ตลาดกลางข้าวสาร ยื้อ 1 ปี

ผ่านมา 1 ปี สำหรับโครงการตั้ง “ตลาดกลางข้าวสารแห่งแรกของประเทศไทย” ที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการยังไม่มีความคืบหน้า แม้ว่าจะได้เอกชนผู้ชนะการประมูลแล้ว 2 ราย คือ ตลาดไท และตลาดต่อยอด แต่การดำเนินการตามกระบวนการก็ดูจะยังไม่มีความคืบหน้า

ย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของไอเดียการก่อสร้างตลาดกลางข้าวสารแห่งแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นจากเมื่อครั้งที่ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายสมพล เกียรติไพบูลย์ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางร่วมคณะ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เยือนประเทศจีนในช่วงเดือนธันวาคม 2559 เยี่ยมชมตลาดกลางข้าวสารในประเทศจีน นำมาสู่แนวคิดจัดตั้งตลาดกลางข้าวสารในประเทศไทย

ด้วยความที่ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก มีการส่งออกปีละ 9-10 ล้านตัน แต่ไม่เคยมีตลาดกลางข้าวสารมาก่อน มีแต่ตลาดกลางค้าข้าวเปลือก หากมีการจัดตั้งจะช่วยแลกเปลี่ยนข้อมูล และเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายข้าวสารจากระบบปกติ มอบให้กรมการค้าภายในจัดทำหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ประกอบการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 และเปิดให้ผู้สนใจเข้าสมัครตั้งแต่ 12 กรกฎาคม 2560

เอกชนลงทุน 100%

ความน่าสนใจของโครงการนี้คือ ตลาดแห่งนี้กำหนดให้เอกชนลงทุนเองทั้งหมด 100% ทั้งสถานที่และระบบ โดยกำหนดให้มีรูปแบบการจำหน่ายทั้งผ่านออนไลน์และค้าปกติ โดยเอกชนจะต้องมี “ประสบการณ์” ในการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการจัดการบริหารตลาดสินค้าเกษตร ส่วนภาครัฐจะเป็น “ตัวกลาง” เชื่อมโยงผู้ผลิต-ผู้ซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามา และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ โดยงบประมาณดำเนินโครงการประมาณ 10 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม พบว่ามีผู้สนใจสมัครเพียง 3 ราย คือ 1) กลุ่มตลาดไท ของบริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มทุนของนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 2) บริษัท บูรณากาญจน์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการท่าข้าวเขาใหญ่ จ.สุพรรณบุรี และ 3) กลุ่มตลาดตะวันนา/ตลาดต่อยอด ของบริษัท ตะวันนา ไนท์บาซาร์ กลุ่มทุนในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้สมัครทั้ง 3 รายได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะทำงาน ซึ่งมีนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน ในขณะนั้นเป็นประธาน รอบแรกเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ซึ่งตามกำหนดจะต้องประกาศผลการคัดเลือกบนเว็บไซต์ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 แต่ก็เลื่อนมาอีกหลายครั้ง กระทั่งคณะทำงานมีข้อสรุปว่าให้ผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรก 2 ราย คือ ตลาดไท และตลาดตะวันนา/ตลาดต่อยอด กลับมาเจรจาต่อรองในรอบ 2 ในเดือนกันยายน 2560 แต่ก่อนถึงวันนัด กรมการค้าภายในได้แจ้งเลื่อนอีก และยกเลิกอีก ทั้งยังมีกระแสข่าวว่า ไม่มีงบประมาณในการดำเนินการแล้วอาจจะต้อง “ยกเลิก” โครงการ

จนแล้วจนรอดผ่านมาตั้งแต่กรกฎาคม จนถึงพฤศจิกายน 2560 นางนันทวัลย์ ขยับจากอธิบดีกรมการค้าภายในขึ้นเป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ไปแล้ว และมีนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร มารับหน้าที่อธิบดีกรมการค้าภายในแทน ได้ประกาศให้มีผู้ชนะ 2 ราย คือ ตลาดไท และตลาดตะวันนา/ตลาดต่อยอด โดยให้เหตุผลว่า แต่ละรายมีจุดอ่อนและจุดแข็งแตกต่างกัน โดยรายหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดภายในประเทศ และอีกรายเชี่ยวชาญด้านตลาดต่างประเทศ พร้อมทั้งนัดหมาย “ผู้ชนะ” 2 รายให้มาลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเดินหน้าทำโครงการในเดือนเมษายน 2561 ซึ่งก็เป็นการเลื่อนเป้าหมายโครงการออกมาจากเดิมที่เคยวางไว้ในเดือนมกราคม 2561

แต่สุดท้าย “2 รายที่ชนะ” ไม่มีการลงนาม MOU อีกทั้งยังเกิดการฟ้องเกิดขึ้นอีกด้วย โดยกลุ่มตลาดไท หรือ บริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด ยื่นฟ้องปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 เพื่อขอให้ระงับผลการพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการจัดตั้งตลาดกลางข้าวสารแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พิจารณาให้ตลาดไทเป็นผู้ชนะการคัดเลือกร่วมกับบริษัท ตะวันนา ไนท์บาซาร์ จำกัด ว่า “ผลไม่เป็นตามเงื่อนไข” เช่น ประสบการณ์ในการทำธุรกิจค้าข้าวที่เปรียบเทียบเห็นได้อย่างชัดเจน ระยะห่างของตลาดทั้ง 2 แห่งไม่ต่างกันมาก ซึ่งอาจจะก่อปัญหาต่อธุรกิจในภายหลัง นับจากนั้นมา แม้ว่าจะล่วงเลยเป้าหมายที่วางไว้ในเดือนเมษายน 2561 มาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินโครงการตลาดกลางข้าวสาร ส่วนการฟ้องร้องก็คงต้องเดินหน้าไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย

คำถามคือสังคมได้อะไรจากโครงการนี้ ในมุมของผู้ส่งออกข้าวมองว่าปัจจุบันตลาดค้าข้าวได้ปรับเปลี่ยนไปตามระบบเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ทำให้ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกสามารถสื่อสารกันได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องมี “ตลาดกลางข้าวสาร” และหากจะมีตลาดกลางข้าวสารแบบประเทศจีน ก็จำเป็นต้องมีการวางระบบ “โลจิสติกส์” เข้าไปรองรับการขนส่ง เพื่อกระจายออกไปยังพื้นที่ต่าง ๆ หากไม่มีก็เท่ากับไม่เกิดประโยชน์อะไร ชาวนา สหกรณ์ หรือผู้ค้ารายย่อยที่ขนส่งข้าวไปขายในตลาดกลางก็ยังไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร

ขณะที่ฝ่ายโรงสีมองว่าการมีตลาดกลางข้าวสารถือเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการรายย่อย หรือ “คนตัวเล็ก” ให้ได้พบกับผู้ซื้อโดยตรง โดยตัดขั้นตอนพ่อค้าคนกลางออกไป ซึ่งน่าจะเป็นการช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการค้าข้าว เพื่อเป็นผู้ส่งออกในอนาคต และหากมีตลาดก็ย่อมจะส่งผลดีต่อราคาข้าว นำมาสู่รายได้ของเกษตรกรในอนาคต

ข้อถกเถียงยังไม่มีข้อสรุป ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของโครงการตลาดกลางข้าวสาร กระทรวงพาณิชย์ก็ได้มีโครงการดึงอาลีบาบา ซึ่งเป็นเจ้าตลาดอีคอมเมิร์ซเข้ามาทดลองขายปลีกข้าวสารบรรจุถุงผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ เป็นภาพสะท้อนกลาย ๆ ว่า ตลาดกลางข้าวสารคงไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อไปแล้ว เพราะเทคโนโลยีสมัยนี้ขายข้าวได้ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องมีตลาดกลางข้าวสารแล้ว