
พิชัย รมว.พาณิชย์ พอใจการส่งออกไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2568 โต 14% ขณะที่ 2 เดือนแรก 13.8% มูลค่า 51,984.1 ล้านเหรียญสหรัฐ แนวโน้มการส่งออกครึ่งปีหลังดี ได้รับแรงหนุนจากภาคลงทุน
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขส่งออกไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2568 พบว่ามีมูลค่า 26,707.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้เฉลี่ย 2 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออกขยายตัว 13.8% มูลค่า 51,984.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นบวกต่อเนื่อง 8 เดือน
ทั้งนี้ การส่งออกเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยรัฐบาลตั้งเป้าขยายตัวเศรษฐกิจเกิน 3% และต้องการให้การส่งออกไทยเติบโตอย่างน้อย 3.5% ปัจจุบันการส่งออกขยายตัวถึง 13.8% ซึ่งเป็นสัญญาณบวก และคาดว่าเดือนมีนาคมรวมถึงเดือนถัดไปจะขยายตัวต่อเนื่องจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น
โดยเครื่องยนต์เศรษฐกิจของไทยกำลังไปได้ดีทุกตัว โดยในปีที่แล้วไทยมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงถึง 1.13 ล้านล้านบาท ขณะนี้หลายโรงงานใกล้เสร็จและพร้อมเริ่มการผลิตเพื่อส่งออก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ หรือ PCB และข้อมูลจาก BOI ระบุว่า 2 เดือนแรกของปี 2568 มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การส่งออก 2 เดือนแรกโต 13.8% การลงทุนขยายตัวสูงกว่าปีก่อน
การท่องเที่ยวปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยว 36 ล้านคน ปีนี้คาดว่าแตะ 39-40 ล้านคน ถึงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ปัญหาหนี้ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ จึงสนับสนุนแนวคิดการแก้หนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และอาจขยายตัวถึง 5-6%
ทั้งนี้ ตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศ การส่งออกไทยเติบโตต่อเนื่อง โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 11.8% โดยเดือนตุลาคม 2567 ขยายตัว 14.6% เดือนพฤศจิกายน 2567 ขยายตัว 8.2% เดือนธันวาคม 2567 ขยายตัว 8.7% เดือนมกราคม 2568 ขยายตัว 13.6% และเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ขยายตัว 14%
ซึ่งการส่งออกไทยกำลังฟื้นตัวจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ไทยเป็นประเทศเล็กและเปิด จำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออก ในอดีตตัวเลขไม่ดีเพราะการลงทุนหดตัว แต่ขณะนี้การลงทุนเพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกขยายตัว
นายพิชัยกล่าวว่า การนำเข้าของไทยในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมากกว่าการส่งออก เนื่องจากเป็นการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าขั้นกลาง เพื่อนำมาผลิตเพื่อส่งออกและขยายการผลิตในอนาคต ซึ่งเป็นสัญญาณบวกในเชิงเศรษฐศาสตร์ หากเราสามารถแก้ปัญหาหนี้ของประชาชนและภาคธุรกิจได้สำเร็จ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวเกิน 5% และเดินหน้าเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว
ด้านนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีมูลค่า 26,707.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.0% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 24,718.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.0% ทำให้ดุลการค้าของไทยเกินดุล 1,988.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่ภาพรวมการส่งออก 2 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออกมีมูลค่า 51,984.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.8% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้ามีมูลค่า 51,876.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.0% ทำให้ ดุลการค้าของไทยเกินดุล 108.0 ล้านเหรียญสหรัฐ
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 3.9% (YOY) ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน โดยสินค้าเกษตรหดตัว 1.6% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 9.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ขยายตัว 35.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และเวียดนาม) น้ำตาลทรายขยายตัว 25.8% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว จีน และมาเลเซีย)
ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัว 9.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และไอร์แลนด์) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ขยายตัว 27.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐ เมียนมา กัมพูชา และออสเตรเลีย) อาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัว 14.4% ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น อิตาลี เวียดนาม และสหราชอาณาจักร) และผลไม้กระป๋องและแปรรูปขยายตัว 22.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ จีน เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และแคนาดา)
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัว 34.3% หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ แอฟริกาใต้ โกตดิวัวร์ แองโกลา และเซเนกัล แต่ขยายตัวในตลาดอิรัก จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และแคนาดา) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 15.8% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐ มาเลเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม และลาว) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัว 3.7% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน เกาหลีใต้ สหรัฐ เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร
แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฮ่องกง และอินเดีย) และเนื้อสัตว์และของปรุงแต่งที่ทำจากเนื้อสัตว์หดตัว 6.7% หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ ลาว และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวในตลาดกัมพูชา เมียนมา ฮ่องกง เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์) ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 2.1%
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 17.2% (YOY) ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 4.5% กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ เวียดนาม สหรัฐ เม็กซิโก และอินโดนีเซีย) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบขยายตัว 51.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ จีน เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และฮ่องกง)
อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 106.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย สหรัฐ เยอรมนี สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 16.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และมาเลเซีย) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบขยายตัว 32.8% ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ เวียดนาม ออสเตรเลีย อินเดีย และไต้หวัน)
เครื่องจักรกลและส่วนประกอบขยายตัว 21.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัว 24.8% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ สหรัฐ และเวียดนาม)
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัว 13.2% หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดอินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเมียนมา แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม และลาว) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 10.1% หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สาธารณรัฐเช็ก จีน และฮ่องกง แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐ เม็กซิโก สิงคโปร์ เมียนมา และไอร์แลนด์)
อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอดหดตัว 46.1% หดตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐ ฮ่องกง เกาหลีใต้ อินเดีย และเวียดนาม แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย) ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 17.1%
แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป
กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าการส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2568 จะยังคงมีทิศทางการเติบโตที่น่าพอใจ โดยได้รับแรงหนุนจากหลายปัจจัยสำคัญ ทั้งความเชื่อมั่นในภาคการผลิตที่มีแนวโน้มปรับตัวในเชิงบวก ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มคลี่คลายลง
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง อาทิ นโยบายการค้าของสหรัฐ และมาตรการตอบโต้จากประเทศต่าง ๆ ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนให้กับระบบการค้าโลก ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตสินค้าเกษตรของไทย ตลอดจนกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์
ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมวางแนวทางการดำเนินงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อรับมือกับสภาวการณ์ที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ