
“พิชัย” ยกทีมผู้บริหารพาณิชย์หารือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ย้ำจุดยืนขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมรัฐ-เอกชน ชูจุดแข็งสร้างโอกาสการค้าไทย ลุยเจรจา FTA-ดูแลสินค้าเกษตรใกล้ชิด-ปราบสินค้าด้อยคุณภาพ ชี้ไทยหนี้ครัวเรือนสูง เร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข่องเข้าดูแล ด้านเอกชนเผยการค้า-เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากทรัมป์ 2.0 คุมเข้มสินค้าไม่ได้ สร้างความเป็นธรรมทางการค้า
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการนำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ร่วมหารือกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อหารือถึงแนวทางผลักดันการค้าการลงทุนของไทยในปี 2568 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ว่ากระทรวงพาณิชย์นั้นให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมภาครัฐและภาคเอกชน เพราะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ซึ่งผมมีหลักการทำงานแบบพาณิชย์เชิงรุก นโยบายผมคือ 80:20 นั่นคือ 80% เน้นสนับสนุนภาคเอกชนและผู้ประกอบการให้เติบโต ส่วนอีก 20% เน้นการกำกับดูแล ตรวจสอบ เช่น เรื่องสินค้าด้อยคุณภาพ
“การหารือครั้งนี้ ผมพร้อมรับฟังความเห็นและข้อเสนอเพื่อนำไปบูรณาการการทำงาน และที่ผ่านมาการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ สามารถสร้างโอกาสการค้าไทย ทั้งการเดินหน้าเจรจา FTA ไทย-อียู การดูแลสินค้าเกษตร และปราบสินค้าด้อยคุณภาพ”
แต่อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยตอนนี้ถือว่ามาถูกทาง ประเทศไทยเราแย่มาสิบปี จีดีพีโตเฉลี่ยปีละ 1.9% มาสิบปี ซึ่งจีดีพีไทยโตต่ำแบบนี้และการจะแก้ไขถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สามารถทำให้ได้ผลลัพธ์ที่เร็วได้ แต่ขอย้ำว่าทิศทางตอนนี้ถือว่าดีขึ้นมาก
โดยการส่งออกไทยปี 2567 โต 5.4% มูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การส่งออกเดือนมกราคม 2568 สูงถึง 13.6% และคาดการณ์ว่าการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์นี้ก็น่าจะขยายตัวดีในระดับเดียวกัน สอดรับกับที่ประเมินว่าการส่งออกจะเป็นเครื่องจักรสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตในภาพรวม และคาดว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้ 4%
นอกจากนี้ จากภาพการเข้ามาลงทุนของต่างชาติและการตั้งโรงงานผลิตแผงวงจรพิมพ์หรือ PCB ที่จะเริ่มเดินเครื่องและส่งออก ก็จะมีผลทำให้การส่งออกของไทยขยายตัว ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็คาดว่าจะดีขึ้น ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยเพิ่มขึ้นเป็น 39 ล้านคน ซึ่งทั้งหมดล้วนจะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการผลักดัน GDP ของไทยให้มีการเติบโตได้ตามเป้าหมาย
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน ซึ่งมีสัดส่วนที่ 90% ของ GDP และปัญหาหนี้นอกระบบเป็น 10% ของ GDP ดังนั้น ต้องขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ได้ร่วมกับหน่วยต่าง ๆ แก้ปัญหาหนี้ รวมทั้งขอให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน ช่วยกันคิดว่าจะแก้ปัญหาเรื่องหนี้ โดยอยากให้ช่วยพิจารณาเสนอแนะแนวทาง ซึ่งหากสามารถแก้ปัญหาเรื่องหนี้ได้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะโตได้ 5-6%
ดัน FTA สร้างโอกาสการค้าไทย
นายพิชัยกล่าวอีกว่า ขณะนี้นโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์คือ การสร้างโอกาสการค้าไทย ด้วยการเร่งเจรจา FTA และเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ที่ทำสำเร็จไปแล้วคือ FTA ไทย-เอฟต้า และ ไทย-ภูฏาน และอยู่ระหว่างที่จะกำลังเร่งเจรจาต่อมา คือ FTA ไทย-อียู ซึ่งจากการหารือร่วมกับนายมารอส เซฟโควิช (H.E. Mr.Maroš Šefčovič) กรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ก็ตั้งเป้าร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถบรรลุผลการเจรจา FTA ภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2568
ส่วน FTA ฉบับอื่น ๆ ก็จะเร่งเจรจาทั้งไทย-เกาหลีใต้, ไทย-ยูเออี, อาเซียน-แคนาดา เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทั้งหมดนี้ในการขยายตลาด ลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ และดึงดูดนักลงทุน
ส่วนการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อปรับโครงสร้างการส่งออก เช่น AI Data Center และ PCB ซึ่งทยอยเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นในอนาคต, การชูไทยเป็นคลังอาหารของโลกเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งประเทศตะวันออกกลางให้ความสนใจอย่างยิ่ง, การดูแลและผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตร ทั้งข้าว มันสำปะหลัง รวมทั้งการดำเนินนโยบายทลายทุนผูกขาดข้าว เปิดเสรีข้าว
นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายการสร้าง Thailand Brand การันตีคุณภาพสินค้าของผู้ประกอบการรายย่อยของไทย, การปรับโฉม Thai SELECT เทียบชั้นมิชลินสตาร์,การส่งเสริมสินค้า Thailand Next Level เพื่อยกระดับแบรนด์สินค้าไทย, การแก้ปัญหาสินค้า/ธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย
ซึ่งล่าสุดได้มีการตั้งคณะทำงานปราบปรามสินค้าและธุรกิจต่างประเทศผิดกฎหมาย เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า การจดทะเบียนธุรกิจ และธุรกิจนอมินีทั่วประเทศ เพื่อทำให้ความเข้มข้นของการปราบปรามดียิ่งขึ้น ไปจนถึงการเตรียมการรับมือต่อมาตรการทางการค้าของสหรัฐ
เอกชนเสนอคุมเข้มสินค้าไร้คุณภาพ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การหารือร่วมของคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เพื่อผลักดันนโยบายและแก้ไขอุปสรรคด้านการค้า โดยเฉพาะประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย พร้อมสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ หอการค้าไทยได้นำเสนอปัญหาของสมาชิกถึงผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าทุเรียนไปจีน และปัญหาผลกระทบของผู้ประกอบการผลิตน้ำเชื่อมจากทางการจีนระงับการนำเข้าสินค้าจากไทย เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่าสินค้าบางส่วนมีสุขอนามัยไม่ได้เกณฑ์มาตรฐาน เป็นต้น
นอกจากนั้น จากการเปลี่ยนแปลงของนโยบายเศรษฐกิจการค้าของสหรัฐกับทั่วโลก ทำให้หลายประเทศต้องหันมาพึ่งพาตลาดใหม่โดยเฉพาะอาเซียนและไทยมากขึ้น หอการค้าจึงได้เสนอให้รัฐบาลดำเนินมาตรการควบคุมและกวดขันการนำเข้าสินค้าอย่างเข้มงวด ซึ่งเคยได้เสนอไว้แล้วก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่อาจไม่ได้คุณภาพ หรือสินค้าที่มีราคาถูกจนส่งผลต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม (Free and Fair Trade) ภาครัฐควรมีการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้าอย่างละเอียดก่อนอนุญาตให้เข้าสู่ตลาดไทย
โดยกำหนดให้สินค้าบางประเภทต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อป้องกันการปลอมแปลงหรือหลบเลี่ยงภาษี ในส่วนของสินค้าที่ทะลักเข้ามาแล้วรัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการกวดขันเรื่องการลักลอบนำเข้าสินค้าโดยไม่เสียภาษี การตรวจสอบการใช้ราคาต่ำผิดปกติเพื่อทำลายการแข่งขัน รวมถึงการป้องกันการทุ่มตลาด (Dumping) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจภายในประเทศอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ ควรพิจารณาการออกกฎหมายหรือมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยอาจกำหนดมาตรการปกป้องธุรกิจภายในประเทศจากการทุ่มตลาดของสินค้าต่างชาติ และทบทวนกฎหมายด้านการแข่งขันทางการค้าให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
พิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการคนที่ 1 กล่าวว่า หอการค้าไทยยังได้เสนอแนวทางสำคัญในการส่งเสริมการค้าและลดอุปสรรคทางการค้า อาทิ การพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ เพื่อลดแรงกดดันด้านดุลการค้า การกำหนดมาตรการป้องกันสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ ด้วยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน การเร่งเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป เพื่อขยายตลาดส่งออก การแก้ปัญหาการส่งออกสินค้าไปยังรัสเซีย

โดยเฉพาะสินค้าประมงและอาหารสัตว์เลี้ยง การขยายตลาดไปยังตะวันออกกลางและแอฟริกา โดยเน้นเศรษฐกิจฮาลาลและโครงสร้างพื้นฐาน การกระชับความร่วมมือไทย-เวียดนาม โดยผลักดันให้ความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership)
ทั้งนี้ ในปี 2568 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 50 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีน หอการค้าไทยจึงร่วมกับหอการค้าไทย-จีน และสมาคมวิสาหกิจจีนในประเทศไทย จัดงาน Thailand-China Cooperation Expo 2025 ระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2568 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
โดยภายในงานจะมีนิทรรศการแสดงสินค้า ครอบคลุมอุตสาหกรรมอาหารและซัพพลายเชน งาน Job Fair และ Education Fair รวมถึงสัมมนาเชิงลึกด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และงานกาลาดินเนอร์เชื่อมความสัมพันธ์ภาคธุรกิจไทย-จีน
“เรามุ่งหวังว่างานนี้จะเป็นเวทีสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน และปูทางสู่ปีที่ 51 ของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน”