วืดประมูลข้าวปินส์-อินโดไม่สะเทือนยอดธนสรรไรซ์

ธนสรรไรซ์วืดประมูลข้าวปินส์-อินโดฯ แต่ยอดส่งออกยังไม่แผ่ว 4 เดือนแตะ 3 แสนตัน มั่นใจทั้งปีཹ ได้ทะลุ 1 ล้านตัน หันโกยตลาดในประเทศดันยอดพุ่ง 30% งัดกลยุทธ์ดึงเชฟกระทะเหล็กไลฟ์สดสาธิตการทำอาหาร

นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด และบริษัท พรีเมียม ไรซ์ เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าจะมีปริมาณ 4-5 แสนตัน ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยจนถึงขณะนี้ยอดส่งออก 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) สามารถส่งออกได้ 2.93 แสนตัน จึงมั่นใจว่ายอดส่งออกทั้งปี 2561 จะมีปริมาณ 1 ล้านตัน

“การส่งออกข้าวนึ่งและข้าวหอมมะลิ ในช่วงครึ่งปีแรกชะลอตัวลดลง เป็นผลมาจากตลาดแอฟริกาซึ่งเป็นตลาดข้าวนึ่งไม่ค่อยดี และราคาข้าวของไทยปรับสูงขึ้นมากเกินตันละ 1,250 เหรียญสหรัฐ ทำให้ราคาสูงกว่าคู่แข่ง และผู้ส่งออกรายใหม่ ๆ เกิดมามากขึ้น”

ส่วนกรณีที่ทางกลุ่มธนสรรฯไม่สามารถชนะการประมูลนำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียรอบที่ผ่านมาได้นั้น นายศุภชัยกล่าวว่า เป็นผลจากการแข่งขันในตลาดสูงขึ้น และประเทศผู้นำเข้าบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ก็มีการกำหนดเงื่อนไขพิเศษที่จะเชิญเฉพาะผู้ส่งออกบางรายเข้าร่วมประมูล ทำให้บริษัทไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ จึงส่งผลให้ตลาดในส่วนนี้ชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม ตั้งข้อสังเกตว่า ราคาข้าวที่ประมูลขายให้กับฟิลิปปินส์ไปถือว่าต่ำที่สุดในโลกตอนนั้น ไม่ใช่เฉพาะต่ำกว่าเวียดนาม ยกตัวอย่างเช่น ราคาที่ธนสรรไรซ์เสนอขายไปตันละ 395 เหรียญสหรัฐ รายอื่นเสนอเฉลี่ยตันละ 385-390 เหรียญสหรัฐ และเวียดนามตันละ 400 เหรียญสหรัฐ เปรียบเสมือนว่าผู้ส่งออกไทยแข่งขันกันเอง เป็นต้น

สำหรับทิศทางตลาดข้าวครึ่งปีหลัง 2561 คาดว่าจะส่งออกได้ 6-7 แสนตัน เพราะยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งอินโดนีเซียก็ยังมีแนวโน้มที่จะประมูลนำเข้าอีก ส่วนตลาดฟิลิปปินส์ก็จะมีการประมูลนำเข้าข้าวขาวอีก 250,000 ตัน แต่อาจจะล่าช้าจากเดิมที่จะเปิดประมูลเดือนนี้ไปเดือนกรกฎาคม เพราะขณะนี้ท่าเรือมีปัญหาในเรื่องการส่งมอบข้าว 2 ลอตแรกที่ฟิลิปปินส์ประมูลไป ทั้งข้าวในส่วนที่ประมูลแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) และในส่วนของรัฐบาลกับเอกชน (G to P) จึงทำให้กำหนดส่งมอบล่าช้า

“ราคาข้าวหอมมะลิไทยทะลุตันละ 1,300-1,400 เหรียญสหรัฐไปแล้ว ขณะที่ราคาข้าวหอมมะลิเวียดนามและกัมพูชาอยู่ที่ตันละ 700-800 เหรียญสหรัฐ ทำให้ตลาดข้าวหอมมะลิไทยหายไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจีนและฮ่องกง ซึ่งน่าเป็นห่วงในส่วนของภาพรวมการส่งออก ทางเราจึงเห็นด้วยในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวขาวพื้นอ่อน (พื้นนิ่ม) เช่น กข 21 ซึ่งมีผลผลิตต่อไร่สูงและมีความนุ่ม สามารถแข่งขันกับกลุ่มข้าวหอมมะลิเวียดนามได้ โดยปัจจุบันราคาส่งออกข้าวขาวพื้นอ่อนอยู่ที่ตันละ 500 เหรียญสหรัฐ ส่วนข้าวขาวพื้นแข็งอยู่ที่ 400 เหรียญสหรัฐ”

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ยอดการจำหน่ายข้าวถุงในประเทศปรับตัวสูงขึ้นมากนับจากบริษัทได้เปิดตัวข้าวถุงแบรนด์พรีเมี่ยม และแบรนด์จัสมิน เมื่อประมาณ 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจนถึงขณะนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น คาดว่าปีนี้จะสามารถเพิ่มยอดได้ถึง 30% จากปีก่อน โดยปัจจุบันข้าวถุงในประเทศคิดเป็นรายได้สัดส่วน 10% ของภาพรวมทั้งหมด

“ปีนี้รายได้ในส่วนของข้าวถุงเติบโตมากอาจจะถึง 30% เพราะเน้นการใช้ข้าวที่มีคุณภาพดี และด้วยความพร้อมทางด้านการผลิตครบวงจรซึ่งธนสรรฯมีความได้เปรียบ ตลาดส่วนใหญ่เป็นการกระจายลงไปยังภาคใต้ โดยผ่านร้านค้าปลีกท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็งและมีสาขาจำนวนมาก เช่น ซุปเปอร์ชิพใน จ.ภูเก็ตซึ่งมีกว่า 70 สาขา นอกจากนี้ยังมีกระจายไปยังจังหวัดกระบี่ นครศรีธรรมราช และกรุงเทพฯบางส่วน ผ่านไปทางตลาดไท แม็กไรซ์ เป็นต้น ที่ใช้วิธีการขายผ่านร้านค้าปลีก แทนโมเดิร์นเทรดซึ่งมีค่าธรรมเนียมจำหน่ายสูง 20-30%”

โดยในปีนี้บริษัทมีแผนทำการตลาดผ่านช่องทางสื่อใหม่ โดยเฉพาะเฟซบุ๊กไลฟ์ ซึ่งเบื้องต้นจะมีการจัดกิจกรรมนำเชฟกระทะเหล็กมาสาธิตการทำเมนูอาหารโดยใช้ข้าวจากบริษัทเป็นวัตถุดิบ เป็นประจำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ระยะเวลา 15-20 นาที พร้อมกันนี้บริษัทยังมีแผนจะจัดบริการดีลิเวอรี่ข้าวถุงในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยไม่จำกัดปริมาณการสั่งซื้ออีกด้วย เพื่อเจาะตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตในห้องพักอาศัยตามย่านสถานศึกษา และเป็นกลุ่มที่นิยมใช้สื่อออนไลน์

นายศุภชัยกล่าวถึงความคืบหน้าในการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตภัณฑ์ขนมอบกรอบจากข้าวว่า ขณะนี้ได้จัดทำตัวอย่างสินค้าเพื่อทดลองตลาดแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน และล่าสุดจากที่ได้มีการลงพื้นที่สำรวจตลาดในช่วงงานแสดงสินค้าอาหารไทยเฟกซ์ที่ผ่านมา พบว่ามีการแข่งขันในธุรกิจนี้ค่อนข้างสูง