
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยธุรกิจตั้งใหม่เดือน ก.พ. 2568 มี 7,529 ราย หดตัว 7.14% ต่อเนื่อง และ 2 เดือนแรก 16,391 ราย ชะลอตัวลงเล็กน้อย เหตุจากเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ แต่ภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่กรมคาดการณ์ไว้ โดยสัดส่วนการจัดตั้งธุรกิจใหม่กับจดเลิกกิจการอยู่ที่ 7:1 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีกว่าเมื่อเทียบ 5 ปีย้อนหลัง (2563-2567) ซึ่งอยู่ที่ 4:1
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 พบว่ามีธุรกิจจัดตั้งใหม่ 7,529 ราย ลดลง 579 ราย (-7.14%) เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 (8,108 ราย) และทุนจดทะเบียนรวม 16,335 ล้านบาท ลดลง 4,027 ล้านบาท (-19.78%) เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 (20,361 ล้านบาท)

โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 628 ราย มูลค่า ทุน 1,340 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 473 ราย ทุน 2,117 ล้านบาท 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 339 ราย ทุน 610 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.34%, 6.28% และ 4.50% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในเดือนกุมภาพันธ์ตามลำดับ
ทั้งนี้ การจัดตั้งธุรกิจใหม่สะสม 2 เดือนของปี 2568 (มกราคม-กุมภาพันธ์) มีจำนวน 16,391 ราย ลดลง 879 ราย (-5.09%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 (17,270 ราย) ทุนจดทะเบียน 41,285 ล้านบาท ลดลง 4,509 ล้านบาท (-9.85%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 (45,794 ล้านบาท)
ด้านธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 1,319 ราย ทุน 2,762 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,085 ราย ทุน 4,156 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 675 ราย ทุน 1,341 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.05%, 6.62% และ 4.12% จากจำนวนการจดจัดตั้งธุรกิจเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2568 ตามลำดับ
สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการจัดตั้งธุรกิจใหม่ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาคธุรกิจในช่วงเวลานี้ต้องเผชิญกับสถานการณ์และแรงกระทบต่าง ๆ จากภายในและภายนอกประเทศ ทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาตร์ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายด้านการค้าและภาษีของประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ผนวกกับปัญหาค่าครองชีพ และสถานการณ์ที่ผู้บริโภคต้องระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย ล้วนส่งผลให้ภาคธุรกิจชะลอการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงการจดทะเบียนธุรกิจต่าง ๆ
แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกและเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตลอดจนคาดว่าจากสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและของโลกที่มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนหลัก ทั้งจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนของภาครัฐ การกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการ Easy E-Receipt การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว น่าจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ยอดการจดทะเบียนธุรกิจทั้งปี 2568 เติบโตได้ตามเป้าหมายที่กรมตั้งไว้ (90,000-95,000 ราย)
จดทะเบียนเลิก
การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีจำนวน 787 ราย เพิ่มขึ้น 81 ราย (11.47%) เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 (706 ราย) และมีทุนจดทะเบียนเลิก 2,417 ล้านบาท ลดลง 730 ล้านบาท (-23.19%) เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 (3,146 ล้านบาท)
สำหรับประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 76 ราย ทุน 112 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 35 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 131 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 34 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 96 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.66%, 4.45% และ 4.32% จากจำนวนการเลิกประกอบธุรกิจในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ตามลำดับ
การจดทะเบียนเลิกสะสม 2 เดือนของปี 2568 (มกราคม-กุมภาพันธ์) มีจำนวน 2,218 ราย เพิ่มขึ้น 320 ราย (16.86%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 (1,898 ราย) ทุนจดทะเบียนเลิกสะสมอยู่ที่ 7,017 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 656 ล้านบาท (10.31%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 (6,361 ล้านบาท)
โดยธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 227 ราย ทุน 375 ล้านบาท 2) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 92 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 274 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 87 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 289 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10.23%, 4.15% และ 3.92% จากจำนวนการจดเลิกธุรกิจเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2568 ตามลำดับ
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568) มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,981,221 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 30.61 ล้านล้านบาท โดยมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ 935,839 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22.39 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็นบริษัทจำกัด 737,891 ราย หรือ 78.85% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 16.36 ล้านล้านบาท
ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 196,465 ราย หรือ 20.99% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 0.43 ล้านล้านบาท และบริษัทมหาชนจำกัด 1,483 ราย หรือ 0.16% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 5.60 ล้านล้านบาท
สำหรับนิติบุคคลในกลุ่มธุรกิจบริการเป็นประเภทธุรกิจที่มีสัดส่วนการจดทะเบียนมากที่สุดมีจำนวน 505,501 ราย ทุนจดทะเบียน 13 ล้านล้านบาท รองลงมาคือกลุ่มธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีก 306,896 ราย ทุน 2.54 ล้านล้านบาท และธุรกิจผลิต 123,442 ราย ทุน 6.84 ล้านล้านบาท คิดเป็น 54.02%, 32.79% และ 13.19% ของจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี แม้ตัวเลขการจดทะเบียนนิติบุคคลในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 และช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาดูจะชะลอตัวเพื่อรอดูสถานการณ์และความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลก แต่หากวิเคราะห์ในเชิงลึกจะเห็นว่าอัตราการจัดตั้งธุรกิจต่อการจดเลิกในปี 2568 อยู่ที่ 7:1 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีกว่า 5 ปีย้อนหลัง (2563-2567) ที่มีสัดส่วน 4:1 หรือตั้ง 4 ราย เลิก 1 ราย