นายกฯไฟเขียวงบฯ 98 ล้าน สั่งกรมประมงเร่งปราบ “ปลาหมอคางดำ” เป้า 3 ล้าน กก.

นายกฯไฟเขียวงบฯ 98,457,100 บ. สั่งกรมประมงเร่งปราบ “ปลาหมอคางดำ” ตั้งรับซื้อเพิ่ม 3 ล้าน กก. เผยการฟ้องร้องอยู่ในขั้นตอนศาล ชี้สอบในกระทรวงยังไม่พบต้นตอระบาด

นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัญหาปลาหมอคางดำเป็นปัญหาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยได้ติดตามสถานการณ์และมอบหมายให้กรมประมงดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งการระบาดของปลาหมอคางดำได้ถูกกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีการกำหนดแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567-2570 ซึ่งมีวงเงิน 450 ล้านบาท และขอความร่วมมือจากหน่วยงานท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล รวมถึงกำนันและผู้ใหญ่บ้านให้ร่วมมือกันกำหนดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำจากเกษตรกรในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้ยังได้ขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทยในการดูแลเรื่องนี้ โดยอาจพิจารณาประกาศภัยพิบัติ ซึ่งจะเป็นขั้นตอนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่จะเข้ามามีบทบาทในการจัดการ สำหรับพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในบริเวณทะเลน้ำตื้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดำเนินการบูรณาการร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย

“คนนำปลาเข้ามา คนก็ต้องเป็นคนกำจัด คนไทยเรามีตั้ง 70 กว่าล้านคน มีคนรับผิดชอบตั้งเยอะแยะ เจียดงบประมาณมาช่วยกัน ภาระที่ทิ้งไว้กับกระทรวงเกษตรฯทำงานลำพังก็ค่อนข้างใหญ่“ นายอัครากล่าว

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รมช.เกษตรฯได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณากรอบหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2568

ADVERTISMENT

ซึ่งคณะทำงานชุดดังกล่าวได้มีการประชุม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กรมประมงดำเนินการนำข้อมูลวิชาการความชุกชุมของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ประกอบการประเมินและจัดทำเกณฑ์การพิจารณาความเสียหายของผู้ได้รับผลกระทบ สำหรับใช้ในการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ปลาหมอคางดำ) ของจังหวัด

ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวกรมประมงจะเสนอขอความเห็นชอบคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำและกรมบัญชีกลาง พร้อมแจ้ง ปภ.และจังหวัดต่อไป

ADVERTISMENT

ด้านนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ขณะนี้กรมประมงได้ดำเนินการขอใช้งบประมาณจำนวน 200 ล้านบาท จากสำนักงบประมาณ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวงเงิน 450 ล้านบาทที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติแล้ว

และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นถึงความเร่งด่วนของปัญหา จึงได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณ 98,457,100 บาท ให้กรมประมงอย่างเร่งด่วน เพื่อใช้จ่าย ดังนี้

  1. การรับซื้อปลาหมอคางดำทั้งธรรมชาติและบ่อเลี้ยง จำนวน 3 ล้านกิโลกรัม ในราคา 20 บาท/กิโลกรัม เป็นเงิน 60 ล้านบาท
  2. สนับสนุนกากชาเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่เพาะเลี้ยง 35,000 กิโลกรัม เป็นเงิน 10.5 ล้านบาท
  3. สนับสนุนปลานักล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง ปลาช่อน ปลากราย ฯลฯ เพื่อปล่อยลงในบ่อเลี้ยงที่กำจัดปลาหมอคางดำแล้วจำนวน 300,000 ตัว เป็นเงิน 3 ล้านบาท
  4. การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกไปใช้ประโยชน์ ผลิตน้ำหมักชีวภาพ จำนวน 3.2 ล้านลิตร และแปรรูปในรูปแบบต่าง ๆ เป็นเงิน 22 ล้านบาท
  5. สนับสนุนเครื่องมือทำการประมงเพื่อจับปลาหมอคางดำให้แก่เกษตรกรและชาวประมง พร้อมค่าดำเนินงานต่าง ๆ ประมาณ 3 ล้านบาท
บัญชา สุขแก้ว

ทั้งนี้ กรมประมงจะเร่งดำเนินการในการรับซื้อปลาหมอคางดำ โดยขณะนี้ได้กำหนดจุดรับซื้อไว้แล้วในเบื้องต้น 86 จุด และเตรียมประกาศรับสมัครจุดรับซื้อเพิ่มเติม ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้ในกรอบเวลาที่กำหนด หลังจากนั้นจะเร่งฟื้นฟูความหลากหลายและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศต่อไป

ส่วนกรณีที่เครือข่ายประชาชน 19 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลหาผู้กระทำความผิดเพื่อนำเงินมาชดเชยเยียวยา และทวงถามข้อเรียกร้อง 4 ข้อเกี่ยวกับการจัดการปลาหมอคางดำ ที่ได้ยื่นถึงรัฐบาลไปแล้วนั้น

เมื่อตุลาคม 2567 กระทรวงได้มอบหมายให้กรมประมงหาข้อเท็จจริงกับผู้ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดดังกล่าวและรายงานมายังกระทรวง ซึ่งจากรายงานในขณะนั้น ปลาชุดที่ระบาดในประเทศไทยและปลาที่เกิดขึ้นมีระยะเวลาที่ห่างกันกว่า 14 ปี (2553-2567) กรมประมงและกรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ประชุมร่วมกันเพื่อขอข้อมูลทางพันธุกรรมของปลาชุดเดียวกัน ตอนนี้อยู่ระหว่างรอข้อมูลชุดดังกล่าว

ขณะเดียวกันการดำเนินการสืบสวนก็ยังไม่พบความชัดเจนว่าปลาที่ระบาดมาจากแหล่งใด ประกอบกับเกษตรกรผู้เดือดร้อนได้รวมกลุ่มกันฟ้องร้องศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายจากผู้ประกอบการประมาณ 2,400 กว่าล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการยุติธรรม และมีเกษตรกรผู้เดือดร้อนได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง 2 คดีด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการไต่สวนสำนวนจากกรมประมง

ทั้งนี้กรมประมงมีข้อมูลทางพันธุกรรมต้นทางและข้อมูลเส้นทางที่ระบาดอยู่ในประเทศไทย แต่ข้อมูลที่ยืนยันว่าเป็นชุดเดียวกันหรือไม่นั้น ทางกรมประมงยังไม่มีข้อมูล ดังนั้นจึงได้ประสานสถานทูตประเทศกานา (ประเทศต้นทาง)

ขณะนี้มีการประชุมร่วมกันแล้ว แต่ทางต้นทางยังไม่ได้ส่งข้อมูลมาเพื่อดำเนินการต่อ จึงอยู่ระหว่างการประสานงานเพิ่มเติมอยู่ตลอด ส่วนการสอบสวนภายในกระทรวงเอง ยังไม่พบข้อมูลชัดเจนว่าผู้ใดก่อให้เกิดการแพร่กระจายของสัตว์น้ำ รวมถึงร่องรอยจากประเทศต้นทาง