดลง 8.0% เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 13,819 ล้านบาท/เดือน