เทคโนโลยีไฮโดรเจน-CCUS ปตท.ดันเกิดในอีก 10 ปีสู่เป้า Net Zero

ปตท. ดูงาน Takasago Hydrogen Park

สถานการณ์โลกปัจจุบันมีความท้าทาย ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่เทรนด์การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด มีผลต่อภารกิจความมั่นคงทางพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ จึงเร่งสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศพร้อม ๆ กับการบริหารต้นทุนที่เหมาะสม

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ปตท.ได้นำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูพลังงานแห่งความยั่งยืน ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาดูงาน Takasago Hydrogen Park ศูนย์ทดสอบเทคโนโลยีไฮโดรเจนครบวงจรแห่งแรกของโลก และ Katsura Researh Center ศูนย์วิจัยและพัฒนาทางเคมี

ลุยไฮโดรเจน-CCUS

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ได้วางโครงสร้างในระยะยาว เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ผ่านแผนระยะยาว ซึ่งเน้นการลงทุนที่ลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ผ่านการลงทุนเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage) หรือ CCUS

โดย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มีการศึกษาทำแหล่งแซนด์บอกซ์ในแหล่งอาทิตย์ 1 ล้านตัน ส่วนไฮโดรเจนนั้นเป็นการใช้ไฮโดรเจนแทนเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า โรงกลั่น ซึ่งประเทศไทยนำเข้าพลังงานเกือบทั้งหมด ดังนั้น ไฮโดรเจนในช่วงแรกต้องผ่านกระบวนการแยกน้ำ ซึ่งใช้ต้นทุนประมาณค่อนข้างสูง จึงลงทุนในต่างประเทศที่สามารถแยกไฮโดรเจนจากน้ำและมีต้นทุนถูก เช่น ตะวันออกกลาง อินเดีย

“การลงทุนทั้ง 2 เรื่องยังต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐโดยเฉพาะด้านกฎหมาย การกักเก็บคาร์บอน การกำหนดไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง หาก ปตท.ลงทุน มั่นใจจะดึงดูดการลงทุนใหม่จากเอกชนที่ต้องการพลังงานสะอาด” ดร.คงกระพันกล่าว

เริ่ม CCUS ภายในปี 2035

ด้าน นายรัฐกร กัมปนาทแสนยากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ความยั่งยืนองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับ CCUS เป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยไปสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) และลดการปล่อยคาร์บอน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 10 ล้านตันต่อปี จะออกมาเป็นรูปธรรมภายในปี 2035

ADVERTISMENT

ส่วนโครงการไฮโดรเจนนั้น ในระยะแรก ปตท.จะนำเข้าไฮโดรเจนมาผสมกับเชื้อเพลิงตามแผน PDP 2024 ที่กำหนดให้ผสมก๊าซไฮโดรเจนลงไปในก๊าซธรรมชาติในสัดส่วน 5% แต่จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศให้พร้อมสำหรับการนำเข้าหรือผลิตไฮโดรเจนใช้ในประเทศ ตลอดจนส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการเต็มรูปแบบหลังปี 2035 ขึ้นอยู่กับการพัฒนาทางเทคโนโลยี

ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่ม ปตท.ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) เป็นหลัก แต่เมื่อไฮโดรเจนมีราคาต่ำลงหรือเท่ากับก๊าซธรรมชาติ จะมีการใช้ไฮโดรเจนมากขึ้น เพราะไฮโดรเจนมีปฏิกิริยาการเผาไหม้โดยไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งต้นทุนเบื้องต้นต่อหน่วยของไฮโดรเจนเมื่อเทียบกับการใช้ก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ 4-5 เท่าปตท. ดูงาน Takasago Hydrogen Park

ADVERTISMENT

ทดสอบไฮโดรเจนแห่งแรกของโลก

ศูนย์ Takasago Hydrogen Park จังหวัด Hyogo ประเทศญี่ปุ่น เป็นสถานที่สำหรับใช้ทดสอบเทคโนโลยีในการผลิตและการใช้งานไฮโดรเจนแห่งแรกของโลก ก่อตั้งเมื่อปี 2022 ดำเนินการโดย Mitsubishi Heavy Industries, Ltd. (MHI) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศญี่ปุ่น โดยเทคโนโลยีหลักที่ใช้ ประกอบด้วย

1) กระบวนการ Electrolysis เป็นกระบวนการที่ใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อแยกน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน โดยการผลิตไฮโดรเจนด้วยกระบวนการ Electrolysis ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ทำให้กระบวนการผลิตมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ หรือไม่มีเลย 2) กระบวนการ Pyrolysis ที่เกิดจากการเผาไหม้มีเทน โดยทำให้มีเทนแตกตัวออกเป็นไฮโดรเจน และคาร์บอนในสถานะของแข็ง โดยไม่ปล่อยคาร์บอนเข้าไปในชั้นบรรยากาศ

3) กระบวนการ Solid Oxide Electrolysis Cells (SOEC) ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของ MHI เป็นเทคโนโลยีในการผลิตไฮโดรเจนโดยการใช้ไฟฟ้าแยกน้ำ เป็นไฮโดรเจนและออกซิเจนผ่านทางกระบวนการ Electrolysis และใช้ความร้อน อุณหภูมิประมาณ 700-1,000 องศาเซลเซียส สำหรับไฮโดรเจนที่ผลิตได้จะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen Fuel Cell Vehicles-FCVs), ใช้ไฮโดรเจนเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมี ในการผลิตสารเคมี เช่น แอมโมเนีย (NH3)

ทั้งนี้ ศูนย์ดังกล่าวตั้งเป้าที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาหรับการผลิตและการจัดการไฮโดรเจนในระยะยาว เช่น สถานีเติมไฮโดรเจนเพื่อรองรับการเติบโตของยานพาหนะที่ใช้เซลล์ไฮโดรเจน Takasago Hydrogen Park นำไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและความยั่งยืน ตามเป้าหมาย Net Zero ของ MHI ในปี 2040

หนุนร่วมมือทางเคมี Sanyo-GC

ห้องปฏิบัติการ Katsura Research Laboratory ดำเนินการโดย Sanyo Chemical Industries-SCI ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงในด้านการผลิตเคมีภัณฑ์ในประเทศญี่ปุ่น มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับตลาดในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น พลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอางและเวชภัณฑ์ สารเพิ่มประสิทธิภาพในน้ำมันหล่อลื่น วัสดุพิเศษ ฯลฯ โดยผลิตภัณฑ์ทางเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environmentally Friendly Product) ของ Sanyo Chemical ประกอบด้วย 1) ACLUBE ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดความหนืดของน้ำมันหล่อลื่น เช่น ใช้ในน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์

2) Electrolyte Solution for Aluminium Electrolytic Capacitors หรือ SANELEK เป็นอิเล็กโทรไลต์ที่มีประสิทธิภาพสูง และใช้งานได้ยาวนาน 3) Chemitylen มีความแข็งแกร่งและน้ำหนักเบา ทนทานต่อสารเคมีและความร้อน 4) MOC-TEX ใช้วัสดุที่ทำจากพืชหรือไม้มากกว่า 80% ทั้งนี้ Sanyo มีเป้าหมายในการบรรลุ Net Zero ในปี 2030 เพื่อลดคาร์บอนให้ได้ 50%

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันญี่ปุ่นยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอน แต่หากมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่สามารถลดคาร์บอนได้ก็จะมีเงินสนับสนุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

ทั้งนี้ ปตท.ระบุว่า จะมีการหารือกับ Sanyo Chemical ในการร่วมมือเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน Sanyo Chemical ยังระบุว่า ในอนาคตอาจจะมีความร่วมมือกับทางบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC อีกด้วย

ให้ GPSC ศึกษาโรงไฟฟ้า SMR

ขณะเดียวกัน ปตท.ได้ศึกษาแนวทางลดคาร์บอนในหลากหลายวิธี เช่น เทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ซึ่งหากเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถทำได้ก็จะมีผลให้ ปตท.มีการลดบทบาทในแนวทางอื่น แต่ก็ต้องพิจารณาความเหมาะสมด้วย ทั้งนี้ การใช้พลังงานยังคงเพิ่มขึ้นตามการพัฒนาของประเทศ แต่จำเป็นต้องมีต้นทุนราคาที่เหมาะสม

ดังนั้น จึงมองว่าก๊าซธรรมชาติยังมีความจำเป็นเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศควบคู่กับการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ปัจจุบัน ปตท.กำลังศึกษาผ่านบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งดำเนินการเรื่องพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก แต่ยังไม่ได้มีแผนในการลงทุนออกมา